xs
xsm
sm
md
lg

ฟุตบอลอังกฤษไม่ใช่ปลายทางของเรา / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

มีข้อพิสูจน์ให้เห็นมาไม่น้อยกว่า 5 ทศวรรษแล้วว่า ฟุตบอลอังกฤษไม่อาจตะเกียกตะกายไปให้ถึงดวงดาวได้สักหน นี่ก็เพิ่งพลาดหวังกับ ยูโร 2020 ถ้วยใบใหญ่สุดของทวีปยุโรป ทั้งๆที่มีความได้เปรียบทีมอื่นๆขนาดหนัก แม้ได้ชื่อว่ารายการนี้จัดการแข่งขันใน 11 สนาม 11 ประเทศกระจายไปทั่วทั้งทวีป แต่ อังกฤษ ก็ได้สิทธิ์ลงแข่งในบ้านตนเองแทบทุกนัดราวกับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแต่เพียงชาติเดียวด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปยัง ฟุตบอลโลก 1966 ที่ อังกฤษ คว้าถ้วย ชุล รีเม (Jules Rimet) มาได้ด้วยการเอาชนะ เจอรมานี ตะวันตก ในนัดชิงชนะเลิศ 4-2 อันนั้น ก็มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นการตัดสินผิด เพราะประตูขึ้นนำ 3-2 ที่ เจ๊ฟฟรี่ เฮิร์สท์ (Geoffrey Hurst) ยิงได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษหลังจากที่เสมอกันในเวลา 2-2 นั้น ลูกบอลยังไม่ได้ข้ามเส้นประตูเข้าไปเลย แต่ ก็อทฝรีด ดีนสท์ (Gottfried Dienst) ผู้ตัดสินชาวสวิส ดันเป่าให้เป็นประตูเฉยเลย

ในเรื่องของฟุตบอลเขาบอกว่า ถ้าบอลไม่ผ่านเส้นประตูทั้งใบเห็นๆ จะมาทึกทักว่า ลูกนั้นเป็นประตูไม่ได้ แม้แนวโน้มบอลกำลังจะเข้าประตูอยู่แล้ว ดันมีบุคคลอื่นหรือสัตว์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมวิ่งมาชนบอลออกไปก่อนก็ตาม ผู้ตัดสินก็จะให้เป็นประตูไม่ได้ หลังจากผู้ตัดสินให้ลูกนั้นเป็นประตู รูปเกมย่อมเปลี่ยนไปจน อังกฤษ มาได้อีกเป็นประตูปิดท้าย ประวัติศาสตร์ ฟุตบอลโลก 1966 เปรอะเปื้อนถูกบิดผันความจริง หนังสือพิมพ์ของ เจอรมานี ตะวันตก ฉบับวันรุ่งขึ้นยังพาดหัวข่าวว่า อังกฤษ ชนะ เจอรมานี ตะวันตก 2-2 เป็นอันว่า แช้มพ์โลก 1966 อันถือเป็นความสำเร็จในรายการระดับเมเจ้อร์รายการเดียวของ อังกฤษ ก็ เฟ้ค (Fake)

เรื่องการดูถูกเหยียดเชื้อชาติทั้งต่อผิวดำและผิวเหลืองนั้น ความจริงหลายชาติในทวีปยุโรปก็แอบมีกันเยอะทีเดียว แม้จะเคยเกรงกลัวไม่กล้ากระทำกันอย่างเปิดเผย กระนั้นล่าสุดการเหยียดผิวก็ถูกระดมใส่อย่างหนักไม่เว้นแม้แต่กับขุนพลนักเตะของชาติตนเองแท้ๆ เมื่อพากันยิงจุดโทษพลาด ทำ อังกฤษ ชวดแช้มพ์ ยูโร 2020 ทั้ง มาร์เคิ้ส แร้ชเฝิร์ด (Marcus Rashford) กับ บูกาโย ซากา (Bukayo Saka) 2 นักเตะเชื้อสายไนจีเรีย รวมทั้ง เจเดิ้น ซานโช (Jadon Sancho) ปีกความเร็วสูงที่เป็นความหวังทีมชาติอังกฤษ วัยเพียง 19 ปี เชื้อสาย ตรีนีแดด แอนด์ โตเบโก ต่างก็รับไปเต็มๆ

นักเตะไทยเองก็มักจะไม่ได้รับโอกาสเล่นใน เพรอมิเอ ลีก เพราะ อังกฤษ สร้างเงื่อนไขกีดกันนักเตะต่างชาตินอกทวีปยุโรปเอาไว้สารพัด อ้างโน่นอ้างนี่ เช่น ต้องได้เล่นทีมชาติมากี่เพอร์เซ็นท์ นี่ถ้าองค์กรธุรกิจไม่ได้ขนเงินมาเป็นสป็อนเซ่อร์อย่างหนักหรือเศรษฐีต่างชาติไม่ได้เป็นเจ้าของทีมเสียเอง ชาตินี้ก็คงไม่อาจช่วยพัฒนาฝีเท้านักเตะของชาติตนด้วยการยัดนักเตะเข้าสังกัดได้ นี่เป็นการกีดกันเชื้อชาติขนานแท้ทีเดียว ในขณะเดียวกัน อังกฤษ ก็ขยันขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันลีกภายในของตนเองไปทั่วโลก เขาเก่งมากในเรื่องการตลาด การสร้างภาพลักษณ์ และการบริหารจัดการ ซึ่งพี่ไทยก็ยังขยันซื้อมาฉายให้แฟนบอลได้ติดตามชมด้วยราคาแสนแพง ทั้งๆที่ฟุตบอลของเขาก็ไม่ใช่ระดับสุดยอดของโลกอย่างที่เราถูกกรอกหูมาเป็นเวลานาน

เราเคยทดลองแนวทางของ เจอรมานี บราซิว มาตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว แนวทางของ สเปน ก็เคยแล้ว ความจริงก็ไม่เลวนักหรอก โค้ชชาวอังกฤษ เซรเบีย ก็เคยมาหมดแล้ว เอาเป็นว่าหลากหลายแนวทาง ล่าสุดเอาโค้ช ญี่ปุ่น ที่เคยคุมทีมไปฟุตบอลโลกก็ไม่ได้เรื่อง ผมกำลังบอกว่า แนวทางฟุตบอลที่เหมาะกับนักเตะไทยคือ ฝรั่งเศส อัลโด ปลาตีนี (Aldo Platini) พ่อของ มีเช็ล ปลาตีนี สอนลูกชายของตนเองว่า “เอ็งต้องรู้ก่อนนะว่า จะให้บอลใคร ก่อนที่เอ็งจะได้รับบอล” นี่เป็นปรัชญาที่สร้างความสำเร็จให้เจ้าของรางวัล บัลลง ดอร (Ballon d’Or) 3 สมัยซ้อน และแนวทางการเล่นของทีมชาติฝรั่งเศส อย่างน้อยเขาก็เป็นแช้มพ์โลกมา 2 สมัย ไม่ใช่ชาติที่วืดแช้มพ์รายการระดับใหญ่มาหมดแบบ อังกฤษ ที่แม้แต่แช้มพ์ที่คุยว่าได้มาครองรายการเดียวนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งอีก ฟุตบอลอังกฤษไม่ใช่ปลายทางของเรา ไม่ว่าวิธีการเล่น โค้ชชิ่ง รวมทั้งการติดตามชม เพรอมิเอ ลีกภายในประเทศของเขาก็ไม่ใช่ต้นแบบที่เราควรเอาอย่างครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น