คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“เมื่อวานเฮียไปเยี่ยมลุงไก่มา” คุณชูสง่าเล่าให้พี่หมอฟัง “เอ้อ!..อ๋อลุงไก่โปรเกรียงไกร จำได้แล้ว แกหายไปนานเลยนะครับ ป่านนี้อายุขึ้นเลขแปดแล้วมั้ง” “85เท่าพี่แอ๊ด สมบัติเลย แต่โทรมกว่าเยอะ เป็นโรคสมองเสื่อมหลังจากเลิกเล่นไปนาน ตอนนี้เหมือนเด็กช่วยตัวเองไม่ได้เลย แต่ที่น่าสงสารคือป้าใจเมียแก ต้องดูแลคนเดียว ไม่มีเงินจ้างคนมาดูแล ตัวป้าเองก็ไม่ค่อยแข็งแรง สงสัยจะไปก่อนลุงแน่ เฮียเลยขอเลขบัญชีธนาคารแกมา อยากจะช่วยแกรายเดือนเอาบุญ” “อนุโมทนา สาธุครับ” เจ้าเก่งและพี่หมอประสานเสียง
นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมเผยผลวิจัยที่น่าตกใจมาก คือผู้สูงอายุมีแนวโน้ม 9 คนจาก 10 คนจะมีอาการสมองเสื่อม และมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงปีละ 10%ทีเดียว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน หรือออกกำลังกายไม่เพียงพอ นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จะเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี หลังเป็น โดยผู้หญิงจะเสียชีวิตช้ากว่าผู้ชาย ขณะที่ปัจจุบันยาที่ให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมไม่ได้แก้ที่สาเหตุของโรค เพียงแต่ทำให้เสียชีวิตช้าลง และในระยะสุดท้ายก็ต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนกับเด็กเล็ก
ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโรคสมองเสื่อม อันดับแรกมาจากวัยที่เพิ่มขึ้น อันดับสองคือไม่ได้ทำงานและออกกำลังกายไม่เพียงพอ อันดับสามคือโรคเบาหวาน ซึ่งงานวิจัยทั่วโลกระบุว่าโอกาสมากกว่าคนทั่วไป2เท่า ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆคือ ช่วงระยะเวลาการนอนหลับไม่เพียงพอ และระยะกานนอนหลับลึกน้อยกว่า 4-5 ชั่วโมง
นายกสมาคมโรคสมองเสื่อม อธิบายว่า คำว่า เสื่อม คือ ถอยหลัง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่1 กิจกรรมที่เคยทำแล้ว กลับทำไม่ได้
ระยะที่2 สูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองง่ายๆ เช่น การเข้าห้องน้ำ การกินข้าว การทำความสะอาดร่างกาย
ระยะที่3 สมองแยกความสะอาด-ความสกปรกไม่ได้ อาจตัดน้ำในชักโครกมาใช้ เป็นเหมือนเด็กๆ สุดท้ายจำใครไม่ได้แม้แต่ตัวเอง ผลกระทบด้านอารมณ์และจิตใจ จากคนใจเย็นกลายเป็นโมโหง่าย อารมณ์เปลี่ยนขึ้นเร็วลงเร็ว มีปัญหาความจำ โดยจะถามคำถามเดิมทุก 2-3 นาที อาการสมองเสื่อมจะค่อยดำเนินไปอย่างช้าๆจนคนที่เป็นจะไม่รู้ตัว
ดังนั้นผู้ป่วยจะไม่ยอมรับ บอกว่าตัวเองสบายดี ลูกหรือญาติอาจเข้าใจผิดว่าพ่อหรือแม่แกล้งทำ จำความหลังได้ดี แต่ลืมว่าเมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร อาจจะลืมคนข้างเคียง จำลูกหลานไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นโรคนี้เขาจะไม่กลัวไม่ทุกข์ทรมาน (Suffer) เพราะว่าสมองของผู้ป่วยแยกอะไรไม่ได้ แต่คนที่ต้องดูแลจะทุกข์มาก ผู้ป่วยบางรายต้องมีคนคอยดูแลถึงสองคนประกบ ซึ่งคนดูแลอาจจะแย่หรือไม่สบายไปก่อนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก็เป็นได้
วิธีการที่จะช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม ได้แก่การออกกำลังกายโดยต้องให้เหนื่อยและมีเหงื่อออกวันละครึ่ง-1ชั่วโมง 3-5ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงสมองเสื่อมได้ถึง 57% เลยทีเดียว เพราะการที่ทำให้หัวใจเต้นแรงจนเส้นเลือดสมองหดและขยายบีบตัวทำให้ขับขยะของเสียคือสารเบต้า-อะมีลอยด์ ออกจากสมองอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าในปี 2050 โรคสมองเสื่อมจะเป็น pandemic คือเต็มโลกไปหมด เหมือนโรคโควิด-19 รวมทั้งประเทศไทยเรา ซึ่งขณะนี้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ10%เลยทีเดียว