xs
xsm
sm
md
lg

นักกอล์ฟที่ชอบเป็นตะคริวจนเกมเปลี่ยน...ฟังทางนี้!! / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

เสียงประตูรีโมทหน้าบ้านเปิด ปลุกพี่หมอจากภวังค์ มองจากห้องรับแขกออกไป เห็นรถคุณชูสง่ากลับจากสนามซ้อมไดร์ฟขับเข้ามา พลันก็ประหลาดใจด้วยคนขับรถคือคุณชูสง่า ส่วนเจ้าเด็กเก่งนั่งอย่าสง่าผ่าเผยอยู่เบาะหลัง สอบสวนทนความภายหลังว่า เจ้าเก่งพลขับเกิดตะคริวกินน่องขวาขณะขับรถ เลยเกิดภาพเหตุการณ์เช่นนี้

“เฮียก็ชอบเป็นตะคริวนะ มันเกิดจากอะไร? แล้วจะป้องกันได้ยังไงละหมอ”

“ชอบก็ดีแล้วนี่เฮีย” เจ้าเก่งพูดในใจ

อาการตะคริวกิน เกิดขึ้นในกรณีแตกต่างกันไป เช่น ออกกำลังกายโดยที่ยืดหยุ่นร่างกายไม่เพียงพอ การนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ รวมไปถึงอากาศที่เย็นจัด

ตะคริว คือ อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้เป็นก้อนแข็งและปวด ซึ่งเกิดขึ้นเฉียบพลัน โดยที่เราไม่สามารถบังคับได้ บางครั้งก็อาจมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดจากการหดเกร็ง การเป็นตะคริวนี้อาจเกิดกับกล้ามเนื้อส่วนใดก็ได้ อาจเกิดหลายมัดพร้อมกันก็ได้ ตะคริวอาจเกิดขึ้นได้แม้ในช่วงเวลาที่ไม่ควรเกิดจนอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ เช่น ตอนว่ายน้ำ ตอนวิ่ง เล่นกีฬา ขับรถ หรือขณะนอนหลับกลางคืนจนสะดุ้งตื่น ซึ่งตะคริวกลางคืนมักเกิดกับกล้ามเนื้อขา และพบได้บ่อยในคนวัยกลางคน และผู้สูงอายุ บางรายอาจเกิดขึ้นที่หลังหรือที่หน้าท้อง การเกิดตะคริวจะเป็นอยู่เพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และอาการจะดีขึ้นใน 2 - 15 นาที อาการปวดอาจจะเรื้อรังเป็นวันก่อนที่จะหายไปอย่างสมบูรณ์ การเกิดตะคริวทำให้เกิดปัญหาการเคลื่อนไหวในจุดนั้น ๆ เราจึงควรจำเป็นต้องรู้จักการป้องกัน รวมทั้งสาเหตุและการรักษาที่ถูกต้อง

สาเหตุการเกิดตะคริว มีดังนี้

1.เอ็นกล้ามเนื้อไม่ได้ยืดตัวบ่อย ๆ จึงมีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย

2.เซลล์ประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ทำงานผิดปกติในขณะหลับ

3.เกิดจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่นยาขับปัสสาวะ หรือยาราโลซิฟีน เป็นต้น

4.การดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ

5.เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล จากการเสียเหงื่อ ท้องเดิน อาเจียน ทำให้โซเดียมและโพแทสเซียมต่ำ

6.ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

7.ใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นทำงานหนักมากเกินไป หรือบาดเจ็บถูกกระแทกระหว่างเล่น

8.การออกกำลังกายหนัก หรือวอร์มอัพไม่เพียงพอ การนั่ง นอนหรือยืนในท่าที่ไม่สะดวกนาน ๆ

จะป้องกันตะคริวได้อย่างไร

1.อบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสายก่อนเริ่มออกกำลังกาย และออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 - 60 นาที

2.ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 - 10 แก้ว หรือ 2 ลิตร

3.กินอาหารที่มีแคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เช่น ปลา นม ผักโขม กล้วยหอม ลูกเกด เป็นต้น

4.ดื่มนมก่อนนอน เพิ่มแคลเซียม โดยเฉพาะผู้ที่มักเป็นตะคริวระหว่างนอนกลางคืน

5.ฝึกยืดกล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวขึ้นง่าย ๆ

6.ระมัดระวังการเกร็งยกของหนัก หรือกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่อง

เกิดตะคริวแล้วจะแก้อย่างไร

1.หากเกิดตะคริวขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ให้ยืดกล้ามเนื้อและยวดบริเวณนั้นประมาณ 1 - 2 นาที หากอาการยังไม่หายดี ให้นวดต่อไปเรื่อย ๆ

2.หากเกิดตะคริวขณะว่ายน้ำ ต้องตั้งสติ พยายามทำให้ตัวของเราลอยน้ำตลอดเวลา หากเกิดตะคริวขึ้นที่น่องด้านหลัง ให้หงายตัวขึ้น ใช้มือพยุงน้ำให้ลอยและยกขาขึ้นเหนือน้ำเข้าหาใบหน้า หากเกิดตะคริวหลังขาอ่อน ให้พยายามอยู่ในท่านอนคว่ำและพับข้อเท้าเข้าหาด้านหลัง หากเกิดตะคริวที่ข้อเท้า ให้นอนหงายและให้เท้าอยู่บนผิวน้ำ แล้วนวดหรือหมุนเบา ๆ ที่ข้อเท้า

3.หากเป็นตะคริวขณะที่นอน ให้ยืดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 5 นาที โดยให้ทำแบบนี้ 5 - 10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่าจะหาย


กำลังโหลดความคิดเห็น