คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา กีฬาบาสเกตบอล ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กระทั่งกลายเป็นกีฬายอดฮิตอันดับ 2 ของโลก ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เล่นเปี่ยมพรสวรรค์ปรากฏตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเขย่าบัลลังก์ สหรัฐอเมริกา ในฐานะมหาอำนาจแห่งวงการยัดห่วง ซึ่งกวาดเหรียญทองโอลิมปิก 7 จาก 8 ครั้งล่าสุด กรณีพวกเขาสามารถขนซูเปอร์สตาร์ของ เอ็นบีเอ (NBA) เข้าร่วมทีมแบบเต็มอัตราศึก
สิ้นสุดเบรกอันยาวนาน 5 ปี ศึกยูโรบาสเกต 2022 เพิ่งแข่งขันจบลงไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา และเป็นทัวร์นาเมนต์ซึ่งส่งสัญญาณถึงแฟนๆ บาสเกตบอลทั่วโลกด้านความเป็นหนึ่งของกีฬาบาสเกตบอลยุโรป ก่อนเปิดฉากการแข่งขันระดับเมเจอร์ 2 รายการ ซึ่งรอคอยอยู่เบื้องหน้า ได้แก่ ฟีบา เวิลด์ คัพ 2023 และ โอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส
ทีมบาสเกตบอลชาย สหรัฐอเมริกา ยังอยู่เหนือสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่ช่องว่างกับทีมอื่นๆ ในระดับนานาชาติ ถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ หากพิจารณาผลงานเมื่อ 3 ปีก่อน รายการ ฟีบา เวิลด์ คัพ 2019 ทีมของ เกร็กก์ โพโพวิช เลือกใช้ผู้เล่นเกรด B ก่อนพัฒนาตัวเองสู่ระดับซูเปอร์สตาร์ อาทิ โดโนแวน มิตเชลล์ และ เจย์สัน เททัม ยังจบทัวร์นาเมนต์แค่อันดับ 7 ซึ่งเป็นผลการแข่งขันอันน่าเหลือเชื่อ
ถึงแม้ สหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญต่อโอลิมปิก มากกว่า ศึกชิงแชมป์โลก แต่เราพบว่ามีอยู่หลายทีมที่พร้อมขัดขวาง ทัพยัดห่วงชายอเมริกัน ซิวเหรียญทองในการแข่งขัน ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และ ปารีส เกมส์ เริ่มจากผู้ท้าชิงแกร่งสุดอย่าง ฝรั่งเศส รองแชมป์ยุโรป 2022 และเหรียญเงิน โตเกียว เกมส์ 2020 ซึ่งน่าจะได้ โจเอล เอ็มบีด เซ็นเตอร์ ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอร์ส ร่วมทีมใน 2 ทัวร์นาเมนต์ถัดไป
เอ็มบีด ดีกรีแชมป์ทำคะแนน ฤดูกาลปกติ 2021-22 และรองอันดับ 1 ผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) 2 สมัย ได้รับสถานะพลเมืองฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว ติดแค่เพียงอาการบาดเจ็บนิ้วระหว่าง NBA เพลย์ออฟ ซีซันที่แล้ว ทำให้เขาไม่ได้เข้าร่วมศึกยูโรบาสเกต วันที่ 1-18 กันยายนที่ผ่านมา แถม “เลอ เบลอส์” ยังมี วิคเตอร์ เวมบานยามา ดาวรุ่งระดับตัวเต็งดราฟต์เบอร์ 1 ปี 2023 อยู่อีกคน
เอ็มบีด, เวมบานยามา และ รูดี โกแบร์ต เซ็นเตอร์ป้ายแดง มินเนโซตา ทิมเบอร์วูล์ฟส เป็น 3 ประสานฟรอนท์คอร์ต ซึ่งดูเหนือกว่าขุมกำลัง “บิ๊กเมน (ผู้เล่นตัวใหญ่)” ของ สหรัฐอเมริกา อย่าง แบม อเดบาโย, เดรย์มอนด์ กรีน, จาเวล แม็คกี, จาร์เร็ตต์ อัลเลน, โรเบิร์ต วิลเลียมส์ ที่ 3 และ ไมล์ส เทอร์เนอร์ รวมถึง 2 ตำแหน่งสุดท้าย อีแวน โฟร์นิเยร์ กับ นิค บาทูม เท่ากับว่า ฝรั่งเศส ภายใต้การคุมทีมของ แว็งซ็องต์ คอลเลต์ เฮดโค้ช จะสามารถจัดไลน์อัพ 5 ตัวจริง เป็นผู้เล่น NBA ทั้งหมด
ขณะที่ สเปน ที่ดูเหมือนกำลังผลัดใบ หลังสิ้นยุค 2 พี่น้อง เพา กับ มาร์ค กาซอล สร้างผลงานอันน่าเหลือเชื่อ ด้วยการคว้าแชมป์ยุโรป สมัย 4 ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปราศจาก ริคกี รูบิโอ การ์ดจ่ายตัวเก๋า ซึ่งมีประสบการณ์ระดับ NBA มานานกว่า 10 ซีซัน และขุนพล “กระทิงดุ” ชุดแชมป์โลก 2019 ทว่าหลังจบทัวร์นาเมนต์ ยูโรบาสเกต เราได้เห็นว่า วิลลี เฮอร์นานโกเมซ ผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ของทัวร์นาเมนต์ กับ ฆวนโช เฮอร์นานโกเมซ กลายเป็นคู่พี่-น้องที่มารับภาระแทน ตระกูลกาซอล
ทั้ง สเปน กับ ฝรั่งเศส อาจดูว่าเป็นผู้ต่อกรหน้าเดิมๆ สำหรับแฟนบาสเกตบอลที่อยากเห็นทีมหน้าใหม่ๆ ยังมี กรีซ ภายใต้การนำของ ยานนิส อันเตโตคุมโป ซูเปอร์สตาร์ มิลวอกี บัคส์ และผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ระดับ NBA 2 สมัย, ขณะที่ สโลวีเนีย กลายเป็นทีมชั้นนำทีมหนึ่งของยุโรป หลัง ลูกา ดอนซิช การ์ดความหวัง ดัลลัส มาเวอริกส์ เข้ามาอาละวาดอยู่ที่สหรัฐอเมริกา คว้าแชมป์ยุโรป เมื่อปี 2017 และทะลุรอบรองชนะเลิศ โอลิมปิก 2020
ก้าวออกจากฝั่งยุโรป อย่ามองข้ามประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง แคนาดา ซึ่งไม่ได้เก่งแค่ ฮ็อคกี้น้ำแข็ง อีกต่อไป แม้กระทั่ง ฟุตบอลโลก พวกเขายังกลับมาเข้าร่วมเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 1986 ที่ประเทศเม็กซิโก สำหรับบาสเกตบอล สตาร์ของ NBA รวม 21 คน เป็นผู้เล่นซึ่งเกิดที่ประเทศแคนาดา และมี นิค เนิร์ส เฮดโค้ช โตรอนโต แร็พเตอร์ส ชุดแชมป์ NBA คุมทีม
หาก แคนาดา สามารถจัดขุมกำลังแบบฟูลทีม ตลอด 2 ทัวร์นาเมนต์ข้างหน้า พวกเขาจะมีตัวดังๆ อาทิ จามาล เมอร์เรย์, เช กิลเจียส-อเล็กซานเดอร์, แอนดรูว์ วิกกินส์ และ อาร์เจ บาร์เร็ตต์ ก็น่าจะเป็นทีมหนึ่งที่น่าจับตา โดย เมอร์เรย์ การ์ด เดนเวอร์ นักเก็ตส์ เป็นตัวสกอร์หลักของทีม ส่วน กิลเจียส-อเล็กซานเดอร์, วิกกินส์ และ บาร์เร็ตต์ เป็นตัวสนับสนุนชั้นดี
ตามรายชื่อทีมที่เอ่ยมา เราอาจไม่ได้เห็น สหรัฐอเมริกา ถล่มคู่แข่งกระจุยกระจายเหมือนยุค “ดรีม ทีม 92” ซึ่งต้องบอกว่า ตัวผู้เล่นห่างกันราวฟ้ากับก้นเหว เว้นแต่จะเจอทีมที่ห่างชั้นกันเกินไป สาเหตุที่ชาติอื่นที่มองภาพแบบคร่าวๆ แล้วดูใกล้เคียง สหรัฐอเมริกา มากขึ้น ส่วนหนึ่งย่อมเกิดจากการหลั่งไหลเข้าสู่ NBA ของผู้เล่นต่างชาติ และการขยายตลาดของลีกสู่ต่างแดนนั่นเอง