ตามที่ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ,การ์เลส โรมาโกซา ผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติไทย, ชนน์ชนก ชิดชอบ ผู้จัดการทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี และ มิลอส เวเลบิต หัวหน้าผู้ฝึกสอน รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ร่วมแถลงข่าวจับมือสร้างทีมชาติไทยรุ่นใหม่ ตั้งเป้า 3 ปี ขึ้น Top 10 เอเชีย
พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวว่า ตามที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดให้ สโมสรสมาชิกเสนอแผนงานเพื่อพัฒนากีฬาฟุตบอล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการยกระดับฟุตบอลทีมชาติไทย ทุกรุ่นอายุ ให้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
"สมาคมฯ ขอขอบคุณ ทุกสโมสรที่ให้ความสนใจ เสนอแผนงาน และเสนอตัวเข้ามา ซึ่งหลังจากที่ฝ่ายเทคนิคและทีมชาติไทย โดย การ์เลส โรมาโกซา ผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติไทย รับฟังแนวทางและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการนำทีมชาติไทยก้าวไปสู่เป้าหมาย จึงนำมาซึ่งความร่วมมือกับ สโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด"
“อย่างที่ทราบกันดีนักกีฬาในช่วงอายุวัย 18-20 เป็นช่วงสำคัญของนักฟุตบอลว่าจะก้าวขึ้น สู่นักเตะอาชีพได้หรือไม่ หรือ จะหายออกไปจากวงการ ดังนั้น การที่บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีความโดดเด่นในการควบคุมวินัยนักกีฬาที่เคร่งครัด ทั้งด้านฟิตเนส โภชนาการ การฝึกซ้อมอยู่แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้ทีมชาติไทย ก้าวสู่เป้าหมายคือการยกระดับมาตรฐานและผลการแข่งขันต่อไป”
"สมาคมฯ และ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำข้อตกลงร่วมกัน ที่จะสร้างทีมชาติไทย เพื่อเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเซีย ปี 2025 โดย มีเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของเอเซีย โดยมี ชนน์ชนก ชิดชอบ เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ชุดนี้ และ มิลอส เวเลบิต กุนซือชาวเซอร์เบีย เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน"
ทีมชาติไทย ชุดนี้ จะถูกสร้างขึ้นมา ด้วยแนวคิดการทำงานใหม่โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน คัดนักฟุตบอลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี (เกิดปี 2548) มาเก็บตัวฝึกซ้อมร่วมกันต่อเนื่อง 3 ปี เป้าหมายคือพาทีมชาติไทยลุยศึกฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี (U20) ในปี 2025
ทีมชาติไทยชุดนี้ มีคอนเซปต์สำคัญการสร้างทีมประกอบด้วย เสียสละ, มีจรรยาบรรณ, มีความรับผิดชอบ, ทัศนคติที่ดี, มีวินัย, สภาพจิตใจ, การทำงานหนัก และสามัคคี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้นักเตะไทยยกระดับและพัฒนาฝีเท้า
กระบวนการสำคัญคือมี 4 ขั้นตอนคือ
- CHANGE เปลี่ยนในเรื่องของการพัฒนาสภาพจิตใจ, สภาพร่างกาย และ เทคนิค
- KINGS OF ASEAN การนำทีมชาติไทยกลับสู่จุดที่ควรเป็น และสร้างความสุขให้แฟนบอล
- JUMP การก้าวไปข้างหน้า ด้วยมาตรฐาน เพื่อก้าวไปท้าทายชาติชั้นนำของเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้
- CONSISTENCY ความสม่ำเสมอคือกุญแจสำคัญ ในการพัฒนาวงการฟุตบอลในระยะยาว และก้าวไปเล่นในระดับโลกเพื่อเป็นบันไดต่อไปสำหรับนักเตะในอนาคต
โดยการเตรียมทีมจะมีการเปิดทดสอบฝีเท้านักกีฬา ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป นักกีฬาทั้งหมด จะมีการเก็บตัว ที่แคมป์ของสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมงานสตาฟฟ์โค้ช และได้รับการฝึกฝนทักษะฟุตบอล ในสภาพแวดล้อมที่พร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ระดับมาตรฐานสากล อาทิ สนามซ้อม, สนามแข่งขัน, ที่พักสำหรับเก็บตัว, ฟิตเนส, สระว่ายน้ำ และโภชนาการ รวมถึงระเบียบวินัยและการใช้ชีวิตทั้งในและนอกสนาม เป็นต้น
สำหรับ ทีมงานสตาฟฟ์โค้ชทีมชาติไทย ชุดนี้ ได้แก่ มิลอส เวเลบิต หัวหน้าผู้ฝึกสอน และ สโตยาน วาลาน หัวหน้าฟิตเนสโค้ช
ซึ่งคือแผนพัฒนานักเตะเยาวชนทีมชาติไทยชุดใหม่นี้ ใช้โมเดลคล้ายคลึงกับการ์ตูนดังญี่ปุ่นเรื่อง “บลูล็อก (Blue Lock)” แน่นอนว่าตรงกับกระแส เวิลด์ คัพ 2022 ที่ประเทศกาตาร์ นักเตะซามูไรสร้างประวัติศาสตร์ชนะทั้งแชมป์โลก เยอรมนี กับ สเปน คว้าแชมป์กลุ่ม ก่อนจะตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยการแพ้จุดโทษ โครเอเชีย
เราทราบกันดีว่า ญี่ปุ่น นั้นใช้การ์ตูนเป็นซอฟต์เพาเวอร์ชั้นดี ซึ่งมังงะและอนิเมะที่ชื่อว่า “บลูล็อก (Blue Lock)” เล่าถึงตอนที่แพ้ในศึกฟุตบอลโลก 2018 จอดป้ายรอบ 16 ทีมสุดท้าย ทำให้ สมาพันธ์ฟุตบอลญี่ปุ่น ไม่พอใจพร้อมครุ่นคิดหาทางทำอย่างไรถึงจะคว้าแชมป์โลก
ในเรื่องได้เสนอให้นำนักฟุตบอลเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 300 คนทั่วประเทศมาอยู่ในแคมป์ฝึกซึ่งมีชื่อว่า “บลูล็อก” โดยต้องหารหา “ศูนย์หน้า” หรือ “สไตรเกอร์” ที่เก่งที่สุดขึ้นมา ในการ์ตูนจะเขียนให้สนุกดุเดือดแค่ไหนก็ได้ แต่ชีวิตจริงนำมาใช้ได้แค่บางส่วนเท่านั้น
สุดท้ายนี้น่าตื่นเต้นเหลือเกินว่า “บลู ล็อก บุรีรัมย์” ที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วตามรอยญี่ปุ่น จะนำนักเตะทีมชาติไทยประสบความสำเร็จแค่ไหน...