xs
xsm
sm
md
lg

โรคข้อเสื่อม เป็นไปตามวัย แก้ไขได้ไม่ยาก / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

เจ้าเก่งเป็น งง! เมื่อเห็นคุณชูสง่า นั่งรถเข็นออกมาจากห้องตรวจข้อเข่าในสภาพเข่าซ้ายถูกดามด้วย Slab หรือเฝือกฝาเดียวพันผ้ายืด Elasticbandage ออกมาพร้อมพี่หมอ “เฮียขาหักเหรอครับพี่หมอ” “เปล่า” พี่หมอตอบหน้าตาเฉย.....นัยว่า..พี่หมอจับเฮียใส่ Slab ก็เพื่อที่จะให้หายจากอาการเจ็บเข่าได้อย่างรวดเร็วใน 1 สัปดาห์ เพราะงานรับปริญญาของลูกสาวรออยู่ ทั้งนี้อาการปวดเข่าจนเดินกระเผลก เกิดจากเฮียเป็นโรค ข้อเท้าเสื่อมอยู่เดิมแล้วลืมตัวไปเดินมากแถมยังขึ้นบันไดไปไหว้พระในวิหารบนยอดเขาสูงกลับลงมาเลยเกิดอาการเข่าซ้ายอักเสบบวมเป่งปวดจนเดินกระเผลก

อาการปวดข้อในผู้สูงอายุชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ เกิดจากโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ส่วนมากมักพบในข้อใหญ่ๆที่มีการเคลื่อนไหวมากหรือข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า โรคข้อเสื่อมนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนผิวข้อเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมันกลายเป็นผิวที่ขรุขระ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดไม่ราบเรียบและความเสื่อมนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆไม่มีทางกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม

-ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม

1.การบาดเจ็บโดยเฉพาะการบาดเจ็บที่รุนแรงหริอการบาดเจ็บที่ซ้ำซาก

2.มักพบในผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

3.คนอ้วน น้ำหนักเกิน

4.ผู้ที่มีโรคกระดูกพรุน

5.ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินมากเป็นประจำ

6.เพศหญิงมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย

7.กรรมพันธ์ แม่ที่มีโรคข้อเสื่อมมักพบว่าลูกสาวจะมีข้อเสื่อมด้วย

-การป้องกันและรักษา โรคข้อเสื่อมโดยไม่ใช้ยา ทำอย่างไร?

1.ถ้าคนอ้วนหรือน้ำหนักเกินให้ลดน้ำหนักลง เพราะน้ำหนักที่เกินทำให้ข้อรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้เสื่อมเร็วขึ้น

2.ลดการใช้งานหรือการรับน้ำหนักของข้อ ได้แก่ ลดการวิ่งหรือจ๊อกกิ้ง เพราะเข่าต้องรับน้ำหนักเพิ่ม 10 เท่าของน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยงการกระโดด การนั่งยอง นั่งคุกเข่า การนั่งพับเพียบ งดการยกของหนักโดยเฉพาะ 5 กิโลกรัมขึ้นไป

3.บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงสม่ำเสมอให้มีการเคลื่อนไหวข้อเข่าหรือข้อสะโพกเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกๆวัน

4.ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีข้อเสื่อม คือ การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน

5.รายที่เป็นรุนแรง อาจใช้เครื่องพยุงข้อและใช้ไม้เท้าช่วยเดิน

ปัจจุบันมียาช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่ามีสรรพคุณคล้ายเป็นอาหารสำหรับบำรุงกระดูกอ่อน คือ กลูโคซามีน (Glucosamine) โดยทำให้กระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้น

ส่วนยาที่ใช้รักษา จะเป็นเพียงยากินบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ เช่น ibuprofen diclofenac celecoxib เป็นต้น ซึ่งการกินยาควรกินหลังอาหารทันทีเพราะยามีฤทธิ์ระคายกระเพาะในรายที่เป็นโรคกระเพาะอยู่แล้วการให้กินยาป้องกันโรคกระเพาะร่วมด้วยและการใช้ยาลดการอักเสบเป็นเวลานานๆหรือใช้ในขนาดสูงอาจทำให้การทำงานของไตลดลงเกิดโรคไตตามมาได้

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่ป้องกันได้โดยอย่าให้น้ำหนักเกินหลีกเลี่ยงการใช้ข้อเกินกำลังบริหารให้ข้อต่างๆแข็งแรงอยู่เสมอ การใช้ยาแก้ปวดลดการอักเสบควรใช้เพียงครั้งคราวเราก็สามารถรักษาข้อไว้ใช้ได้นานๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น