นายสมพันธ์ จารุมิลินท กรรมการเลขาธิการฯ พร้อมด้วยหม่อมหลวงอนุพร เกษมสันต์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เข้าร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงสนับสนุนสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (International Federation of Muaythai Associations – IFMA) ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบ Soft Power ผ่านกีฬามวยไทย การไหว้ครู และปี่มวย โดยมี ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานกิตติมศักดิ์ของสหพันธ์ฯ และ มร.สเตฟาน ฟอกซ์ เลขาธิการสหพันธ์ฯร่วมลงนามด้วย มูลนิธิฯ ยังกล่าวขอบคุณ IFMA ที่ช่วยผลักดันให้มวยไทยได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee – IOC) และยังช่วยอนุรักษ์มวยไทยและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย
“มวยไทย” หรือ “Thai Boxing” เป็นศิลปะการต่อสู้ในสนามรบเพื่อรักษาอิสรภาพและเสรีภาพของคนไทย ซึ่งตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างยาวนาน มวยไทยมีหลัก 5 ประการ คือ ประเพณี เกียรติยศ ความเคารพ ความยุติธรรม และความเป็นเลิศ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นรากฐานที่สำคัญของมนุษยชาติ และเป็นหลักเดียวกันกับกีฬาทุกชนิดที่ถูกบรรจุในการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกยึดมั่นเช่นเดียวกัน
นอกจากมวยไทยจะเป็นศิลปะการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมแล้ว มวยไทยยังถูกใช้ในการแข่งขันมหกรรมกีฬาภายใต้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหลายรายการ อาทิ World Games, World Combat Games, European Olympic Games, Asian Indoor and Martial Arts Games, Arafura Games และอีกหลายรายการในอนาคต นอกเหนือจากศิลปะการต่อสู้แล้ว การไหว้ครูและแม่ไม้มวยไทยยังเป็นอีกการแข่งขันที่นักกีฬามีโอกาสได้ขึ้นแท่นรับเหรียญรางวัลพร้อมเพลงชาติและธงชาติอีกด้วย
ปี 2564 ถือเป็นก้าวสำคัญแห่งประวัติศาสตร์มวยไทยที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้การรับรองกีฬามวยไทยและสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (IFMA) ให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลมวยไทยเพียงแห่งเดียว และเป็นหน่วยงานสูงสุดด้านกีฬามวยไทยในระดับสากล
IFMA ระลึกเสมอว่าประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของมวยไทย ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจในมวยไทยเช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ที่ภาคภูมิใจในกีฬาเทควันโด ประเทศจีนที่ภาคภูมิใจในกีฬาวูซู และประเทศญี่ปุ่นที่ภาคภูมิใจในกีฬาคาราเต้และยูโด และด้วยความยิ่งใหญ่ของมวยไทยนี้ ทำให้นักกีฬาและผู้ฝึกกีฬามวยไทยทั่วโลกต่างภาคภูมิใจ ส่งผลให้มวยไทยถูกยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากลมายาวนาน
นอกจาก IFMA จะเป็นองค์กรกีฬามวยไทยเพียงองค์กรเดียวที่ถูกรับรองโดยองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency – WADA) แล้ว IFMA ยังเป็นองค์กรยึดมั่นในการแข่งขันที่ยุติธรรมโดยปราศจากความรุนแรงและการละเมิดทุกรูปแบบ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตามข้อกำหนด และแข่งขันตามเวลาที่กำหนดในแต่ละยกอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยภายใต้มาตรฐานของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เนื่องจากนักกีฬาที่ร่วมการแข่งขันจะต้องขึ้นชกอย่างน้อย 3 ครั้ง ใน 4 วันเพื่อเข้าสู่รอบสุดท้าย ทำให้การปฏิบัติตามกฎและสวมอุปกรณ์ป้องกันมีความสำคัญอย่างมาก
ปัจจุบัน IFMA มีประเทศสมาชิก 148 ประเทศ ใน 5 ทวีป และสมาชิกต่างมีเอกภาพภายใต้เป้าหมายเดียวกันในการส่งเสริมและสร้างคุณค่าของกีฬามวยไทยให้เป็นศิลปะการต่อสู้ระดับสากล อีกทั้งยังปฎิบัติตามข้อกำหนดของคณะกรรมการโอลิมปิกอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านธรรมมาภิบาล การต่อต้านการใช้สารต้องห้าม การพัฒนาเยาวชน ความเป็นสากล การคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬาทุกคน และในขณะเดียวกันก็ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของมวยไทย เช่น การไหว้ครู แม่ไม้มวยไทย มงคล และปี่มวย ให้คงอยู่คู่กีฬามวยไทยอีกด้วย
มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติร่วมสนับสนุน IFMA อย่างเต็มที่ในการส่งเสริมกีฬามวยไทยในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมไทย นำไปสู่ความนิยมระดับโลก และพร้อมเดินหน้าไปสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิก นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยและนักกีฬามวยไทยทั่วโลก