xs
xsm
sm
md
lg

PSG ทำเสื้อขายเอง รวยไม่รู้เรื่อง / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ก็เมื่อ 2 วันก่อนเห็นข่าวแฟนบอลแห่ซื้อเสื้อแข่งหมายเลข 30 ของ ลิโอเน็ล เม้สซี่ (Lionel Messi) กองหน้า ดาวยิงทีมชาติ อารเฆ็นตีนา วัย 34 ปี ที่ย้ายมาร่วมสังกัดกับ ปารี แซ็ง-แชรแม็ง (Paris Saint-Germain FC - PSG) แค่ภายในวันเดียวก็หมดเกลี้ยงตั้ง 150,000 ตัว ซึ่งทางสโมสรไม่ได้รับส่วนแบ่งเลย ผมจึงลองหันไปดูสโมสรที่เขาดำเนินการผลิตเสื้อเองบ้าง

หลังการรวมตัวของ สต๊าด แซ็ง-แชรมานัว (Stade saint-germanois) กับ ปารี ฟุตบอล คลับ (Paris Football Club) เข้าด้วยกันในชื่อ ปารี แซ็ง-แชรแม็ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1970 เลอ ก๊อก สปอรตี๊ฟ (Le Coq sportif) เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนชุดแข่ง สีเสื้อตอนนั้นแดงไปเลย อีก 3 ปีต่อมา ดานิเอ็ล เอ๊ชแตร (Daniel Hechter) นักออกแบบแฟเชิ่นชื่อดังของ ฝรั่งเศส เข้ามาแต่งเติมทำให้เสื้อแข่งมีสีขาวและน้ำเงินเพิ่มเข้ามา

ในปี 1975 โกปา (Kopa) บริษัทของ เรมง โกปา (Raymond Kopa) สุดยอดมิดฟีลด์ตัวรุก ทีมชาติฝรั่งเศส แห่ง เรอัล มาดริด (Real Madrid) ยุคปี 50 ได้สิทธิ์ผลิตเสื้อแข่งให้บ้าง แต่เพียงฤดูกาลเดียวก็ถูก โพนี (Pony) ผู้ผลิตชุดกีฬาค่ายทางอเมริกาจาก นิวยอร์ค เข้ามาแทนที่ แล้ว เลอ ก๊อก สปอรตี๊ฟ ก็กลับมาช่วงชิงการเป็นผู้ผลิตแต่เพียงผู้เดียวไปอีกยาวเกือบ 10 ปี

อาดีด๊าส (Adidas) ซึ่งเป็นเจ้าของ เลอ ก๊อก สปอรตี๊ฟ ตัดสินใจเข้ามาในนามตนเอง 3 ฤดูกาลจนถึงปี 1989 อันเป็นปีที่ นายกี้ (Nike) เริ่มเข้ามาแทนที่พร้อมด้วยข้อเสนอที่ทางสโมสรไม่อาจปฏิเสธ ตัวเลขที่ เปแอ๊สเช ได้รับในฤดูกาล 2012-13 คือ 6.5 ล้าน € ก็นับว่ามากแล้ว พอถึงสิ้นปีมีการต่อสัญญาไปอีก คราวนี้ นายกี้ จ่ายให้ปีละ 25 ล้าน € มันมหาศาลเลยนะครับ

นายกี้ ได้ครองสิทธิ์ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน โดยมี จอร์เดิ้น (Jordan) ยี่ห้อที่ มายเคิ่ล จอร์เดิ้น (Michael Jordan) อดีตสุดยอด ชู้ตติ้ง การ์ด ของ ชิคาโก บุลส์ (Chicago Bulls) ในบ๊าสเก็ตบอล เอ็นบีเอ (National Basketball Association - NBA) ร่วมลงทุนด้วยและก็เป็นบริษัทลูกของ นายกี้ นั่นเองมาร่วมเป็นผู้สนับสนุนด้วย ตั้งแต่ปี 2019 นายกี้ ได้เจรจาต่อสัญญากับ เปแอ๊สเช ไปแล้ว ยิงยาวไปถึงปี 2032 โน่น โดยมีค่าตอบแทนให้สโมสรฤดูกาลละ 75 ล้าน € ไปกันใหญ่เลย

มันมีด้วยหรือที่สโมสรฟุตบอลในทวีปยุโรปจะไม่ใช้บริการชุดกีฬาจากค่ายดังๆแต่ดันผลิตเสื้อแข่งของตนเอง แม้ว่า ยูเว็นตุ๊ส (Juventus FC) และ โรมา (AS Roma) ของ อิตาลี จะผลิตสินค้าที่ระลึกเอง แต่ก็ยังไม่อาจหาญขนาดทำชุดแข่งและเสื้อวอร์มเลย แต่ก็มี ซังท์ เพาลี (FC Sankt Pauli) ใน เจอรมานี นี่แหละที่ตัดสินใจเปิดแผนกผลิตชุดแข่งของตนเองตั้งแต่ปี 2016 หลังจากที่เคยเซ็นสัญญากับ อันเดอร์ อาร์เมอร์ (Under Armour) ยี่ห้อชุดกีฬาของ อเมริกา เป็นเวลา 5 ปี แต่ไม่ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ

ยังมีอีกหลายสโมสร เช่น อูนิโอเน สปอรตีวา เล็ตเช (Unione Sportiva Lecce) ใน อิตาลี เอ๊สปอรท์ กลูเบ่ ไบเยีย (Esporte Clube Bahia) ใน บราซิว ที่มีสายการผลิตชุดแข่งของตนเอง เพราะค่ายชุดกีฬาดังๆมักจะแย่งชิงกันเป็นผู้สนับสนุนแต่สโมสรยักษ์ใหญ่ราว 20 สโมสรเท่านั้น พวกทีมเล็กๆไม่อยู่ในความสนใจ ไม่มีโอกาสเรียกร้องจากผู้ผลิตด้วย เนื้อผ้าก็เห่ยมาก บางทีมแค่สีเสื้อยังเลือกไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม บางสโมสรที่ไม่ได้มีรายได้มากมายจากการขายเสื้อแข่งให้แฟนบอล มันจะไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินการผลิตเอง การให้ผู้สนับสนุนเข้ามาดูแลน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แต่ในฐานะสโมสรยักษ์ใหญ่อย่าง เปแอ๊สเช ที่มีสุดยอดนักเตะของโลกเป็นมหาแม่เหล็กขนาดดูดเรือดำน้ำได้ทั้งลำอยู่ในทีมนั้น ราคาเสื้อเกรดชุดแข่ง ทีมเหย้า ขนาดผู้ใหญ่ ไม่ใช่ไซ้ส์เด็ก พร้อมชื่อ Messi และหมายเลข 30 คือเอาแบบเต็มคราบมาเลย ทาง เปแอ๊สเช วางจำหน่ายที่ร้านบนถนน ช็อง-เซลีเซ (Boutique PSG Champs-Élysees) ใน กรุงปารี ราคา 157.99 € ส่วนเสื้อเด็กก็ราคา 84 € เข้าไปแล้ว คิดเป็นราคาเฉลี่ย 120 € วันนั้นขายได้ 1.5 แสนตัว ทำรายได้ถึง 18 ล้าน € ผมยังมีตัวเลขที่ เปแอ๊สเช ขายเสื้อได้ในฤดูกาล 2019-20 อยู่ที่ 1.522 ล้านตัว รายได้ก็จะไม่ต่ำกว่า 180 ล้าน € โดยที่ตอนนั้นมีแค่ เนย์มาร (Neymar Jr) กับ คีเลียน เอ็มบั๊ปเป (Kylian Mbappé) แต่บัดนี้มี เม้สซี่ มาอีก ยอดขายเสื้อมีทางขึ้นไปถึงจำนวน 5 ล้านตัวอย่างที่ แมนเช้สเต้อร์ ยูนายถิด (Manchester United) ทำได้ในฤดูดังกล่าว ไม่ใกล้ก็เฉียดครับ นี่เรากำลังพูดถึงรายได้ 600 ล้าน € ทีเดียว รู้อย่างนี้ เปแอ๊สเช น่าจะผลิตเสื้อขายเองดีกว่ารับเพียงแค่ฤดูกาลละ 75 ล้าน € ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น