คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
คุณชูสง่าวางโทรศัพท์ลงหลังจากเช็คไลน์รอบเช้า หลับตาพนมมือพึมพำภาวนาอะไรอยู่พักหนึ่งจึงลืมตาหันมาเห็นพี่หมอนั่งมองอยู่ “เพื่อนรักเฮียน่ะ เค้าจะเข้าผ่าตัดบายพาสหัวใจวันนี้ เฮียเลยส่งกำลังใจขอให้คุณพระคุ้มครองแก” “อ๋อครับ เค้ามีอาการอย่างไรครับเฮีย” พี่หมอถาม “เออแปลกนะหมอ แกเป็นคนแข็งแรง ไม่อ้วนไม่เคยมีประวัติโรคหัวใจเลย จู่ๆก็เกิดอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก ลูกเลยรีบพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด น้ำท่วมปอด น้ำตาลขึ้น 500 ต้องทำบอลลูนทันทีเลยแต่ปรากฏว่าเส้นเลือดตีบเยอะ เลยต้องทำบายพาสแทน จะผ่าเช้านี้” คุณชูสง่ารายงานอาการเพื่อนรัก “ครับ ผู้สูงอายุส่วนมากมักจะเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นเฮียต้องดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอจะทนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ดี เมื่อเป็นโรคความรุนแรงจะลดลง ระยะฟื้นตัวจะสั้นกว่า และเฮียควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำจะได้อยู่ตีกอล์ฟไปนานๆครับเฮีย”
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ถ้ารีบรักษาให้ทัน โอกาสรอดสูง ระวัง “เจ็บหน้าอกแบบฉับพลัน” อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
หากคุณกำลังทำกิจกรรมประจำวัน แล้วเกิดจากการเจ็บหน้าอก แน่น หายใจไม่ออก หรือรู้สึกเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกายหรือออกแรงทำกิจกรรมหนักๆที่ไม่เคยทำมาก่อน รู้สึกเจ็บร้าวไปที่ไหล่ซ้าย ใจสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ เหงือออก หัวใจเต้นแรงผิดปกติ หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ในทันที เพราะถ้าถึงมือหมอไม่ทันเวลา อาจอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดจากการที่หลอดเลือดตีบตันเพราะมีไขมันเกาะผนังหลอดเลือดสะสมเป็นเวลานาน (Plague) จนผนังหลอดเลือดตีบแคบลง และหากวันใดที่ Plague ดังกล่าวเกิดการปริตัวหรือแตกเป็นแผลจะทำให้เลือดแข็งตัวกลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด จนเลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงหัวใจ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และนำปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายหรือตายบางส่วน ถ้าหากเป็นเส้นเลือดใหญ่ส่วนต้นที่ส่งเลือดไปเลี้ยงในพื้นที่กล้ามเนื้อบริเวณกว้างก็มีความที่จะเสียชีวิตกะทันหันอย่างรวดเร็วได้
แม้ปัจจุบันผู้ป่วยที่ประสบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ป่วยก็มีอายุน้อยลง แต่ข่าวดีก็คือ อัตราคนไข้ที่เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลง โดยจากสถิติกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะดังกล่าวพบว่า ประมาณร้อยละ 10-15 เสียชีวิตตั้งแต่ยังมาไม่ถึงโรงพยาบาล ขณะที่ร้อยละ 10 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล กลุ่มที่ได้รับการรักษาเร็วก็จะมีโอกาสรอด ความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจจะน้อย สามารถกลับไปมีชีวิตเป็นปกติได้ แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจเสียหายมาก แม้จะมีชีวิตรอดย่อยมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในระยะยาว ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแรง เหนื่อยง่าย กลายเป็นผู้ป่วยติดเก้าอี้ติดเตียง
วิธีแก้ไขภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันอันดับแรกคือ ต้องทำให้เลือดกลับมาเลี้ยงโยเร็วที่สุด โดยปัจจุบันมีการรักษาโดยใช้สายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ซึ่งเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือด
ปัจจัยสำคัญที่สุด ในกระบวนการรักษาคือ “ระยะเวลา” โดยกล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มตายเมื่อขาดเลือดประมาณ 40 นาที ซึ่งถ้าหากทำให้เลือดกลับมาไหลสู่หัวใจได้ ความเสียหายของหัวใจจะน้อยมาก ส่วนอีกช่วงเวลาที่สำคัญที่ถือเป็น Golden Period ของการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ดีที่สุดคือประมาณ 3-4ชั่วโมง หลังหัวใจขาดเลือด ในช่วงนี้แพทย์ต้องพยายามเปิดหลอดเลือดให้ได้ภายใน 90 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ถือว่ามีโอกาสได้คืนอย่างน้อยร้อยละ 60-70 แต่ถ้าเลยเวลานั้นไปแล้ว โอกาสน้อยมาก
“ดังนั้นเฮียต้องหมั่นตรวจสุขภาพ ออกกำลังกาย และเลือกกินอาหารที่เหมาะสมกับวัย จะได้อยู่เป็นโต้โผก๊วนเราไปนานๆนะเฮีย” พี่หมอบอกคุณชูสง่าหัวหน้าก๊วนตีกอล์ฟด้วยความเป็นห่วง