คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
นับถอยหลังอีกไม่ถึง 4 วัน ศึกฟุตบอลโลก 2022 กำลังจะเปิดฉากขึ้น วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ความเคลื่อนไหวด้านการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของประเทศไทย ทำท่าจะล้มเหลวสู้ราคาระดับพันล้านบาทไม่ไหว นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ผมเกิดมาเกือบ 40 ปี แล้วไม่ได้รับชมการแข่งขันทางโทรทัศน์ และหวังว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นวินาทีสุดท้าย ก่อน กาตาร์ กับ เอกวาดอร์ เขี่ยบอล
ปี 2022 กลายเป็นปีที่ชอกช้ำสำหรับแฟนๆ ที่ติดตามกีฬาหลายประเภท เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม ศึกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) ไม่สามารถหาชมบนหน้าจอเหมือนซีซันก่อน เห็นแค่เพียงผู้ทำเพจบน โซเชียล มีเดีย แจกโค้ดให้รับชมฟรีผ่านแอพพลิเคชัน NBA League Pass ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีของผู้บริโภค เนื่องจากคุณจะเลือกชมคู่ไหนก็ได้ แล้วแต่ว่าคุณจะเชียร์ทีมไหนเป็นพิเศษ ดีกว่าการชมบนหน้าจอที่เจ้าของลิขสิทธิ์อาจมีข้อจำกัดด้านการเลือกเกมถ่ายทอดสด
พิจารณาถึงสาเหตุที่เราไม่ได้รับชม NBA ทางโทรทัศน์ มันพอเข้าใจถึงหัวอกเจ้าของลิขสิทธิ์ หากลองย้อนดูตัวเองสมัยเริ่มดูบาสเกตบอลของ สหรัฐอเมริกา ใหม่ๆ สมัยผมยังนุ่งขาสั้นและหัวเกรียน มักจะมีโอกาสรับชมวันเสาร์หรืออาทิตย์เสียส่วนมาก ตามวิถีชีวิตของเด็กทั่วไป ซึ่งมักตื่นเช้ากว่าปกติ โดยไม่ต้องมีใครมาแซะออกจากที่นอนในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือนักขัตฤกษ์ แต่ถ้าเป็นวันธรรมดา นี่ลืมไปได้เลยครับ ต้องดูรีรันช่วงหัวค่ำสถานเดียว
เช่นเดียวกับ อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) ยิ่งถ้าเข้าฤดูหนาว เวลาคิกออฟจะดีเลย์ 1 ชั่วโมง อย่างน้อยเรายังตื่นทันช่วงท้ายเกมคู่เช้ามืดวันจันทร์ของแต่ละสัปดาห์ ถึงจะไปโรงเรียนสายเล็กน้อย แต่ถ้ารอดถูกอาจารย์ยืนดักหน้าประตูก็ไม่เป็นไร อิอิอิ สรุปคือ เวลาของการถ่ายทอดสดกีฬาอาชีพฝั่ง สหรัฐอเมริกา ส่วนมากจะตรงกับเวลาเช้าของประเทศไทย ซึ่งแต่ละท่านล้วนติดภารกิจทั้งรีบไปทำงาน หรือไปเรียนหนังสือ จึงน่าจะส่งผลกระทบต่อเรตติง ตามความเห็นส่วนตัว
หากคุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อลงทุนแพงแล้วผลลัพธ์ต่ำกว่าความคาดหวัง สู้กำเงินไว้แน่นๆ ไปทุ่มกับคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมหรือผลตอบรับสูงจะดีกว่า คราวนี้กลับมาเปรียบเทียบกับ ฟุตบอลโลก ซึ่งอยู่ภายใต้กฎ “Must Have” ตามหน่วยงานแห่งหนึ่งกำหนดไว้ เงื่อนไขนี้กลายเป็นข้อจำกัด ทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุน เพราะคุณซื้อมาแล้วต้องเปิดให้ทุกคนเข้าถึงคอนเทนต์แบบฟรีๆ ผลตอบรับจะคุ้มทุนหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบ
ปัจจัยต่อมา ฟุตบอลโลก เป็นอีเวนท์ 4 ปี/ครั้ง หมายถึงการลงทุนราคาแพง แต่มีเวลากอบโกยประมาณ 1 เดือน จบแล้วก็จบกัน หวังผลระยะยาวเหมือนฟุตบอลลีกดังๆ ของยุโรปซึ่งแข่งขันกันทุกปีไม่ได้ ดังนั้นการจัดหาคอนเทนต์ ฟุตบอลโลก จึงตกมาอยู่กับทีวีของรัฐแทน หากรัฐทำไม่ได้ ประชาชนก็อดดูกันไป หรือดิ้นรนหาช่องทางธรรมชาติรับชมเอาเอง
เข้าสู่ระยะเวลาไฟลนก้น การซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก ดูเหมือนจะล้มเหลว เนื่องจากงบประมาณภาครัฐไม่เพียงพอ จึงมีการปลดคอนเทนต์ ฟุตบอลโลก ออกจากกฎ Must have แต่นั่นใช่หนทางแก้ปัญหาคนไทยไม่ได้ดู ฟุตบอลโลก ได้จริงหรือ? ขอเรียนตามความเห็นส่วนตัว กฎ Must have เปรียบเสมือนบ่วงที่รัดคอทีวีของรัฐ พอทำไม่ได้ก็ถอดออกสิ จะได้ไม่ต้องแบกภาระทุกๆ 4 ปี ง่ายจะตาย และไม่น่าจะมีสาเหตุใดๆ ที่ลึกซึ้งกว่านั้น
ตามตัวเลขลิขสิทธิ์ ฟุตบอลโลก 2022 ราคาสูงกว่าพันล้านบาท ครั้งถัดไป ที่ประเทศแคนาดา, เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา จะเป็นครั้งแรกที่เพิ่มโควตาทีมเข้าร่วมจาก 32 เป็น 48 ทีม แน่นอนว่า มูลค่าลิขสิทธิ์ย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนแมตช์การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ราคาลิขสิทธิ์น่าจะมากกว่าเดิมเป็น 2-3 พันล้านบาท แม้ไม่มีกฎ Must have ก็ไม่ใช่ว่าเป็นตัวเลขที่เอกชนจะลงทุนได้ง่ายๆ แต่ถ้ามองแง่บวก หากการเจรจาเป็นแบบ เอกชน กับ เอกชน น่าจะมีความประนีประนอมมากกว่า เอกชน กับ รัฐบาล แต่ราคาซื้อ-ขายก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก
สถานการณ์ปัจจุบัน แฟนๆ บาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) ที่เกิดความต้องการดูเกมถ่ายทอดสดจนต้านทานไม่ไหว อาจยอมควักเงินสมัคร NBA League Pass เรียบร้อยแล้ว บทเรียนสำหรับโอกาสพลาดชม ฟุตบอลโลก 2022 ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เหล่าคอบอลทราบว่า อย่าหวังของฟรีจากหน่วยงานใดๆ อีก มวยหยุดโลก คุณยังต้องจ่ายเพื่อรับชม แล้วถ้าอยากดู ฟุตบอลโลก อาจถึงเวลาที่คุณต้องจ่ายเช่นกัน