คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
“ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ยากดีมีจน ให้ ไซโก้ พิสูจน์เวลา” เป็นเสียงบรรยายในสป็อทโฆษณานาฬิกายี่ห้อ “เซอีโก” (Seiko) ของ ญี่ปุ่น ที่ผมได้ยินทางโทรทัศน์ตอนเด็กๆ ซึ่งนับถึงตอนนี้ก็ไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ความจริงคนคิดคำโฆษณานี้ได้แรงบันดาลใจมาจากสำนวนจีน “ทางไกลทำให้รู้กำลังม้า กาลเวลาทำให้รู้ใจคน” ซึ่งหากเป็นภาษาอังกฤษก็คงใช้คำว่า “As distance tests a horse’s strength, so time reveals a person’s heart” ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 60 นาฬิกายี่ห้อนี้โด่งดังไปทั่วโลกด้วยความสำเร็จหลังจากถูกใช้เป็นนาฬิกาจับเวลาและแสดงผลอย่างเป็นทางการใน โอลิมปิค เกมส์ 1964 ที่ กรุงโตเกียว เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก
หลังจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 จบลงในปี 1945 ญี่ปุ่น ไม่ต้องการเป็นปฏิปักษ์ที่ที่น่าสะพรึงกลัวในสงครามกับใครอีกแล้ว แต่มุ่งสร้างประเทศให้โงหัวขึ้นมาใหม่ในเวทีโลกโดยเน้นที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 10 กว่าปี จนได้รับความไว้วางใจจากชาติต่างๆโหวทให้ กรุงโตเกียว เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โอลิมปิค เกมส์ ครั้งที่ 18 ในการประชุม คณะกรรมการโอลิมปิคสากล ครั้งที่ 55 ที่ เมืองมิวนิค เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1959 เหนือ ดีทร้อยท์ เวียนนา และ บรัสเซ็ลส์ โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันต้องการให้ มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ เป็น โอลิมปิคฉบับญี่ปุ่น (Japan-made Olympics) และ โอลิมปิคแห่งความรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Olympics) ด้วยการผสมผสานความร่วมมือทางอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ
ก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ปี 1932 สวิส ดูแลเรื่องการจับเวลาและแสดงผลอย่างเป็นทางการใน โอลิมปิค เกมส์ มาตลอด คราวนี้เป็นโอกาสของ ญี่ปุ่น ซึ่ง โชจิ ฮัตโตริ (Shoji Hattori) ประธานของ เซอีโก ซึ่งยังไม่เคยผลิตนาฬิกาเพื่อใช้ในวงการกีฬา แค่ผลิตนาฬิกาใช้บอกเวลาทั่วไป ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่จากความร่วมมือกันของทั้ง 3 บริษัทลูกที่ต่างแบ่งความรับผิดชอบไปคนละแขนง เริ่มพัฒนากันตั้งแต่ปี 1961 ทั้งนาฬิกาจับเวลา อุปกรณ์บันทึกเวลา แผ่นสัมผัสจับเวลาสำหรับกีฬาว่ายน้ำ (Touchpads) รวมทั้ง นาฬิกาและอุปกรณ์ขนาดยักษ์สำหรับผู้ชมในสนาม รวมเป็นอุปกรณ์เวลาต่างๆกันได้ 36 ชนิด รวมทั้งหมด 1,278 ชิ้น งานนั้นใช้บุคลากร 172 คนเข้าควบคุมเวลาจนประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้นาฬิกายี่ห้อ เซอีโก มีชื่อเสียง ขายดีไปทั่วโลกนับแต่นั้น
โตเกียว 1964 ยังเป็นมหกรรมกีฬาที่ทำให้ชาวโลกได้รู้จัก “ชิงกันเซ็ง” (the Tōkaidō Shinkansen) รถไฟความเร็วสูงรายแรกของโลกโดยฝีมือของชาวญี่ปุ่น อันนี้ก็เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นเขาซะส่วนใหญ่ การคมนาคมก็ต้องวิ่งอ้อมไปอ้อมมาใช้เวลามาก ชิงกันเซ็ง เล่นเจาะเขาหรือทำสะพานวิ่งข้ามไปเลย ด้วยความเร็วและรูปลักษณ์ของมันจึงทำให้ได้รับฉายา “รถไฟหัวกระสุน” (Bullet train) วิ่งระหว่าง สถานีโตเกียว กับ ชิน-โอซากะ ระยะทาง 515 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง ในขณะที่รถไฟปกติต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง 40 นาที เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1964 ก่อนเริ่ม โตเกียว 1964 เพียง 9 วันเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน ชิงกันเซ็ง สายดังกล่าวมีผู้โดยสารเฉลี่ยปีละ 143 ล้านคน เขาพัฒนาจนมี 7 สายในปัจจุบันและกำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 4 สาย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1962 เขาจับเวลาได้ความเร็ว 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2015 สายชูวโอ ชิงกันเซ็ง (Chūō Shinkansen) ทำเวลาได้ 603 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือเป็นสถิติโลก
โอลิมปิค เกมส์ หนนั้นยังเป็นครั้งแรกด้วยที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านดาวเทียมไปยัง สหรัฐ อเมริกา และหลายประเทศในทวีปยุโรป โดยไม่ต้องใช้วิธีบันทึกลงเทปแล้วค่อยส่งไปทางเครื่องบินอีกต่อไป ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลารอชมเป็นวันทีเดียว
สำหรับ โตเกียว 2020 หนนี้เจอพิษ โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนมาถึงปีนี้ โดยจะเริ่มขึ้นในอีก 2 วัน และต้องแข่งขันแบบไร้ผู้ชมในสนาม พร้อมทั้งมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายอีกมากมาย งานนี้เจ้าภาพขาดทุนหนักอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นจ้าวแห่งเท้คนอลอจี้ของโลก ญี่ปุ่น คงต้องมีนวัตกรรมให้ชาวโลกได้ทึ่งอย่างแน่นอน ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ การถ่ายทอดการแข่งขันด้วยความคมชัดสูงมาก เราคุ้นเคยกับภาพระดับ 4K อยู่แล้ว แต่สำหรับ โตเกียว 2020 ทาง โซนี่ (Sony) และ พานาซอนิค (Panasonic) ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ NHK จัดถ่ายทอดการแข่งขันให้มีความคมชัดถึงระดับ 8K อันหมายถึงภาพขนาด 7,680 x 4,320 คือ 33.18 ล้าน พิกเซ็ลส์ มันชัดกว่ามองของจริงตรงหน้าเสียอีก ซึ่งโทรทัศน์ที่รองรับความคมชัดขนาดนี้ก็มีวางจำหน่ายแล้วด้วยครับ