xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา “FSG” ต้องลงทุน / MVP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

วันนี้ (2 พ.ย.) น่าจะเป็นเช้าวันใหม่อันสดใสของเหล่าสาวก “เดอะ ค็อป” หลัง ลิเวอร์พูล ตอบสนองต่อความปราชัย 2 เกมรวดแก่ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และ ลีดส์ ยูไนเต็ด 2 ทีมท้ายตารางของ พรีเมียร์ ลีก ด้วยชัยชนะเหนือ นาโปลี จ่าฝูง กัลโช เซเรีย อา ที่กำลังร้อนแรง 2-0 ปิดฉากศึกยูฟา แชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ถึงแม้ตามความเห็นของผม และแฟนๆ ส่วนมาก อยากให้ เจอร์เกน คล็อปป์ ปล่อยจอย เพื่อเก็บแรงไว้สำหรับเกมเยือน ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ มากกว่า

พิจารณามุมมองของโค้ช สาเหตุที่ไม่ยอมพักตัวน่าจะเกิดจาก “หงส์แดง” เพิ่งผ่านเกมแย่ๆ มา 2 นัด จึงต้องส่ง 11 ผู้เล่นดีสุดลงสนาม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อนักเตะ และความต่อเนื่อง คล้ายๆ กับวิธีการของ เอริก เทน ฮาก กุนซือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งเจอคู่แข่งวรรณะต่ำกว่าอย่าง เชอริฟฟ์ ทิราสโปล หรือ โอโมเนีย นิโคเซีย แล้วยังคงตัวหลักไว้ ด้วยเหตุผลด้านทีมเวิร์ก หรือความเข้าขารู้ใจ เนื่องจากนักเตะที่เล่นด้วยกันบ่อยๆ การประสานงานจะยิ่งลงตัวมากขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่ง สเปอร์ส ก็ยังต้องจัดเต็มในนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม หากวัดเรื่องพละกำลังอาจไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก

ตามควันหลง ทีมย่านเมอร์ซีย์ไซด์ แพ้เกมที่ไม่น่าแพ้ ด้วยปัญหาต่างๆ นานา ตัวผู้เล่นฟอร์มตกและได้รับบาดเจ็บ ทำให้อยู่ห่างพื้นที่ แชมเปียนส์ ลีก (ท็อป 4) 8 แต้ม และจ่าฝูง อาร์เซนอล 15 แต้ม จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของแฟนๆ บางส่วนถึง “เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (FSG)” กลุ่มนายทุนชาวอเมริกัน และติดแฮชแท็ก #FSGOut ทางโซเชียล มีเดีย ข้อหาไม่ยอมทุ่มเงินเสริมทีม

จริงๆ ผมเองไม่ใช่ลูกจ้าง และไม่เคยรับเงินเดือนของ FSG ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องมาปกป้อง สายตาแฟนบอลจำนวนไม่น้อย มักมอง กลุ่มทุนอเมริกัน แง่ลบ หากคุณมีภาพจำเกี่ยวกับการบริหารจัดการล้มเหลวของ ตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส หรือ ตระกูลโกรเอนเก เจ้าของ อาร์เซนอล ด้านความเค็มจนมหาสมุทรเรียกพ่อ เป็นเหตุให้ทีมจมอยู่กับความตกต่ำ กระทั่งยอมทุ่มเงินสนับสนุน มิเกล อาร์เตตา ตลอด 2 ซัมเมอร์ที่ผ่านมา

ตามข้อมูลเว็บไซต์ “Transfermarkt” ผลต่างระหว่างรายรับ-รายจ่ายของ ลิเวอร์พูล ติดลบอยู่ประมาณ 12.5 ล้านปอนด์ (ราคาซื้อมากกว่าราคาขาย) และพิจารณาตลอด 4 ซีซันล่าสุด ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 94 ล้านปอนด์ หากคุณลองเปรียบเทียบสโมสรระดับ “บิ๊ก ซิกซ์” จะเห็นว่า นับตั้งแต่ฤดูกาล 2019-20 แมนฯ ซิตี มีรายจ่ายสุทธิ 199.5 ล้านปอนด์, เชลซี 268 ล้านปอนด์, อาร์เซนอล 375 ล้านปอนด์, แมนฯ ยูไนเต็ด 501 ล้านปอนด์ และ สเปอร์ส 336 ล้านปอนด์

ด้วยนโยบายของสโมสร ผู้สื่อข่าวหรือบุคคลภายนอก มิอาจล่วงรู้ว่า ผู้บริหาร, ผู้อำนวยการฟุตบอล (DOF) และ ผู้จัดการทีม หารือกันว่าอย่างไร แต่สิ่งที่แฟนๆ ลิเวอร์พูล เห็นมานาน คือ FSG ใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง และค่าตัวนักบอลต้องสมเหตุสมผล ดังนั้นการใช้-จ่ายแต่ละรอบของการซื้อ-ขาย มักเป็นการเติมส่วนที่ขาด มากกว่ามุ่งเน้นด้านต่อยอดทีม หรือต้องมีแชมป์ติดมือทุกซีซัน

หากเรามองมุมผู้บริหาร จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า FSG บรรลุเป้าหมายสูงสุด ในการทำทีม ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีก หลังรอคอยมานาน 30 ปี จึงไม่ได้มีการอุดรอยต่อของการถ่ายเลือดนักเตะเหมือนอย่าง แมนฯ ซิตี ที่มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้า หรือมุมผู้จัดการทีม คล็อปป์ ไม่ใช่กุนซือที่เปลี่ยนแปลง 11 ตัวจริง หรือหมุนเวียนนักเตะบ่อยนัก จึงต้องการรักษาทีมชุดเดิมๆ ไว้ เนื่องจากมีความเข้าใจเกม และเล่นตามแท็กติกของตนได้อยู่แล้ว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นไปได้ทั้งหมด

ดังนั้นความน้อยเนื้อต่ำใจของเหล่า “เด็กหงส์” น่าจะเกิดจากการเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวบนตลาดนักเตะกับคู่แข่ง ช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา แมนฯ ยูไนเต็ด กว่าจะได้นักเตะแต่ละคนต้องรอจนตลาดแทบวาย เปิดซีซัน 2 เกมแรก ก็แพ้แบบน่าเกลียด บอร์ดบริหารจึงถูกแฟนๆ กดดันว่าต้องทุ่มเงินกระทั่งได้ คาเซมิโร มิดฟิลด์ รีล มาดริด แบบเหนือความคาดหมาย และ แอนโทนี ปีกบราซิเลียน จนรายจ่ายรวมทะลุ 200 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับ เชลซี ซึ่งมี ท็อดด์ โบห์ลี เจ้าของคนใหม่ เข้ามาเทกโอเวอร์ จึงทุ่มเงินเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มาทำทีมแบบเล่นๆ

ซีซันนี้ คล็อปป์ มองเห็นปัญหาตรงแดนกลาง ดังบทสัมภาษณ์ไว้เมื่อตอนซัมเมอร์ว่า ผู้สื่อข่าวและนักวิจารณ์พูดถูกแล้ว เขาผิดเองที่ไม่เสริมมิดฟิลด์ บวกกับผลงานของทีมค่อนข้างกระท่อนกระแท่น เท่ากับว่าถึงเวลาที่ FSG ต้องลงทุนอีกครั้งสำหรับการสร้างทีมใหม่ เหมือนสมัยพวกเขาดึง เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ก, อลิสสัน เบ็คเกอร์, ฟาบินโญ และ นาบี เกตา ฤดูกาล 2019-20 ถ้ายังทำแบบเดิมๆ มันอาจส่งผลถึงขั้น คล็อปป์ กระเด็นจากตำแหน่งผู้จัดการทีม แล้วยุคมืดจะครอบงำสโมสรอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น