xs
xsm
sm
md
lg

งีบอย่างไร...ตื่นแล้วไม่ง่วง แถมความจำดีขึ้นอีกด้วย / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“อย่าเพิ่งไปปลุกมันเฮีย..เดี๋ยวครบ 20นาทีก่อน เดี๋ยวผมปลุกมันเอง” พี่หมอเอ่ยห้ามคุณชูสง่าขณะทำท่าจะปลุกเจ้าเก่ง ที่แอบงีบหลับหลังมื้อเที่ยง “มันกินแล้วนอนจนอ้วนเป็นหมูตอนแล้ว...เอ๊!แล้วทำไมต้อง 20 นาทีด้วยล่ะหมอ?” เฮียชูสงสัยเรื่องที่พี่หมอให้เวลาเจ้าอ้วนหลับ 20 นาที “งีบ20นาที ตื่นมาจะได้กระปรี้กระเปร่าไม่งัวเงียมึนงงไงครับ” เฮียชูฟังคำตอบพี่หมอแล้วกลับมึนเสียเองทั้งๆที่ไม่ได้งีบ นึกในใจว่า “...ก็กูเห็นมันง่วงซึมทั้งวัน”

งีบกี่นาทีมีผลต่อสมองอย่างไร? หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า การนอนงีบนั้นทำให้สมองปลอดโปร่งขึ้น และเป็นผลดีมากๆเวลาเตรียมสอบ หรืออ่านหนังสือ และโดยทั่วไปเวลาในการงีบจะอยู่ที่ 10-20นาที อยากรู้ไหมว่าเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น นักวิจัยได้แบ่งการงีบออกเป็นช่วงๆ โดยมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันตามระยะเวลาดังนี้

1.งีบหลับ 10-20 นาที เป็นระยะเวลานอนที่เพิ่มพลังงานและความสดชื่น เพราะเวลาเพียงแค่ 10-20 นาที จะทำให้การนอนของเราอยู่ในช่วง non rapid eye movement (NREM) ของ sleep cycle จะเหมาะสำหรับคนที่จะตื่นขึ้นมาแล้วกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง สมองโปรดโปร่ง สามารถลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่ได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ค่อยมีอาการสะลึมสะลือเท่าไรนัก เขาจึงเรียกการงีบในระยะเวลานี้ว่า “power nap”

2.งีบ 30 นาที การงีบนอนครึ่งชั่วโมง กลับไม่เป็นผลดีต่อเรานัก นักวิจัยบอกว่าหลังจากตื่นขึ้นมาอาจจะมีอาการมึนๆงงๆยังง่วงๆอยู่ อาจปวดหัวนิดหน่อยด้วย (เหมือนคนที่เพิ่งสร่างเมา) และอาการนี้กว่ามันจะหายไปก็อีกประมาณ 30 นาที จะเห็นว่าแค่รอนาทีที่เพิ่มขึ้นมาก็ส่งผลที่แตกต่างกันแล้ว

3.งีบ 60 นาที การหลับประมาณ 1 ชั่วโมง จะส่งผลดีต่อการจำ เพราะว่ามันเป็นการนอนที่อยู่ในช่วง Slow wave sleep ซึ่งเป็นช่วงการหลับที่ลึกที่สุด แต่ผลข้างเคียงของมันก็คือตื่นมาจะมึนๆงงๆเบลอๆอยู่ช่วงหนึ่ง เหมือนงีบ30นาที แต่หลังจากอาการหายไปความจำของเราก็จะดีขึ้น เหมาะสำหรับพวกที่ต้องอ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำก่อนสอบ

4.90 นาที เป็นระยะเวลาการนอนที่ครบรอบ sleep cycle ซึ่งมีทั้งการนอนหลับลึกกับหลับสบายๆไม่ลึกนัก รวมทั้ง REM stage (Rapid eye movement) ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราก็จะฝันในช่วงนี้ การนอนในระยะเวลาช่วงนี้ ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆจะแล่นเข้ามาได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือช่วยให้ความจำดีขึ้น โดยเฉพาะความทรงจำด้านทักษะ การนอนแบบนี้ พอตื่นขึ้นมาก็จะกระปรี้กระเปร่า ไม่งัวเงีย เหมือนการงีบ 2 แบบก่อนนี้

รู้หรือไม่ว่าคนเก่งๆอัจฉริยะดังๆหลายท่านก็มักจะใช้การงีบหลับบ่อยๆแทนการนอนหลับจริงๆ เช่น โทมัส เอดิสัน เลโอนาโด ดาวินชี อับบราฮัม ลินคอล์น นโปเลียน จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น