คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
เริ่มแรกมันคงเป็นแค่วลีประชดประชัน เนื่องจากผู้กุมอำนาจไม่ให้ความสำคัญต่อผู้คน ทำเหมือนกับว่าพวกเขาไม่มีตัวตน จะทำอะไรก็ได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องด้วย สาเหตุที่เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นก็เพราะ เอ็งปฏิเสธไม่ให้แกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองได้รับการประกันตัว บวกกับประสิทธิภาพของรัฐที่ต่ำมากในการจัดการเรื่องวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับ COVID-19 ที่ใช้วิธีผูกขาด ไม่ให้สิทธิ์ในการเลือกยี่ห้อที่ไม่มีผลร้ายต่อร่างกาย สกัดกั้นไม่ให้เอกชนสั่งซื้อเข้ามาเอง แถมชักช้าจนผู้คนมากมายต้องสังเวยชีวิต มันมีอะไรไม่ธรรมดาเอามากๆกับผู้กุมอำนาจกลุ่มนี้ ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าชีวิตที่นี่มันไม่โอเคแล้ว อยากไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้ จนเกิดกลุ่มใหม่ในเฟ้สบุ๊คในชื่อ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่ถึงตอนนี้มีสมาชิกร่วม 7 แสนคนแล้วหลังจากเปิดมาได้เพียง 3-4 วัน ซึ่งล่าสุดเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย
การไม่ให้ความสำคัญต่อผู้คนหรือแฟนๆบางครั้งก็ออกมาในรูปของการกระทำในสิ่งที่เกินเลย จนลืมนึกไปว่าพวกเขาก็คือผู้ให้การสนับสนุน เกิดผลมาจนถึงเงินรายได้แก่พวกตนด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของบ้านเมืองหรือวงการกีฬาที่ออกมาในลักษณะของการประท้วงขับไล่ หรือไล่อย่างไรก็ไม่ไปจึงนำมาซึ่งการชักชวนกันย้ายออกไปเอง ไม่อยากอยู่ร่วมกันอีกแล้ว ผมจึงสงสัยว่า ใครควรเป็นผู้กล่าววลีนี้กันแน่ จะอะไรก็ตามก็ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ผู้กุมอำนาจกำลังใกล้สู่จุดจบทั้งนั้น อย่างเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แฟนๆสโมสรที่ไม่พอใจต่อตระกูล กเลเซ่อร์ (Glazer) ผู้บริหารจาก สหรัฐ อเมริกา ของ แมนเช้สเต้อร์ ยูนายถิด (Manchester United FC) ได้บุกไปยังสนาม โอลด์ แทร้ฟเฝิร์ด (Old Trafford) เพื่อประท้วงขับไล่ผู้บริหาร จนทำให้เกมแดงเดือดกับ ลิเว่อร์พูล วันนั้นต้องถูกยกเลิกไป
พวกเขาทำราวกับเกลียดชังและต้องการบีบบังคับให้ ตระกูลกเลเซ่อร์ ขายทีมทิ้งแล้วกลับ สหรัฐอเมริกา ไปเลย โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แฟนบอลสามารถตรวจสอบการบริหารงานของทีม เพิ่มอำนาจการมีส่วนร่วม ให้ถอดผู้บริหารออกแล้วตั้งคนใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ พวกกเลเซ่อร์ เข้าไปอยู่ในบอร์ดบริหารเพื่อทำประโยชน์ให้แฟนบอลไม่ใช่ให้เจ้าของทีม ให้แฟนบอลถือหุ้นสโมสรจะได้มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น และลดทอนอำนาจของตระกูล กเลเซอร์ ซึ่งอำนาจตัดสินใจสูงสุดในเรื่องสำคัญก็ต้องให้สิทธิ์แก่ผู้ถือตั๋วปีด้วย
แม้ว่าใน อังกฤษ จะอนุญาตให้มีนายทุนจากที่ไหนก็ได้เข้ามาครอบครองสโมสรฟุตบอลของตนไม่เหมือนใน เจอรมานี ที่คุณต้องมีส่วนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ถ้าเอ็งมาเพื่อกอบโกยเงินกำไรและผลประโยชน์เป็นหลัก โดยไม่สนใจความต้องการของชาวเมืองและมองข้ามความต้องการของพวกเขา มันก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาขนาดใหญ่ ในที่สุดนายทุนก็อาจอยู่ไม่ได้
เมื่อราว 4 ปีที่แล้ว สามี-ภรรยา เศรษฐีชาวไทยคู่หนึ่งเชิญผมไปหารือเกี่ยวกับเรื่องสโมสรฟุตบอล ลิล (Lille OSC) ของ ฝรั่งเศส รวมทั้งสภาพทั่วๆไปของเมืองนี้ เพราะตอนนั้นพวกเขากำลังจะซื้อสโมสรนี้ จึงต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวเมือง ลิล และนำไปเป็นข้อพิจารณาว่า อะไรที่ทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้สามารถอยู่เป็นเจ้าของทีมโดยไม่ถูกต่อต้านจากชาวเมือง ซึ่งผมก็ตอบไปว่า ตามธรรมดาหากนายทุนต่างชาตินำเงินเข้าไปกอบกู้วิกฤตของสโมสรที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก โดยไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม อัตลักษณ์ หลักๆของพวกเขา ช่วยนำความสำเร็จมาสู่สโมสร สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวเมือง โดยมิได้เฝ้าแต่กอบโกยกำไรหรือผลประโยชน์ทางการเงินอย่างเดียว ชาวเมืองก็ย่อมยินดีต้อนรับอยู่แล้ว
นี่หากตอนนั้นพวกเขาตกลงใจซื้อสโมสร ลิล จริงๆ ป่านนี้คงกระโดดโลดเต้นไปแล้ว เพราะใน ลีก เอิง ฤดูกาลนี้ ซึ่งเหลือการแข่งขันอีกเพียง 3 นัด ลิล กำลังนำเป็นจ่าฝูง มีโอกาสสูงมากที่จะคว้าแช้มพ์ลีกสูงสุดของ ฝรั่งเศส ที่มาพร้อมกับโควต้า ยูเอ๊ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่มอีกด้วย สำหรับสาเหตุที่พวกเขาตัดสินใจไม่ซื้อสโมสรดังกล่าวก็คงเป็นเพราะ คำตอบของผมต่อคำถามข้อสุดท้ายนั่นเอง พวกเขาถามว่า แล้วทางสโมสรจะมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินที่นำมาซื้อสโมสรหรือไม่ ผมตอบว่า แน่นอนครับ เดี๋ยวนี้ทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกาต่างก็มีกฎหมายบังคับ ทำให้เขาก็ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเป็นเงินที่มาจากธุรกิจสุจริต สามารถแสดงที่มาที่ไปได้ ไม่ใช่การฟอกเงิน มิเช่นนั้นเขาก็ต้องรับโทษด้วย ความคิดในการซื้อสโมสรจึงถูกยกเลิกไป ผมจึงสงสัยว่า พวกเขาต้องการรู้เรื่องเมืองและสโมสรหรือแค่โยนหินถามทางเรื่องการตรวจสอบที่มาของเงินกันแน่ครับ