แฟนกีฬาไทยได้เปิดลงชื่อรณรงค์ผ่าน https://chng.it/rY9pGCtDVT ให้ กกท. ส่ง “บิว” ภูริพล บุญสอน และ จอชชัว แอทคินสัน ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ไปฝึกซ้อมและเก็บตัวในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาฝีเท้าสู่ระดับโลก
เสียงของนักวิ่งและแฟนกีฬาชาวไทย ถึงผู้ว่า กกท. ผู้วางแนวทางให้กับ สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย อย่าหลงทางและเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ไม่เกิดความคุ้มค่ากับการพัฒนากรีฑาไทยสู่ระดับโลก
ครั้งแรกในรอบ 24 ปี ของวงการกรีฑาไทย ที่เด็กหนุ่มอายุเพียง 16 ปี “บิว” ภูริพล บุญสอน - ทำลายสถิติประเทศ 100 ม. ที่ 10.09 วินาที - คนไทยคนแรกที่ได้ WU18B หรือสถิติรุ่น 18 ปีที่ดีที่สุดของโลก - ทำเวลา 200 ม. ที่ 20.19 วินาที ผ่านเกณฑ์กรีฑาชิงแชมป์โลกคนแรก - คว้าเหรียญทองและสร้างสถิติใหม่มากมาย - อาจเป็นนักวิ่งไทยคนแรกที่จะวิ่ง 100 เมตร ต่ำกว่า 10 วินาที และสามารถสร้างชื่อเสียงในระดับโลกได้
และ “จอชชัว แอทคินสัน” ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่ไปโตและฝึกซ้อมกรีฑากับโค้ชที่ออสเตรเลีย ทำสถิติ 400 ม. ที่ 46.13 วินาที เป็นสถิติประเทศ U-20 คว้า 4 ทองในซีเกมส์ที่ฮานอย และได้รางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์
แต่เมื่อ 7 ส.ค. 2565 สมาคมกีฬากรีฑา ประกาศแผนการฝึกซ้อมของ ภูริพล บุญสอน และ จอชชัว แอทคิสัน นักวิ่งดาวรุ่งระยะ 400 ม. ว่า “เห็นด้วยกับแนวทางของผู้ว่า กกท. และผู้จัดการกองทุน ให้จ้างโค้ชจากอเมริกามาฝึกที่ไทยมากกว่า ซึ่งนักกรีฑาคนอื่นจะได้ผลประโยชน์ด้วย” แม้มีบริษัทเอเยนต์นักกีฬาและศูนย์ต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาติดต่อยื่นข้อเสนอมาก็ตาม
การฝึกซ้อมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ นักกีฬาควรได้ฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีโค้ชที่มีประสบการณ์ เพื่อนร่วมทีมที่ดี คู่แข่งที่เก่งกว่าหรือสูสี มีระบบโภชนาการและวิทยาศาสตร์การกีฬาที่รองรับ มีสนามแข่งขันให้ประลองฝีเท้าเก็บประสบการณ์สม่ำเสมอ (ไม่ใช่รอปีละ 1-2 รายการ) และมีเงินรางวัลที่เหมาะสม ต่อยอดสู่การเป็น “Pro-Runner” หรือนักวิ่งอาชีพได้ ซึ่งไม่เหมือนกับการจ้างโค้ชมาสอนที่ไทย
ยกตัวอย่างที่ อเมริกา ที่มีนักกรีฑาชั้นนำจากทั่วมุมโลกไปเรียน ซ้อม และ แข่งที่นั่น อาทิ โม ฟาราห์ (อังกฤษ), ซึกุรึ โอซาโกะ (ญี่ปุ่น), โมฮัมเหม็ด อาเหม็ด (แคนาดา), มาร์ค สก๊อต (อังกฤษ), อับดุล ฮาคิม ซานิ บราวนด์ (ญี่ปุ่น ที่วิ่ง 100 ม. 9.97), คีริน ตันติเวทย์ (ไทย) และยังไม่รวมคนล่าสุดที่กำลังจะเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮูสตัน คือ อาเหม็ด อาซีม ฟามี จากมาเลเซียที่วิ่ง 100ม. ที่ 10.09 วินาที
หากสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งมาแล้ว 125 ปี ยังยึดติดกับระบบการบริหารจัดการและแนวความคิดเดิมๆ ที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เน้นจ้างโค้ชมาสอนที่ไทยแทนที่จะส่งไปต่างประเทศ การเรียกศักยภาพของนักกีฬาที่พิเศษกว่าทั่วไปอาจทำได้ไม่เต็มที่ เสียเงินเสียเวลา และความหวังที่คนไทยจะเห็นช้างเผือกดาวรุ่งอนาคตไกลของทั้งคู่อาจเลือนลาง อยู่ในวังวนเดิมๆ
ร่วมกันลงเสียงเพื่อสะท้อนถึงนโยบายของสมาคมกรีฑา ว่าอย่าให้โอกาสและเวลาเสียเปล่า เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนี้เราจะมี “เพชรเม็ดงาม” แบบนี้อีกมั้ย การเจียระไน “อย่างถูกวิธี” จะทำให้มันกลายเป็น “โคตรเพชร”