คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“หมู่นี้ไอ้เก่งมันเป็นยังไงไม่รู้ ฟอร์มตก!ตีเหมือนเด็กหัดใหม่?” คุณชูสง่า หัวหน้าก๊วนเปรยกับพี่หมอ “ใช่ครับ...จิตมันตก เสพแต่ข่าวลบจนเป็นโรค “Headline Stress Disorder” โรคที่ทันสมัยที่สุด กำลังระบาดในช่วงนี้” พี่หมอไขปริศนา “โรคอะไรนะหมอ? ติดต่อไหม” “ไม่หรอกครับเฮีย มันเป็นโรคซึมเศร้า เพราะติดตามข่าวหดหู่ทั้งวัน เลยเครียดโดยไม่รู้ตัว ทำให้เสียการเสียงาน ฟอร์มตก เสียเงิน””
จิตแพทย์เตือน เสพข่าวหดหู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อภาวะ Headline Stress Disorder กระทบทั้งร่างกายและจิตใจ
ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช ม.มหิดล ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากการติดตามข่าวสารต่อเนื่องเป็นเวลานานว่าอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพจิต โดยอาจเกิดอาการใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล โกรธ ซึมเศร้า ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรค ความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า
กลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะ Headline Stress Disorder มีดังนี้
- คนที่อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียนอยู่ก่อน อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ก็จะยิ่งเครียดได้ง่าย
- คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ จะรับรู้ทั้งข่าวจริงและปลอมดีและร้าย
- คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจจะด้อยด้วยวุฒิภาวะหรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย
คำแนะนำในการจัดการความเครียดจากการเสพข่าวหดหู่มากไปด้วยตนเอง
- จำกัดเวลาในการเสพข่าวลบโดยเคร่งครัดกับเวลาที่กำหนดไว้
- หากเครียดมาก เมื่อรู้ตัวควรงดเสพข่าวหรือสื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก
- อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะหัวข่าวมักใช้คำแรงที่กระตุ้นอารมณ์
- ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ทางสื่อสังคมออนไลน์กันมาก
- หากเป็นข่าวด่วนที่น่าตื่นเต้นอาจรอสักหน่อยให้มีข้อมูลและความจริงสนับสนุนมากขึ้นจึงค่อยอ่านในรายละเอียดของข่าว
- พยายามมองรอบด้านหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่านบ้าง เพราะทุกอย่างมีทั้งด้านดีและร้ายเสมอ
- อ่านหรือเสพข่าวที่ดีต่อใจบ้าง อย่าเสพข่าวที่หดหู่
- อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พัก จิตใจว่างสงบและหลับได้ดี
- ทำกิจกรรมอื่นๆที่คลายเครียด เพื่อผ่อนคลายบ้าง อย่าเอาแต่ติดตามข่าวทั้งวันจนจิตใจหมกมุ่น
- พูดคุยกับกัลยาณมิตรบ้าง การหมกมุ่นกับเรื่องร้ายๆอยู่คนเดียวจะทำให้จมกับความคิดลบๆ
หากทำตามคำแนะนำนี้แล้ว ยังเครียดมากอยู่ก็ควรไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์หรือโทรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 (Chatbot 1323) ตลอด 24 ชั่วโมง