คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
กิจวัตรประจำวันหลังจากทานอาหารกลางวันอย่างรวดเร็วในช่วงพักเที่ยง พวกเรารีบแบ่งข้างเล่นบอลในสนามหน้าตึกเรียนตามนัดหมาย จนกระดิ่งดังขึ้นเป็นสัญญาณเรียกเข้าแถวขึ้นชั้นเรียนในภาคบ่าย วันนั้นในปี 1966 ผมอายุแค่ 8 ขวบ มั้สเซ่อร์ คำที่เราเรียก ครู ซึ่งกร่อนมาจาก ม้าสเต้อร์ (Master) เห็นเสื้อผ้ามอมแมมเหงื่อโชกจึงเอ่ยปากถามว่าไปทำอะไรมา เมื่อได้ความว่าคลุกฝุ่นจากเกมลูกหนังอันหนักหน่วงนั่นเอง แกจึงพึมพำออกมาให้ได้ยินพร้อมกับเอ่ยชื่อนักเตะเรืองนามว่า “อ้อ ... อยากจะเป็น เปเล่ ละซี” นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ยินชื่อของ เอ๊ดซง อารานเท้ส ดู น้าสซีเมนตู (Edson Arantes do Nascimento) เจ้าของชื่อเล่น เปเล่ (Pelé) แช้มพ์ฟุตบอลโลก 2 สมัย ชาว บราซิว
ผลงานของนักเตะเจ้าของฉายา “โอ่ เฮ เปเล่” (O Rei Pelé) หรือ “เดอะ คิง เปเล่” (The King Pelé) ราชาลูกหนังที่ผมจำได้ก็คือ การทำประตูที่ 1,000 ในเกมที่ ซานตุ๊ช (Santos) ของเขาบุกไปเยือน ว้าสโก ดา กามา (Vasco da Gama) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1969 ที่ สนาม มารากานา (Maracanã) ใน ริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeiro) ซึ่งถูกใช้เป็นเป็นสนามเหย้าในยุคนั้น และแม้ว่า ซานตุ๊ช จะเป็นทีมเยือน แต่แฟนๆร่วม 80,000 คนในสนามต่างก็เชียร์ เปเล่ ให้ทำประตูที่ 1,000 ได้สำเร็จจากลูกโทษที่จุดโทษ ภายหลังทางการ บราซิว ผลิตสแตมป์ที่ระลึกการทำประตูที่ 1,000 นี้ออกจำหน่าย แต่ดันจับใส่ชุดทีมชาติบราซิว เสื้อสีเหลือง กางเกงสีฟ้าเข้ม แทนที่จะเป็นชุดขาวของ ซานตุ๊ช จำได้ว่าราคาขายในยุคนั้นดวงละ 10 บาท ทำเอาผมต้องเก็บเงินค่าขนมเกือบเดือนเหมือนกัน
แม้ว่าผมจะติดตามการแข่งขัน ฟุตบอลโลก หนแรกตั้งแต่ปี 1966 แต่ก็ได้แค่ข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น สำหรับการถ่ายทอดสดที่ได้ชมกับตาจริงๆก็คือ ฟุตบอลโลก 1970 ที่ เมฮีโก (México) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งยุคนั้นเริ่มมีการฉายภาพช้า (Slow motion) ให้ชมเป็นครั้งแรกด้วย เป็นปีที่ ทีมชาติบราซิว ได้แช้มพ์โลกเป็นหนที่ 3 และได้ถ้วย ชุล รีเม (Jules Rimet) เป็นกรรมสิทธิ์ นั่นทำให้ เปเล่ เป็นนักเตะคนเดียวในโลกที่คว้าแช้มพ์โลกถึง 3 สมัย นัดชิงชนะเลิศในปี 1970 บราซิว ถล่ม อิตาลี 4-1 นัดนั้น ตารชีซิโอ บูรนิช (Tarcisio Burgnich) แบ็คขวาที่ได้รับหน้าที่ประกบ เปเล่ ออกมาสารภาพว่า ก่อนเกมเขาเคยคิดว่า หมอนี่ก็แค่มีเนื้อมีหนังมีกระดูกเหมือนคนทั่วไปเท่านั้น แต่เขาคิดผิดแฮะ
ผมยังจำได้ดีว่า อีก 4 ปีต่อมา เจอรมานี ตะวันตก เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 10 ในปีนั้น ทางสถานีวิทยุ บีบีซี (British Broadcasting Corporation - BBC Radio) ของ อังกฤษ ที่กระจายเสียงไปทั่วโลกได้จัดรายการทำนายผลชิงรางวัลโดยให้แฟนบอลทั่วโลกทำนายผลนัดชิงชนะเลิศว่าทีมใดจะชนะทีมใด ด้วยสกอร์เท่าไร ส่งไปร่วมสนุกทางไปรษณียบัตร ซึ่งผมก็ทำนายได้อย่างถูกต้องว่า เจอรมานี ตะวันตก จะชนะ ฮอลแลนด์ 2-1 เด็กสมัยนั้นก็ฝันว่ารับรางวัลใหญ่แน่นอนแล้ว แต่ที่ไหนได้แฟนบอลจากทั่วโลกนับหมื่นนับแสนก็ทำนายผลได้อย่างถูกต้อง จึงมีการจับสลากหาผู้ได้รับรางวัลใหญ่เพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆรวมทั้งผมได้รับภาพขาว-ดำของ ราชาลูกหนัง เปเล่ เป็นรางวัลปลอบใจ
เปเล่ เป็นนักเตะคนเดียวในโลกที่คว้าแช้มพ์โลก 3 สมัย ตลอดชีวิตการค้าแข้งไม่เคยโกงใครในการแข่งขัน ไม่เห็นมีข่าวทะเลาะกับใครหรือทำเรื่องเสื่อมเสียใดๆ เขาดำรงตนอย่างดีเยี่ยม ไม่เคยเอาปืนยิงสื่อมวลชนด้วย และก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เขาเป็นนักเตะที่สมควรเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนทั่วโลก ซึ่งช่วงหนึ่งเมื่อ บราซิว ก่อตั้ง กระทรวงกีฬา เปเล่ ก็ได้รับเกียรติเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนี้เป็นคนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1995 จนถึงสิ้นปี 1998 วันนี้ นักเตะยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 20 ราชาลูกหนัง จากพวกเราไปแล้ว ผมในฐานะสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในสายกีฬาแค่ต้องการเขียนถึงความทรงจำของผมที่มีต่อสุดยอดนักเตะของโลกคนนี้ด้วยใจระลึกถึงครับ