คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
วันสุดท้ายของ โอลิมปิก 2020 ถึงแม้ ทัพนักกีฬาไทย จะไม่มีเหรียญเพิ่ม นอกเหนือจาก 1 ทอง กับ 1 ทองแดง อย่างน้อย ยังพอมีเรื่องให้รู้สึกดีบ้าง ในการแข่งขันบาสเกตบอลหญิง รอบชิงชนะเลิศ ญี่ปุ่น อาจจะพ่ายแก่ สหรัฐอเมริกา สกอร์ขาดลอย แต่ถือว่าชนะใจคนดู พร้อมกับสร้างประวกลายเป็นทีมจากเอเชียลำดับที่ 3ซึ่งคว้าเหรียญเงินรายการนี้ ต่อจาก เกาหลีใต้ กับ จีน ด้วยความภาคภูมิ
ตามหน้าเสื่อเห็นได้ชัดว่า เจ้าภ่าพ เสียเปรียบทุกอย่าง โดยเฉพาะสรีระ มากิ ทากาดะ เซ็นเตอร์กัปตันทีม คือ ผู้เล่นรูปร่างสูงสุดของ ญี่ปุ่น 183 เซนติเมตร เทียบกับผู้เล่นตัวสูงสุดของ สหรัฐอเมริกา บริตนีย์ ไกรเนอร์ 203 เซนติเมตร ยิ่งด้านความสามารถเฉพาะตัว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ผู้เล่น สหรัฐฯ อยู่ในลีกที่อาจไม่แกร่งสุด แต่ก็จัดว่าเป็นหัวแถวอย่าง ดับเบิลยูเอ็นบีเอ (WNBA) ย่อมเหนือกว่าชัดเจน
น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีโอกาสรับชมบาสเกตบอลหญิง โตเกียว เกมส์ สักเท่าไร ด้วยความที่ผมไม่ได้เป็นลูกค้าค่ายมือถือเจ้าของลิขสิทธิ์ และฟรีทีวีมักจะยิงสดการแข่งขันของฝ่ายชายเสียมากกว่า จึงต้องหาข่าวต่างประเทศอ่าน แล้วเกิดสะกิดตรงรายงานของสำนักข่าว “เอพี” ระบุว่า ทอม โฮวาสเซ เฮดโค้ช ญี่ปุ่น ถ่ายทอดวิธีการเล่นแบบ “Run & Gun” และตั้งรับแบบ Full court press ทำให้นึกถึงกลยุทธ์ของฟุตบอลที่เรียกว่า “Gegenpressing”
แท็กติก “Gegenpressing” หากเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ “Counterpressing” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจาก เจอร์เกน คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมัน นำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ พา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เป็นแชมป์ บุนเดสลีกา 2 สมัย กับ ลิเวอร์พูล ครองแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรกรอบ 30 ปี และกลายเป็นเทรนด์ฟุตบอลยุคปัจจุบันแทนที่ “Tiki-Taka” สมัย บาร์เซโลนา ถูกขนานนามว่า ทีมต่างดาว
คล็อปป์ ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชานี้มาจาก โวล์ฟกัง แฟรงค์ โค้ชของเขา สมัยเป็นผู้เล่น ไมน์ซ 05 และ แฟรงค์ ก็ได้รับอิทธิพลจาก อาร์ริโก ซาคคี อดีตเทรนเนอร์ชาวอิตาเลียน ซึ่งคุม เอซี มิลาน ครองแชมป์ ยูโรเปียน คัพ 2 สมัย และ กัลโช เซเรีย อา 1 สมัย โดยหลักการของ Gegenpressing คือ ตัดบอลจังหวะ Transition (เปลี่ยนจากรับเป็นรุก) ของคู่แข่ง แล้วโจมตีเร็ว แต่หัวใจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ความฟิตของนักเตะ
กลับมาว่าด้วยเรื่องของศาสตร์บาสเกตบอล สูตรRun & Gun เริ่มเข้าหูผมมาตั้งแต่ ไมค์ ดี'แอนโทนี มารับงานเฮดโค้ช แอลเอ เลเกอร์ส แต่จริงๆ แล้วแผนลักษณะนี้ ดี'แอนโทนี เคยปลุกปั้น ฟีนิกซ์ ซันส์ จนกลายเป็นทีมระดับหัวแถวของสายตะวันตก ยุคที่มีซูเปอร์สตาร์อย่าง สตีฟ แนช, อมาเร สเตาดาไมร์ และ ชอว์น แมเรียน โดยเน้นเปิดเกมบุกแล้วจบสกอร์ภายในเวลาประมาณ 10-15 วินาที หากนำมาผสมผสานกับ Full court press มันก็จะเทียบได้กับ Gegenpressing อันลือเลื่อง และนั่นคือวิธีการเล่นของ ทีมบาสเกตบอลหญิงญี่ปุ่น เช่นกัน
เท่าที่สังเกตคลิปทีมที่จะเล่นแผน Run & Gun ได้ จะต้องมีการ์ดจ่ายที่ว่องไว, คิดเร็วทำเร็ว, กล้าเล่น, จ่ายบอลเฉียบขาด และการชู้ตที่แม่นยำ นั่นคือจุดเด่นของ แนช ช่วงรุ่งสุดขีดจนคว้าผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ปี 2005 กับ 2006 ส่วน ทีมยัดห่วงสาวญี่ปุ่น ที่ผมเห็นว่ามีแฟนๆ ทาง โซเชียล มีเดีย ชื่นชอบมากสุด นั่นคือ รุย มาชิดะ การ์ดจ่ายหมายเลข 13 ถ้าเทียบกันก็ดูใกล้เคียงอยู่ หมายถึง สไตล์การขับเคลื่อนเกมรุกนะครับ
อย่างไรก็ตาม Run & Gun เป็นกลยุทธ์ที่เหมือนดาบสองคม หวนนึกถึงภาพตัวเองคอนเรียน ม.3 ในคาบเรียนวิชาบาสเกตบอล อาจารย์จะจัดให้มีการแข่งขันภายในห้อง และเล่นเต็มสนาม สารภาพเลยว่า เล่นแค่ 2-3 การครองบอลก็แทบไม่เหลือแรงจะชู้ต เพราะคนเล่นบาสเกตบอล ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา แถมยังต้องใช้ความเร็วด้วย ย่อมบั่นทอนพละกำลังมหาศาล จึงเป็นสาเหตุแห่งความล้มเหลวของ เลเกอร์ส ยุค ดี'แอนโทนี ที่ผู้เล่นหลายคนอายุเลข 3 นำหน้า และยิ่งคุณบุกโดยใช้เวลาน้อยเท่าไร คู่แข่งก็จะมีเวลาเอาคืนมากเท่านั้น
สำหรับข้อดีของแผน Run & Gun มักจะเป็นไปในแนวทางบาสเกตบอลแบบเอ็นเตอร์เทนมากกว่า คือ การใช้เวลาบุกน้อย ย่อมมีโอกาสที่ผลการแข่งขันจะจบด้วยสกอร์สูง และนั่นคือคำตอบว่า เพราะเหตุใด ทีมบาสเกตบอลหญิงญี่ปุ่น จึงชนะใจผู้ชม นอกเหนือจากเลือดนักสู้ของเจ้าภาพ หากวันนั้นลูกยิง 3 แต้มแม่นยำกว่านี้ สหรัฐอเมริกา ก็อาจหนาวได้เหมือนกัน