คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“เย็นนี้ไปกินอาหารญี่ปุ่นอีก” คุณชูสง่าเอ่ยปากชวนลูกก๊วน “อีกละ” เจ้าเก่งแอบดีใจ “สงสัยเฮียแกชอบเด็กเสิร์ฟครับพี่หมอ” เจ้าอ้วนลดเสียงมากระซิบกับพี่หมอ “ได้ยินนะโว๊ยไอ้บ้า...กูเป็นเกาท์ หมอเขาให้กินปลาเป็นหลัก...ปลาแซลมอนดีต่อสุขภาพใช่ไหม?พี่หมอ” “ใช่ครับเฮีย แต่ถ้ามากเกินไปก็ไม่ดี แล้วต้องเลือกที่มาของปลาด้วยนะครับ...อีกอย่างต้องปรุงสุก และสะอาดด้วยจึงจะปลอดภัย” “ตกลงไปกินกันไม๊เนี่ย?” ลูกก๊วนประสานเสียง “ไปครับ!”
ปลาแซลมอน อาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน อุดมไปด้วยโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามิน แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่บางครั้งการรับประทานปลาแซลมอนเกินไป อาจทำให้ได้รับสารปรอทที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงการมองเห็นเปลี่ยนแปลง อารมณ์แปรปรวน ปัญหาด้านความจำ ก่อนเลือกซื้อรับประทานควรศึกษาเรื่องสารอาหาร ประโยชน์ และข้อควรระวังของปลาแซลมอน เพื่อความปลอดภัย
-สารอาหารในปลาแซลมอน ได้แก่
1.วิตามินบี12 หรือโคบาลามีน (Cobalamin) มีบทบาทสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ปรับปรุงการทำงานของระบบประสาท และส่งเสริมการทำงานของระบบเมตาบอลิซึมที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสารอาหารให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดวิตามินบี12 จะเกิดภาวะโลหิตจาง เหนื่อยล้าง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เส้นประสาทถูกทำลาย อารมณ์แปรปรวน และกระบวนการย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ไม่อาจดูดซึมสารอาหารสำคัญได้
2.วิตามินบี6 หรือไพริดอกซิน (Pyridoxine) ช่วยบำรุงระบบประสาทและพัฒนาการสมอง รวมทั้งช่วยให้ประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันเชื้อโรคและไวรัสดีขึ้น
3.กรดไขมันโอเมก้า3 เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยปรับปรุงการทำงานของเซลล์ในร่างกาย เป็นแหล่งพลังงานที่ดี ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยง่าย และยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นสาเหตุโรคหัวใจ
4.วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กระดูก หากร่างกายขาดวิตามินดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน ปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ และโรคปลอกประสารทเสื่อม
5.โพแทสเซียม ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อให้เป็นไปตามปกติ หากขาดโพแทสเซียมอาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อกระตุก เหนื่อยล้าง่าย
6.ซีลีเนียม ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ถ้าขาดจะมีความเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
7.ไนอะซีน เป็นวิตามินบีที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี เพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดีแทน แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ามากเกินไปอาจทำให้ตับเสียหาย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
-ประโยชน์ของปลาแซลมอล มีดังนี้
1.ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ จากผลของการมีกรดไขมัน โอเมก้า3
2.บำรุงสุขภาพตา ป้องกันการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น
3.ปรับปรุงความจำและบำรุงสมอง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์
4.ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอกที่จะพัฒนาไปสู่การเกิดเซล์มะเร็ง ดังนั้นจึงควรบริโภคอย่างน้อย1มื้อต่อสัปดาห์
5.ควบคุมอินซูลิน เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมอาหาร ป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ
-อันตรายที่อาจมาจากการรับประทานปลาแซลมอน ซึ่งอาจมีการปะปนของสารปรอท แม้จะมีการปนเปื้อนในปริมาณน้อย แต่หากรับประทานบ่อยจนปริมาณสารปรอทในเลือดสูงเกิน5.8 ไมโครกรัมต่อลิตร อาจทำให้ระบบประสาทถูกทำลาย กล้ามเนื้ออ่อนแรงมีปัญหาการหายใจ อารมณ์แปรปรวน การเคลื่อนไหวผิดปกติ การมองเห็นและการสื่อสารบกพร่องได้
นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องการรับประทานปลาดิบไม่ผ่านการปรุงสุก ซึ่งอาจมีพยาธิ ปรสิต ที่อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ และอาหารเป็นพิษได้ อีกประกานหนึ่งคือ ปลาแซลมอนจากฟาร์ม อาจมีสารไดออกซิน และยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้ ดังนั้นควรเลือกปลาจากธรรมชาติแล้วปรุงให้สุกจะดีกว่า