xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ต้องกลัวโรคกล้ามเนื้อลีบ ถ้าเฮียไม่ทิ้งไม้กอล์ฟ / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

"พี่หมอจำเสี่ยเทพเพื่อนสนิทของเฮียได้ไหม"

"อ๋อจำได้ครับเฮียเจ้าสัวเทพชัยไม่ได้เจอกันนานแกสบายดีไหมครับ"

"หมอจำคนที่เฮียทักเมื่อเช้าได้ไหมจากคนอ้วนน้ำหนัก 100 กว่าโลตอนนี้ผอมเห็นซี่โครงเลย"

"อ้าวใช่เสี่ยเทพหรอครับไม่น่าเชื่อจำไม่ได้เลยแกเป็นเบาหวานใช่ไหมครับ"

"นอกจากเป็นเบาหวานแล้วหมอบอกว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อลีบโรคนี้มันน่ากลัวขนาดนั้นเลยหรอแล้วเฮียจะมีโอกาสเป็นไหมเนี่ยเห็นใครๆ บอกว่าเราเหมือนคู่แฝดกัน"

"ไม่หรอกครับถ้าเฮียยังไม่ทิ้งไม่กอล์ฟ"

ภาวะกล้ามเนื้อลีบพบประมาณ 10% ของผู้สูงวัยที่อายุ 50 ปีขึ้นไปซึ่งมีสาเหตุใหญ่ๆ อยู่ 4 อย่างคือ

1.มีการใช้กล้ามเนื้อน้อยลงเพราะมีกิจกรรมในชีวิตน้อยวันๆ นั่งอยู่บนโซฟาหรือเก้าอี้ประจำตำแหน่งจนโซฟาเป็นหลุม กิจกรรมที่ทำอย่างมากก็แค่ดูจอทีวียิ่งคนมีลูกหลานหรือมีผู้ดูแลประจำยิ่งอาการหนักอยากได้อะไรก็เรียกให้คนไปหยิบให้ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนแทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย งานวิจัยพบว่าแค่ผู้สูงอายุไม่ได้เดินออกกำลังกายเพียงสองสัปดาห์ก็เกิดกล้ามเนื้อลีบแล้ว

2.อาหารไม่เพียงพอพูดง่ายๆ ว่ากินอาหารที่ได้แคลอรี่น้อยเกินไปจะเป็นด้วยเหตุฟันไม่ดีเคี้ยวไม่สะดวกหรืออารมณ์ไม่ดีกินอะไรไม่ลงก็แล้วแต่เมื่อแคลอรี่จากอาหารไม่พอร่างกายก็สลายกล้ามเนื้อออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน

3.ความเครียดไม่ว่าจะเป็นเครียดทางกายหรือเครียดทางใจ เพราะฮอร์โมนตัวนี้จะไปสลายเอากล้ามเนื้อออกมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน ดังนั้นความเครียดต่อร่างกายของผู้สูงวัยที่พบบ่อยก็คือการป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น

4.ภาวะอักเสบในร่างกาย เพราะระบบต่างๆ ในร่างกายผู้สูงอายุจะอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบภูมิคุ้มกันโรคซึ่งอ่อนกำลังลงไปมากทำให้ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายและยืดเยื้อเรื้อรังรักษาไม่หาย เช่น ถุงลมโป่งพองแล้วติดเชื้อในปอด หลอดลมอักเสบ เหงือกอักเสบ หรือบางครั้งเกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคอักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

สถิติบ่งบอกว่าผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้อลีบจะเสียชีวิตเร็วกว่าผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้อไม่ลีบ แต่ถ้าไม่เสียชีวิตก็เสี่ยงทำให้เกิดการพิการและนอนติดเตียงในที่สุด

- การรักษาหรือแก้ไขภาวะกล้ามเนื้อลีบ

การออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเล่นกล้าม แอโรบิก หรือฝึกการทรงตัว ล้วนมีผลทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นได้ทั้งสิ้น แต่หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ ท่านเน้นเป็นพิเศษให้ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้ามให้มากๆ เพราะทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานในกล้ามเนื้อมาก เพราะหากกล้ามเนื้อเกิดอาการบาดเจ็บหรือกล้ามเนื้อตายจะสามารถสร้างกล้ามเนื้อขึ้นใหม่ ซึ่งยังส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อมีมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นอีกด้วย ทำจริงจังเห็นผลใน 3 เดือนแต่ถ้าไม่ถนัดเล่นกล้ามก็ให้เดินออกกำลังกายวันละชั่วโมงทุกวันนาน 6 เดือน พบว่าทำให้มวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่ขอให้เดินแบบเร็วๆ ซึ่งพบว่าพวกเดินเร็วจะเกิดกล้ามเนื้อลีบน้อยกว่าพวกเดินช้าๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น