xs
xsm
sm
md
lg

"ตุ้ม-ปริญญา" โปรโมเตอร์ป้ายแดง เปิดเวทีเพื่อนักมวยเพศทางเลือก (คลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"น้องตุ้ม" ปริญญา เจริญผล แจ้งเกิดในวงการมวยไทยด้วยการเป็นสาวประเภทสองที่เอาชนะนักมวยชายแท้ อย่าง โอเว่น ส.บุญญา ในการชกที่เวทีมวยลุมพินี ตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

หลังเอาชนะคู่แข่งในไฟต์ดังกล่าวแสงสปอตไลท์ก็ส่องมาหาเธอไม่หยุดหย่อน ได้ขึ้นชกหลังจากนั้นอีกหลายไฟต์ มีสินค้า โฆษณา จ้างเธอไปเล่นกันอย่างคึกคัก สร้างรายได้ให้แก่เธอเป็นอย่างมาก จนเธอได้เงินก้อนหนึ่งไปผ่าตัดแปลงเพศสมใจอยาก

เรื่องราวของเธอยังถูกหยิบยกมาสร้างเป็นภาพยนต์เรื่อง "บิวตี้ฟูล บ็อกเซอร์" กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สาวประเภทสองที่อยากจะเป็นนักมวย เริ่มต้นใส่นวมและฝึกซ้อมเพื่อไต่เต้าขึ้นมาโชว์ลีลาบนสังเวียนผ้าใบ



พาบรรดานักมวยยในสังกัดออกงานโชว์ตัว
กาลเวลาหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ปัจจุบัน "น้องตุ้ม" ในวัย 41 ปี ผันตัวมาเป็นครูสอนมวยไทยแบบจริงจัง เปิดค่ายมวยของตัวเองที่ชื่อว่า น้องตุ้มมวยไทยยิม ตั้งอยู่แถวบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาเรียนมวยกับเธออย่างคึกคัก ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งหญิง-ชาย และ LGBT

ส่วน LGBT นั้นมาจาก L = Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง G = Gay กลุ่มชายรักชาย B = Bisexual กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง T = Transgender กลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย นั่นเอง

ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยแบบเปิดใจกับ "ตุ้ม-ปริญญา" ที่เปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของเธอทั้งบทบาทของการเป็นครูมวยไทย และไลฟ์สไตล์ ณ ปัจจุบันในเวลานี้

เพลิงอารมณ์ ส.บูรณ์ชัย เดินตามรอย ตุ้ม-ปริญญา
"ในอดีตขึ้นสังเวียนชกมวยกับผู้ชายมา 60 กว่าไฟต์ แพ้ให้คู่แข่งไม่ถึง 10 ครั้ง แต่ต้องบอกว่าเราก็เลิกชกมวยเร็วเพราะอะไรหลายอย่าง ช่วงแรก ๆ จะชนะน็อคบ่อย พอหลัง ๆ ก็มีชนะคะแนนหรือแพ้บ้าง เสมอบ้าง" ตุ้ม-ปริญญา เริ่มกล่าว

"สมัยก่อนตอนอยู่บนเวทีเราไม่ได้คิดหรอกว่าเราเป็น LGBT แล้วก็ไม่ได้คิดว่าเราแตกต่างกว่าคนอื่น เราคิดแค่ว่าเราอยากชนะ เรากระหายในชัยชนะ ลืมไปชั่วขณะว่าเราเป็นเพศอะไร เราแค่ชกให้เต็มที่ เรามีสมอง มีสองมือสองเท้าเหมือนคนอื่น มันขึ้นอยู่กับว่าใจใครจะแกร่งมากกว่ากัน และฟิตมากกว่ากัน"

สำหรับจุดกำเนิดของค่ายมวยน้องตุ้มมวยไทยยิม เธอเล่าว่าเป็นความฝันเล็ก ๆ ของนักมวยหลายคน เมื่อเลิกมวยไปแล้วก็อยากจะมีค่ายมวยเป็นของตัวเอง เพราะถือสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่รักและถนัด

รอดูผลงาน “น้องตุ้ม” วันที่ 29 ตุลาคมนี้
"ก่อนหน้านี้เราทำงานอยู่ที่ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์ แต่เขาก็ย้ายไปอยู่ที่พัทยา เราจึงตั้งใจเช่าที่เอาไว้แค่ออกกำลังกาย เพราะเรายังคิดถึงมวยไทยอยู่ แต่พอเปิดมาได้สักพักก็เริ่มสอนตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็มีลูกศิษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงแรก ๆ ก็มีทำมวยอาชีพเหมือนกันแต่ต้องบอกตรง ๆ ว่านักชก LGBT หายากมาก ๆ กล้าพูดได้เลยว่าในโลกนี้มีไม่ถึง 10 คน"

"เพราะฉะนั้นเวลามีนักชก LGBT ขึ้นมาแต่ละคน เราก็อยากจะให้กำลังใจเขา เพราะอย่างน้อยเขาอาจเห็นเราเป็นไอดอล หรือเป็นแรงบันดาลใจ ต่อให้เขาอยู่ค่ายไหนก็ตามเราก็จะคอยเป็นกำลังใจให้เขา ไปเชียร์ ไปซัพพอร์ตเขาตลอด"

ปัจจุบันเธอได้ผันตัวมาเป็นโปรโมเตอร์ร่วมกับ "ป๋อง" สายัณห์ จันทร์ศิริ ผู้คร่ำหวอดในวงการมวยมาอย่างยาวนาน จึงได้ชักชวนไอดอลนักชกสาวสองรายนี้ ให้มาช่วยกันประกบคู่มวยในเวทีลุมพินี รวมถึงเพิ่มเติมสีสันต่าง ๆ ช่วยผลักดันนักชก LGBT ในประเทศไทยให้ขึ้นมามีบทบาทบนเวทีมากขึ้น

นักชก LGBT ลูกศิษย์ของ ตุ้ม-ปริญญา
"นักชก LGBT บางคนก็กินยาคุมเพื่อปรับฮอร์โมน บางคนดูสวยละมุนกว่าเราอีก จริงๆก็เป็นห่วงนะ ตอนนั้นเราเคยไปที่เชียงใหม่กับนักชกคนหนึ่ง เราก็บอกว่าหนูต้องเลือกทางใดทางหนึ่งก่อน ถ้าจะมาทางมวยก็ต้องมวยก่อน ต้องเพิ่มกล้ามเนื้อ ต้องหยุดปรับฮอร์โมนก่อน แต่วันใดที่หนูประสบความสำเร็จทางมวยไทยแล้ว หนูค่อยสวย ค่อยจัดเต็ม หนูจะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้ามาทางมวยหนูต้องอยู่ในกฎระเบียบ มีวินัย ซ้อมอย่างเคร่งครัด และต้องซ้อมโดยไม่มีข้อแม้ว่าฉันเป็นหญิง ฉันเป็นชาย หรือเป็น LGBT เพราะต้องซ้อมให้เหมือนกับทุกคน"

"ตอนนี้ที่กำลังผลักดันสุดๆ ก็คือ เพลิงอารมณ์ ส.บูรณ์ชัย และก็มีคนที่กำลังจับตามองอยู่ กำลังเป็นม้ามืด น่าจะเป็นเพชรนารี เราดูว่าอาวุธเขาหนัก เป็นมวยที่ค่อนข้างดุดัน ซึ่งตอนนี้ก็กำลังมีคนอื่นไต่เต้าขึ้นมา แต่บอกเลยว่าไม่ง่ายสำหรับนักชกในกลุ่มนี้"

หลังจากที่เธอได้มีโอกาสทำค่ายมวยของตัวเองมาราว 10 ปี ก็ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการนี้มามากพอสมควร ซึ่ง "ตุ้ม-ปริญญา" ก็อยากฝากอะไรหลายๆ อย่าง ไปถึงนักมวยดาวรุ่งที่กำลังขึ้นมาในปัจจุบัน

ตุ้ม-ปริญญา สมัยขึ้นชกเวทีลุมพินี
"หน้าที่ของค่ายมวยทุกค่ายมีหน้าที่ในการมอบวิชาความรู้ และผลักดันเด็กๆ ส่งเสริมพวกเขาส่วนว่าจะไปได้ถึงไหนมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเอง ที่ผ่านมาตุ้มก็เคยทำมวยอาชีพ พอกำลังจะไปได้ดีเด็กก็เริ่มมีแฟนบ้าง เกเรบ้าง ติดเพื่อนบ้าง คนทำมวยด้วยกันจะรู้ดี เอาเป็นว่าเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ส่วนเด็กก็ทำหน้าที่ของเขาให้ดีที่สุด ส่วนจะไปไกลแค่ไหนก็อยู่ที่พวกเขา"

"ทั้งหมดนี้ก็คือความฝันเล็กๆ ของตุ้ม นกน้อยทำรังแต่พอตัวก็พอแล้ว แต่อีกหนึ่งความฝันที่อยากจะทำได้จริงๆ คือการจัดการแข่งขันมวยไทยสำหรับสาวประเภทสอง เป็นศึกที่มีนักชก LGBT มาชกกันเยอะที่สุดในประเทศไทย และอยากจะนำนักชกเหล่านี้บินข้ามประเทศไปปะทะกับนักชกชาติอื่น ๆ เพื่อสานสัมพันธ์กีฬามวยไทย อันนั้นคือความฝันสูงสุด" อดีตนักชกชื่อดังกล่าวปิดท้าย

และนี่ก็คือความตั้งใจของ "น้องตุ้ม" ปริญญา เจริญผล ในเส้นทาง ณ ปัจจุบันที่เธอกำลังเดินอยู่ แน่นอนว่าความฝันอันสูงสุดของเธอกับการจัดมวยของสาวประเภทสองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างน้อยเธอก็อยากจะเป็นแรงผลักดันให้บรรดากำปั้นเหล่านั้น ก้าวขึ้นมามุ่งมั่น และจริงจังกับการชกมวยไทยอาชีพ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเธอเคยได้วาดลวดลายเอาไว้นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น