xs
xsm
sm
md
lg

บอลโลก 2022 บันทึกความอับเฉาทั้งเขาและเรา / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เริ่มเปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22 ที่ประเทศ กาตาร (Qatar 2022) ในเวอร์เชิ่นอาหรับ ถ้านับย้อนกลับไปตั้งแต่หนแรกที่ผมได้ชมการถ่ายทอดสดทางหน้าจอโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 1970 นี่ก็นับว่าเป็นครั้งที่ 14 แล้ว ก็บอกแล้วไงว่า ยังไงแฟนบอลก็ต้องได้ดูการถ่ายทอดสดบอลโลกหนนี้ทุกคู่ฟรีๆ เพียงแต่มีการดึงเช็งให้เกิดดราม่าเล็กๆ นั่นก็เพราะว่าตามบทภาพยนตร์ที่ผู้กำกับสั่งให้แก้ไขนั้น มันต้องมีพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติ มันจะเสียของ ไม่ได้โชว์พาว เอาเข้าจริงๆชื่อที่โผล่ออกมาทั้งลุงและป้าที่มีส่วนช่วยนั้น ล้วนถูกยัดเข้ามาทั้งสิ้น อันนี้ คอลัมนิสท์ที่จำต้องนำชื่อมากล่าวยกย่องเชิดชูในบทความของตนและตีพิมพ์ลงในอีกค่ายตามที่ลูกพี่สั่งมาได้กล่าวยอมรับกับผมเอง เพราะบรรดาสื่อมวลชนย่อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกันครับ

การบริหารจัดการของ กาตาร นั้นห่วยจริง ทั้งๆที่เอ็งได้ทราบการลงมติให้เป็นเจ้าภาพตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2010 นั่นมัน 12 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต้องให้มีเสียงดังรบกวนโสตประสาท ห้องพักในหมู่บ้านที่รองรับแฟนบอล ราคาคืนละตั้ง 175 พาวน์ดส ไหงกลายเป็นแค่กระโจมง่อยๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีแค่พัดลมโง่ๆ ไม่มีร้านค้า น้ำดื่ม สิ่งอำนวยความสะดวกแบบโรงแรมทั่วไป นอกจากนั้น แฟนบอลที่ซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขันทางออนลายน์ก็ต้องเสียเวลาไปกับการรอคิวนานมาก หลายคนนั้นตั๋วหายจากแอ๊พพลีเคเชิ่นดื้อๆ กว่าจะได้เข้าสนามเกมก็เริ่มไปตั้งนานแล้ว ทั้งๆที่มาถึงสนามล่วงหน้า 2 ชั่วโมงกว่า

ในปัจจุบัน กาตาร กลายเป็นโรคกลัวสีรุ้งมาก เนื่องจากไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) รักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็ร่วมกันทำสัญลักษณ์หัวใจสีรุ้งออกมาในรูปปลอกแขนกัปตันทีม วัน ลั้ฟ (One Love) ซึ่งกำหนดจะสวมโดยกัปตันทีม 7 ชาติ แต่ต้องโดนเบรคจาก ฟีฟ่า ซะก่อนด้วยการขู่ให้ใบเหลือง นอกจากนั้น นักข่าวชาวอเมริกาที่สวมเสื้อมีสีรุ้งยังโดนกักตัวไม่ให้เข้าสนามเป็นเวลานาน ซึ่งภายหลังทาง ฟีฟ่า ต้องรีบเข้าไปขอโทษ แถมยังอ้างว่า “ใส่เสื้ออย่างนี้ ผมกลัวพี่จะโดนเขากระทืบครับ”

เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นมีเหตุร้ายเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ใน อีหร่าน โดยหญิงคนหนึ่งละเมิดกฎการสวม ฮีญ้าบ (حجاب) ซึ่งเป็นผ้าคลุมที่ผู้หญิงมุสลิมต้องสวมใส่เมื่อไปอยู่ในบริเวณของผู้ชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของตน เธอโดนจับแล้วก็เกิดเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย จนเกิดการประท้วงไปทั่วซึ่งถูกปราบปรามจากรัฐบาล เรื่องนี้ลุกลามมาถึงฟุตบอลโลกเมื่อ อีหร่าน เจอกับ อังกฤษ นักเตะทีมชาติ อีหร่าน ประท้วงด้วยการปฏิเสธการร้องเพลงชาติ ในขณะเดียวกัน แฟนบอลก็ช่วยกันชูป้าย Woman, Life, Freedom และตะโกนประท้วงด้วย ทำแบบนี้ พวกเขาไม่ได้ชังชาตินะครับ แต่ชังผู้บริหารประเทศ มันห้ามการแสดงออกเรื่องการเมืองไม่ได้หรอกครับ

กลับมาทางบ้านเรา เรื่องการถ่ายทอดบอลโลกให้แฟนๆได้ชมกันนั้น มันก็ส่งกลิ่นเหม็นโชยมา โดยมีการจัดสรรที่เอื้อประโยชน์ให้ ค่ายจ่อซัว อย่างน่าเกลียดมาก ซึ่งเขาจ่ายเพียง 300 ล้านบาท จากค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 1,400 ล้านบาท แต่ดันได้สิทธิ์ถ่ายทอดตั้ง 32 เกม ครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 64 เกม แถมยังได้เลือกหยิบชิ้นปลามันไปก่อนอีกด้วย เหลือ “แม็ทช์ขี้ๆ” ให้ช่องอื่นๆไปแบ่งกัน ทำเอา นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดีจีต้อล ต้องยื่นหนังสือทวงความยุติธรรมไปทาง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกร้องให้จัดสรรใหม่อย่างเป็นธรรม เพราะการที่ กกท. ได้รับเงินสนับสนุน 600 ล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มันก็เป็นเงินที่ได้มาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ก็ต้องถือว่าผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ก็ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน

ล่าสุด กสทช. หาข้อสรุปได้แล้ว นั่นคือนำเอาโควต้าถ่ายทอดสด บอลโลก 2022 ตั้งแต่รอบ น้อค-เอ๊าท์ 16 ทีม มาจัดสรรกันใหม่ อันนี้ ค่ายจ่อซัว และ ทีวีดีจีต้อล ต่างก็ยินยอมแล้ว อย่างไรก็ตาม อันนี้แค่หมายถึงให้ ทีวีดีจีต้อล ถ่ายทอดแบบคู่ขนานไปพร้อมๆกับ ช่องของจ่อซัว มันก็ยังดีที่แฟนบอลจะได้ดูกันอย่างหลากหลายและบางวันไปถ่ายช่องความคมชัดสูงบ้างโดยไม่ต้องโดนมัดมือให้ชมชัดทางกล่องอย่างเดียวเท่านั้น ประเทศไทยของเรา ถ้าสื่อมวลชนช่วยกันขุดเรื่องอับเฉา ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น