คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
แค่จบรอบ 16 ทีม ยังเหลืออีกตั้ง 3 รอบ ตำแหน่งดาวซัลโว รางวัลรองเท้าทอง หรือ ซูลิเอ ดอร (Soulier d'or) ก็แทบจะต้องยกให้ คีเลียน อึมบั๊ปเป (Kylian Mbappé) ปีกความเร็วสูงแห่งทีมชาติ ฝรั่งเศส ไปได้เลย เพราะซัดไปแล้ว 5 ประตู นำห่างอันดับ 2 ถึง 2 ประตู ตามกฎถ้ายิงได้เท่ากัน เขาให้ดูจำนวนการผ่านบอลให้เพื่อนยิงประตู หรือ แอ๊สซิสท์ (Assist) ซึ่ง คีเลียน มีแล้ว 2 แอ๊สซิสท์ ใครยิงเท่าก็ยังเสียเปรียบ คงไม่ต้องถึงกับไปดูหลักเกณฑ์ถัดไปคือจำนวนนาทีในการลงเล่นน้อยกว่ากัน ในขณะที่ นักเตะยอดเยี่ยมในแต่ละนัด (Man of the Match) คีเลียน ก็รับไป 3 แล้ว ตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมประจำทอร์นาเม้นท์ รับรางวัล บัลลง ดอร (Ballon d’or) ก็ไม่น่าหลุดไปไหน
หลายคนถามผมว่า ทีมใดจะเป็นแช้มพ์บอลโลกปีนี้ คำตอบของผมคือ ฟุตบอลสมัยใหม่นั้นเข้ากดดันสูงและเร็ว ทีมที่จะประสบความสำเร็จนั้นนักเตะต้องมีทักษะเป็นเลิศ เล่น วันทัช ฟุตบอล (One-touch football) ได้ดี จ่ายบอลหรือยิงได้แม่นยำ เร็ว คล่อง และรีบจ่ายให้เพื่อนมีพื้นที่เล่นได้ด้วย ไม่ใช่จะส่งให้เมื่อตนเองจวนตัว ที่สำคัญ ความเร็วสูงของปีกยังเป็นองค์ประกอบล้ำค่าที่นำไปสู่ความสำเร็จ ถ้ากองหลังของคู่แข่งเอาไม่อยู่ จุดตายมันก็อยู่ตรงนี้ เห็นๆก็มีอยู่ 2 ทีม คีเลียน อึมบั๊ปเป ของ ฝรั่งเศส หรือ วีนีซิอุ๊ส ชูนิออร (Vinícius Júnior) ของ บราซิว แล้วใครล่ะจะเป็นแช้มพ์
สิ่งที่เปลี่ยนไปในบอลโลกหนนี้หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆแต่ผมยืนยันว่า มันมีนัยสำคัญทีเดียว นั่นคือ การชดเชยเวลาที่เสียไปในเกมตามแนวทางของ ปิแอรลุยจี ค็อลลีนา (Pierluigi Collina) ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินของ ฟีฟ่า ทำให้การใช้แท้คติคถ่วงเวลาจะไม่เป็นผลอีกต่อไป ไม่ว่าการเตะจากประตู การเตะฟรีคิค ลูกออก ลูกตาย การบาดเจ็บ การเปลี่ยนตัวผู้เล่น การฉลองการทำประตู หรือกลเม็ดอื่นใด แม้บางครั้งจะไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่ทุกวินาทีก็จะถูกบวกกลับเพิ่มเข้าไปเสมอ มันช่วยการันตี 90 นาทีของฟุตบอลคุณภาพให้แฟนบอลอย่างแท้จริง คงจะไม่มีการถ่วงเวลาอีกต่อไป คราวนี้ บราซิว จะแด๊นซ์กระจายเพื่อฉลองการทำประตูซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เอาเลย
การถ่ายทอดบอลโลกในเมืองไทยหนนี้กระจายหลายช่องเหลือเกิน ซึ่งมันมาพร้อมทีมงานผู้บรรยาย ดีบ้าง เห่ยบ้าง ยิ่งผู้บรรยายเก่าๆน่ารำคาญ ส่วนมากผมจึงไปชมทางโทรทัศน์ของฝรั่งมากกว่า เพราะให้ข้อมูลดี สุ้มเสียงก็มาตรฐานสากล เร้าใจและน่าฟัง อย่างไรก็ตาม เมื่อหมุนไปฟังผู้บรรยายของไทย ช่องจริงแท้แน่ทรู พบว่า เดี๋ยวนี้มีผู้บรรยายที่น่าฟังอยู่หลายคู่ ข้อมูล และสุ้มเสียง ได้เลย ทันเกมด้วย ยิ่งคู่ เจอรมานี กับ ก๊อสตา รีกา ใน รอบแบ่งกลุ่ม ที่มีผลขยับพลิกไปพลิกมากับทั้ง 4 ทีมในกลุ่มทุกวินาที ต้องได้ผู้บรรยายแบบ จารุวัฒน์ พริบไหว ที่จับคู่กับ ศรุต วิทูวินิจ ครับ
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังชิงชัง กาตาร เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22 (FIFA World Cup Qatar 2022) เรื่องบังคับแรงงานก่อสร้างต่างชาติทำงาน เรื่องโกงค่าจ้าง พวกนี้ต้องสังเวยชีวิตนับร้อยนับพันคน คำประณามสาปแช่งสารพัดที่ถ่มถุยประดังมา สิทธิ์การเป็นเจ้าภาพที่เอ็งได้มาก็ด้วยสินบน และอีกหลายเหตุผลนานัปการ แต่ผมก็ยังรู้สึกชื่นชมอาหรับชาตินี้ในด้านการจัดการแข่งขันที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดีและยังมีอีกเรื่องที่อาจไม่มีใครคิดถึง ...
พิธีการก่อนการแข่งขันของทุกๆนัด นักเตะทั้งสองทีมจะมาตั้งแถวเคารพเพลงชาติ เรื่องนี้เคยมีประเด็นกันแล้วไม่ว่าชาติใด เพลงชาตินะเว้ย ... เคารพกันหน่อย ร้องด้วยสิวะ ... ไอ้สัส ! แต่เชื่อมั้ยล่ะ ชาติอาหรับอย่าง กาตาร ที่มีกฎห้ามขายสุราในที่สาธารณะ ห้ามสตรีเปิดเผยเนื้อหนังในที่สาธารณะ ห้ามร่วมเพศในหมู่คนที่ไม่ใช่คู่สมรส ไม่ยอมรับพวก LGBTQ+ ด้วย ผมจะพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น กาตาร ค่อนข้างจะมีปัญหา แต่สำหรับการเชิญชวนให้ทุกคนยืนเคารพเพลงชาตินั้น เขาใช้วิธีพูดจาภาษาสวยทีเดียว
โฆษกสนามประกาศเป็นภาษาอังกฤษว่า “Ladies and gentlemen, please rise if you can for the national anthem of … ” หรือในบางสนามก็ประกาศว่า “Ladies and gentlemen, please rise if you are able for the national anthem of … ” มันแปลชัดๆว่า “ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ กรุณายืน ... ถ้าทำได้ ! เพื่อเคารพเพลงชาติ ... ” คือไม่ได้บังคับนะครับ ยืนได้ ... ยืน นั่นคือหากเอ็งไม่สะดวกก็ไม่ต้องยืน ผมว่านี่มันเป็นทัศนคติที่โลกของเราต้องการจริงๆในสภาวะเผด็จการบังคับขืนใจที่เราต้องเผชิญในปัจจุบัน