xs
xsm
sm
md
lg

เคยเห็นมั้ย ผู้หญิงเตะ “บอลเบอร์ 4” / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ย้อนกลับไปในปี 1984 ฟุตบอลหญิงชิงแช้มพ์แห่งชาติยุโรป (1984 European Competition for Women's Football) หนแรก รอบคัดเลือกมีเพียง 16 ทีม แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คัดเอาแค่แช้มพ์กลุ่มเข้าสู่ รอบสุดท้าย เล่นกัน 4 ทีมเท่านั้น โดยเอามาจับคู่เตะกันแบบ น้อค-เอ๊าท์ เหย้า-เยือน แล้วเอาทีมชนะมาชิงกันแบบ เหย้า-เยือน ซึ่ง สวีเด็น ได้แช้มพ์ไปครองเป็นทีมแรก นอกจากจะไม่มีเจ้าภาพเป็นเรื่องเป็นราว นึกแล้วก็ยังขำเลยครับ เตะกันครึ่งละ 35 นาทีเท่านั้น คงคิดว่าถ้าเล่นนานกว่านั้นเดี๋ยวนักเตะสาวจะเหนื่อยเกินไป และที่สำคัญลูกบอลที่ใช้แข่งก็ บอลเบอร์ 4 ซะอีก

คือลูกฟุตบอลที่เราใช้เตะกันทั่วไปนั้น ตามกฎ (Laws of the Game) ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง ลูกฟุตบอล เขากำหนดให้เป็นทรงกลมมีขนาดเส้นรอบวงระหว่าง 68-70 เซนติเมตร เมื่อสูบลมเข้าไปแล้วตอนเริ่มการแข่งขันจะต้องมีน้ำหนักระหว่าง 410 - 450 กรัม วัดความกดดันหรือแรงอัดได้ 600 - 1,100 กรัม/ตร.ซม. ที่ระดับน้ำทะเล ไอ้เจ้าขนาดของมันที่มีเส้นรอบวง 68-70 ซม. นี่แหละ สมัยที่ผมยังเด็กๆมักจะได้ยินเขาเรียกกันว่า บอลเบอร์ 5 (size five football) ซึ่งความจริงมันยังมีบอลเบอร์ 4 และเบอร์ 3 อีกด้วย นั่นหมายถึงมีขนาดเล็กลงไปอีก

บอลหญิงชิงแช้มพ์แห่งชาติยุโรป รอบสุดท้าย หนต่อๆมาเริ่มมีเจ้าภาพ แต่ก็ยังมีแค่ 4 ทีม แล้วค่อยๆเพิ่มเป็น 8 ทีม 12 ทีม จนในที่สุดเป็น 16 ทีมเมื่อปี 2017 หนนี้เป็นหนที่ 2 ที่มี 16 ทีม ในปัจจุบัน บอลหญิงเล่นกันด้วยลูกบอลขนาดมาตรฐานแบบบอลชายนะครับ แล้วก็ครึ่งละ 45 นาทีด้วย ที่ผ่านมา เจอรมานี เป็นทีมที่ประสพความสำเร็จมากที่สุด คว้าแช้มพ์ได้รวม 8 หน รองลงมาก็เป็น นอร์เวย์ 2 หน ในขณะที่ เนเธ่อร์แลนด์ส ครองแช้มพ์หนล่าสุดในปี 2017 ที่ตนเองเป็นเจ้าภาพ

บอลหญิงชิงแช้มพ์แห่งชาติยุโรป 2022 (UEFA Women's Euro 2022) ยุคนี้กำหนดจัดกันทุกๆ 4 ปีแล้ว นี่เป็นครั้งที่ 13 ซึ่งความจริงต้องมีขึ้นในปี 2021 แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้กีฬาสำคัญๆถูกเลื่อนมาเป็นระลอก ทั้ง โอลิมปิค 2020 ฟุตบอลชาย ยูโร 2020 ต้องมาจัดแข่งในปี 2021 ส่งผลให้ ฟุตบอลหญิง ยูโร 2021 ก็เลยกลายเป็น ยูโร 2022 ไปโดยปริยาย โดยหนนี้มี อังกฤษ ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 2005 เสนอตัวเป็นเจ้าภาพอย่างไร้คู่แข่ง ทำให้ได้สิทธิ์นั้นไป และจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 6-31 กรกฎาคมนี้ หนนี้มีการใช้ทั้ง วีดิโอช่วยในการตัดสิน (Video Assistant Referee - VAR) และอุปกรณ์อีเล็คทรอนิคส์แจ้งเตือนผู้ตัดสินว่าลูกบอลข้ามผ่านเส้นประตูไปแล้วหรือไม่ (Goal-line technology)

เรื่องเงินรางวัลนั้น ยูเอ๊ฟฟ่า จัดเตรียมไว้ให้เป็นจำนวน 16 ล้าน € ซึ่งนับเป็น 2 เท่าของ ยูโร 2017 โดยทั้ง 16 ทีมที่ได้เข้าสู่รอบสุดท้ายนี้จะได้รับไปก่อนเลยทีมละ 6 แสน € ในรอบแบ่งกลุ่ม ทีมชนะได้รับ 1 แสน € เสมอก็ได้ทีมละ 5 หมื่น € แล้วทีมใดได้ผ่านเข้าสู่ รอบน้อค-เอ๊าท์ 8 ทีมก็รับไปทีมละ 205,000 € ถ้าได้เข้ารอบรองชนะเลิศมีรางวัลให้ 320,000 € ได้รองแช้มพ์รับไป 420,000 € และแช้มพ์จะได้รับ 660,000 € ทั้งนี้ เมื่อคิดเงินรางวัลสะสมสำหรับทีมแช้มพ์ถ้าชนะมาทุกนัดในรอบแบ่งกลุ่มก็จะมีโอกาสฟันเงินรางวัลสูงสุดถึง 2,085,000 € ทีเดียว

ในบรรดา 16 ทีมนั้นคือ นอร์เวย์ อังกฤษ อ๊อสเตรีย อายร์แลนด์เหนือ เจอรมานี สเปน ฟินแลนด์ เด็นมาร์ค ฝรั่งเศส ไอ๊ส์แลนด์ เบ็ลเจี้ยม อิตาลี สวิส เนเธ่อร์แลนด์ส สวีเด็น และ ปอรตูเกา ที่ได้มาแทน รัสเซีย ซึ่งถูกตัดออกไปเนื่องจากทำสงครามรุกราน อูคราอิน่ะ การแข่งขันในรอบแรกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มๆละ 4 ทีม แข่งแบบพบกันหมดในกลุ่ม นับคะแนน ถ้าเท่ากันก็ดูที่ เฮ้ด-ทู-เฮ้ด ก่อนเลย ทีมที่จบ 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มได้เข้า รอบ 2 ซึ่งจะเริ่มแข่งขันแบบ น้อค-เอ๊าท์ ไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศ โดยไม่มีการชิงอันดับที่ 3

ในเรื่องทีมเต็งนั้น ฝรั่งมองว่า นักเตะสาวนอร์เวย์ แม้จะตัวใหญ่ได้เปรียบชาติอื่นๆแต่ก็ยังเป็นแค่เต็งอันดับ 7 เนเธ่อร์แลนด์ส แช้มพ์เก่าเป็นเต็ง 6 สวีเด็น เต็งอันดับ 5 เจอรมานี แช้มพ์ 8 สมัยก็ยังเป็นแค่เต็งอันดับ 4 อังกฤษ เจ้าภาพหนนี้เป็นเต็งอันดับ 3 โดยที่แข้งสาวสเปน ไม่รู้ร้อนแรงมาจากไหนได้เป็นถึงเต็งอันดับ 2 และนักเตะสาวเมืองน้ำหอม ฝรั่งเศส ปีนี้แกร่งมากจริงๆ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันให้เป็นเต็ง 1 มีโอกาสคว้าแช้มพ์สูงกว่าใคร ส่วนเต็งบ๊วย เขายกให้ แข้งสาวอายร์แลนด์เหนือ มีราคาต่อรอง 2000/1 เลยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น