คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
หลายวันมานี้แฟนบอลเมืองน้ำหอมไปออกันที่หน้า ป๊ารก์ เด แปร๊งส์ (Parc des Princes) สนามฟุตบอลที่สโมสร ปารี แซ็ง แชรแม็ง (Paris Saint-Germain - PSG) ใช้เป็นสนามเหย้าเพื่อเฝ้ารอการมาของ ลิโอเน็ล เม้สซี่ (Lionel Messi) กองหน้า ทีมชาติอารเก็นตีนา วัย 34 ปี หลังจากที่ได้ทราบว่า ลิโอเน็ล ไม่ต่อสัญญากับ บารเซโลนา (Barcelona) อย่างแน่นอนและจุดหมายปลายทางของเขาชี้มาทางเดียวคือ การมาร่วมทีมเดียวกันอีกครั้งกับ เนย์มาร (Neymar Jr)
บางคนทราบข่าววงในว่า ลิโอเน็ล จะนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบิน เลอ บูรเช (Aéroport de Paris-Le Bourget) สนามบินที่ใช้เป็นที่ขึ้น-ลงเครื่องบินเจ๊ทส่วนตัวของบรรดานักธุรกิจที่อยู่ห่างจากขอบ กรุงปารี ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร ก็แห่กันไปที่นั่นเพื่อให้ได้เห็นนักเตะตัวเป็นๆก่อนใคร
ในทุกๆปีเลขคี่เขาจะใช้สนามบินแห่งนี้เป็นสถานที่จัด นิทรรศการอากาศยาน (Salon international de l'aéronautique et de l'espace de Paris-Le Bourget) หรือเรียกกันสั้นๆว่า ปารี แอร์ โชว์ (Paris Air Show) อันลือลั่น ที่แห่งนี้แหละครับที่พวกพ่อค้าอาวุธจะพานายทหารทั้ง 3 เหล่าทัพและตำรวจของไทย ไปชม ไปเลี้ยงดูกันอย่างสุดหรู ถือเป็นโอกาสโอ้อวดอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบิน เฮลีค้อพเท่อร์ ของบริษัทระดับโลกให้เลือกช้อพและเอ็นเทอร์เทนไปในตัว นอกจากนั้น ใน ปารี 2024 โอลิมปิค เกมส์ ครั้งที่ 33 เขาก็จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็น ศูนย์สื่อมวลชน ด้วย
ผมนึกถึง ลิโอเน็ล เจ้าของ บัลลง ดอร (Ballon d'or) รางวัลสุดยอดนักเตะของโลก โดย นิตยสาร ฟร้องส์ ฟุตบอล (France Football) ของ ฝรั่งเศส รวม 6 สมัยแล้ว แถมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาก็เพิ่งแสดงผลงานสุดยอดโดยการนำทีมชาติ อารเก็นตีนา คว้าแช้มพ์ โกปา อาเมรีกา (Copa América) ได้สำเร็จเป็นหนแรกของตนเองที่ได้แช้มพ์ระดับนี้ในนามทีมชาติ มันช่างประจวบเหมาะกับการจะมาละเลงฝีเท้าในมหานครที่สวยที่สุดในโลกแห่งนี้อีกด้วย รางวัลก็ของค่ายฝรั่งเศสเอง ดังนั้น สิ้นปีนี้ บัลลง ดอร สมัยที่ 7 ก็ไม่น่าจะหลุดไปอยู่ในมือนักเตะคนอื่นที่ไหนได้
บางคนให้ความเห็นว่า เปแอ๊สเช อาจละเมิด กฎควบคุมการเงินของ ยูเอ๊ฟฟ่า (UEFA Financial Fair Play Regulations - FFP) โดยเฉพาะสื่อของ สเปน เองที่ไม่ต้องการเห็น ลิโอเน็ล ไปเล่นให้กับสโมสรคู่ปรปักษ์ในเวทียุโรป เนื่องจากการเซ็นสัญญากับ ลิโอเน็ล จะมีปัญหาการเงินแบบเดียวกันกับ บารซา เพราะค่าจ้างนักเตะจะเกินเพดานค่าใช้จ่าย
กฎ FFP นั้น เพื่อตรวจสอบการใช้เงินของสโมสรฟุตบอลไม่ให้ทุ่มเงินเกินตัว จนเป็นหนี้และอาจล้มละลาย หลักคือต้องไม่ใช้จ่ายเงินมากกว่าที่สโมสรหาได้ อันนี้เขาพูดถึงค่าจ้างนักเตะ การชำระค่างวดการโอนย้าย และพวกค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงเงินปันผล แต่ไม่รวมพวกค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ฝึก หรือการพัฒนาเยาวชน แล้วจะนำไปคำนวณเปรียบเทียบกับ รายได้จากตั๋วเข้าชมในสนาม ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ โฆษณา การขายสินค้าที่ระลึก เสื้อผ้า การจำหน่ายสินทรัพย์ การเงิน การขายนักเตะ และ เงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันรายการต่างๆ
การมาของ ลิโอเน็ล เม้สซี่ นั้น เปแอ๊สเช ก็คาดหวังเงินก้อนใหญ่มหาศาลที่จะได้รับจากตั๋วเข้าชมการแข่งขันในสนาม สป็อนเซ่อร์โฆษณา การขายสินค้าที่ระลึก โดยเฉพาะเสื้อแข่ง ซึ่งไม่เห็นว่าจะมีปัญหาใดเลยเกี่ยวกับเรื่องกฎ FFP โดยเฉพาะการจ่ายค่าจ้างให้ ลิโอเน็ล ถึงประมาณปีละ 35 ล้าน เออโร ผมอยากจะย้ำว่า ลิโอเน็ล หมดสัญญากับ บารซา แล้วนะครับ ไม่เหมือนกับตอนที่ซื้อ เนย์มาร มาร่วมทีม ทางสโมสรต้องควักเงินให้ บารซา ถึง 222 ล้าน เออโร ตอนที่ซื้อขาด คีเลียน เอ็มบัปเป (Kylian Mbappé) จาก โมนาโก (AS Monaco) ก็ต้องจ่าย 180 ล้าน เออโร แต่สำหรับการเซ็นสัญญากับ ลิโอเน็ล ตัดปัญหาเรื่องค่าโอนย้ายที่แพงมากๆไปได้เลย ไม่มีอะไรต้องจ่าย
นอกจากนั้น ยูเอ๊ฟฟ่า เองก็กำลังมีนโยบายผ่อนปรนกฎ FFP เนื่องจากการที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญกับปัญหา โควิด-19 ทุกคนต้องประสบปัญหาการเงินทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ผมว่า วันที่เหมาะสำหรับ เปแอ๊สเช ในการเปิดตัว ลิโอเน็ล เม้สซี่ น่าจะเป็นวันพรุ่งนี้ เพราะเป็นวันก่อตั้งสโมสรที่เกิดจากการรวมตัวของ 2 สโมสรคือ สต๊าด แซ็ง-แชรมานัว (Stade saint-germanois) ที่ก่อตั้งในปี 1904 กับ ปารี ฟุตบอล คลับ (Paris Football Club) ที่ก่อตั้งในปี 1969 เข้าด้วยกันในชื่อใหม่ ปารี แซ็ง-แชรแม็ง ในวันที่ 12 สิงหาคม 1970 ครบรอบ 51 ปีพอดีครับ