คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
หลังมื้อเที่ยงอันอิ่มหนำสำราญ เจ้าเก่งนอนขึ้นอืดสภาพไม่ผิดงูเหลือมที่สวาปามเหยื่อจนท้องป่อง “ตื่นๆ..ไอ้ตัวกินนอน” คุณชูสง่าเข้ามาปลุกเมื่อเห็นรถพี่หมอแล่นมาจอดหน้าบ้าน “ไปเปิดประตูให้หมอหน่อย..วันนี้มาช้าเลยอดกินขาหมูตรอกซุงเลย”...
“สวัสดีครับเฮีย...วันนี้รถติดอะไรก็ไม่รู้...ร้อนก็ร้อน” พี่หมอแจงเหตุมาช้าจนอดกินขาหมู “ผมหิวเลยกินแทนพี่หมอ เพราะคิดว่าไม่มาแล้ว” ไอ้เด็กอ้วน แก้ตัว “หิวหรืออยากจ๊ะ?...ระวังพุงแตกนะ” “ทำไงอ่ะพี่อยากลดแต่เห็นแล้วมันอยากไปหมดเลย” “พี่บอกมึงหลายครั้งแล้วก็ไม่เชื่อ ไปให้อจ.สง่า ดามาพงษ์ เจ้าพ่อโภชนาการแนะนำดีกว่า รับรองลดอ้วนได้แน่”
สำรวจตัวเอง กินเพราะ “หิว” หรือกินเพราะ “อยาก” ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็เจอแต่ร้านอาหาร ที่มีเมนูอาหารสวยๆเก๋ๆ น่ากินไปเสียทุกอย่าง หากเราจะลองกินสักครั้งก็ไม่ผิดอะไร แต่ถ้ากินบ่อยๆ กินเป็นประจำจนชิน โรคอ้วนและโรคบริวารก็จะตามมา และหากเราไม่เริ่มจัดการกับอารมณ์อยากของตัวเองตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่รู้ร่างกายในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำองค์ความรู้หลัก 3 อ. คืออาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ มาใช้เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัย กินอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มการออกกำลังกายและใช้อารมณ์ในการเอาชนะตนเองของเพื่อสุขภาพที่ดี โดยการจัดกิจกรรมต่อยอดจากแคมเปญลดพุงลดโรคมาทำภารกิจ “ท้าคุณเปลี่ยน” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆมาดูแลผู้ร่วมแข่งขัน ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการเรียนรู้ในการปรับใช้อารมณ์ของตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมกับการมีสุขภาพที่ดี
ด้านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และที่ปรึกษาด้านโภชนาการบอกว่า อารมณ์เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการขับเคลื่อนให้เรามีกำลังใจในการออกกำลังกาย ลดความอยากอาหารที่นอกเหนือจากมื้อหลัง แต่ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด เช่น “วันนี้ฝนตกไม่มีอารมณ์ไปออกกำลังกาย เปลี่ยนเป็นวันนี้ฝนตกออกกำลังกายที่บ้านก็ได้ไม่เป็นไร” หรือ “น่ากินไปหมด แต่ตอนนี้อิ่มแล้ว ไม่เอาดีกว่า” อาจารย์สง่าบอกว่าการตัดสินใจนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอารมณ์เป็นตัวตั้ง หากเรามีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนักต้องรู้จักวิธีการปรับอารมณ์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองด้วย อีกหนึ่งมุมมองคือ การมีสุขภาพที่ดีนั้น เมื่อเราแก่ตัวไปจะไม่ตกเป็นภาระของลูกหลาน แต่ต้องแข็งแรงเพื่อดูแลลูกหลาน และต้องปรับเปลี่ยนชีวิตที่เหลือไม่ให้เป็นวันที่สูญเปล่า แต่การมีสุขภาพที่ดีต้องไม่ฝืนไม่กดดันตัวเอง ทำเท่าที่เราทนไหว เริ่มจากเปลี่ยนจากเดินเป็นเดินเร็ว จากเดินเร็วเป็นจ๊อกกิ้ง
- สิ่งที่ทำให้เราลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน มีดังนี้
1.ลดอาหารขยะ เช่น น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว อาหารทอด และอาหารจานด่วน ซึ่งมีแคลอรี่สูง
2.รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะมื้อเช้า เป็นมื้อสำคัญที่จะสร้างพลังงาน ให้มีแรงทำงาน
3.ไม่ควรรับประทานอาหารไปพร้อมกับการทำกิจกรรมอย่างอื่น เพราะจะทำให้กินมากกว่าปกติโดยไม่รู้ตัว
4.เคี้ยวอาหารให้ช้าลง เพราะถ้าเคี้ยวเร็ว เราจะกินได้มากขึ้น
5.งดขนมหวาน เครื่องดื่มน้ำอัดลม ตอนกลางคืน เพราะร่างกาย จะไม่เผาผลาญทำให้เกิดไขมันส่วนเกิน
6.รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ เพื่อช่วยสร้างกากใยในการขับถ่าย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
7.เลือกการกินอาหารจากธรรมชาติ เลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ถั่ว
8.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำผัก ผลไม้ที่คั้นสด
9.ดื่มน้ำเปล่าให้เป็นนิสัย อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะช่วยให้มีน้ำหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ
การมีสุขภาพที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ต้องสร้างวินัยให้กับตนเอง อย่าปล่อยให้อารมณ์นำการกระทำ แต่จงเปลี่ยนอารมณ์เป็นความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น