กระโดดเชือก (Jump rope)...เทรนด์ใหม่ของกีฬาสายเฮลท์ตี้
โดย ดร.ดารินทร์ กำแพงเพชร กรรมการสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย
ถ้าเอ่ยถึงคำว่า “กระโดดเชือก” หลายคนมักนึกไปถึงการละเล่นพื้นบ้านที่คุ้นเคยกันมานาน หรือมีเชือกเส้นหนึ่งก็โดด ๆ เล่น ๆ ก่อนไปออกกำลังกายชนิดอื่น แต่ช้าก่อน!!!!! รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันนี้กระโดดเชือกได้รับบรรจุเป็นกีฬาและมีการจัดการแข่งขันทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติแบบเป็นเรื่องเป็นราวแล้วนะ นึกไม่ถึงกันละสิ!!!! ทั้งนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้บรรจุให้กระโดดเชือก หรือ “จัมพ์โร้ป” (Jump Rope) เป็นกีฬาชนิดล่าสุด โดยมีสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย (Thai Jump Rope Sport Association) ทำหน้าที่กำกับเรื่องกติกาการแข่งขัน และรูปแบบประเภทการแข่งขันที่เป็นสากล ซึ่งในประเทศไทยมีจัดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานมาแล้วกว่า 12 ปี แต่ในปี 2563 ที่ผ่านมาด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จึงไม่สามารถจัดการแข่งขันในสนามปกติได้ แต่ก็ยังมีการจัดแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในชื่อรายการว่า “Thai Jump Rope Virtual Challenge 2020” เพื่อส่งเสริมให้คนทั่วไปหันมาออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือก และเป็นโครงการแรกของวงการกีฬาจัมพ์โร้ปที่จัดโดยรูปแบบ “Virtual Challenge” เพื่อให้ทุกคนท้าทายความสามารถของตนเองด้วยการ “กระโดดก้าวข้ามขีดจำกัด” (Jump Beats Your Limit!!) ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็เป็นประชาชนทั่วไปไม่จำกัดอายุ และจะได้รับเสื้อที่ระลึก เหรียญรางวัลที่ถือว่าเป็นเหรียญแรกของโลก และของประเทศไทย (The 1st Jump Rope Virtual Challenge Medal) อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติ และก็คาดหมายว่าจะเป็นกีฬาสาธิตในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2021 อีกด้วย สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทยก็ได้ดำเนินการส่งนักกีฬาทีมชาติไปแข่งในรายการต่าง ๆ ได้รับเหรียญรางวัลมาแล้วมากมาย โดย ดร.ณัชพล ตันเจริญ นายกสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทยได้ให้ข้อมูลเรื่องการแข่งขันในระดับนานาชาติว่า แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามอ้างอิงกฎของสมาพันธ์กีฬาจัมพ์โร้ปนานาชาติ (International Jump Rope Union) หรือ IJRU คือ แบบสปีด (Speed), แบบฟรีสไตล์ (Free Style) และแบบดับเบิลดัตช์ (Double Dutch) แต่ที่เรามักรู้จักและคุ้นเคยก็คือแบบสปีด ซึ่งเป็นการกระโดดแบบสลับขา และนับจำนวนครั้งในเวลา 30 วินาที หรือ 180 วินาที เป็นต้น ซึ่งการจัดการแข่งขันนี้ทางสมาคมฯ จะเป็นผู้กำกับดูแลทั้งกติกาและรูปแบบการแข่งขันให้เป็นมาตรฐานสากลนั่นเอง
พักเรื่องการแข่งขันระดับนานาชาติไว้ก่อน หากสนใจรายละเอียดสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย เค้ามีข้อมูลเพียบเลยจ้า ย้อนกลับมาที่การออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกนั้น สายเฮลท์ตี้ควรเข้ามาปูเสื่อรอฟังด่วน!!!!!! เพราะการกระโดดเชือกสามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าการวิ่งจ๊อกกิ้ง แถมยังใช้เวลาที่น้อยกว่าและสามารถออกกำลังกายได้ทุกที่อีกด้วย ที่สำคัญในขณะที่เรากระโดดนั้น ร่างกายจะบังคับให้เรายืดตัว ยืดกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ส่วนสูงเพิ่มมาอีกประมาณ 2 นิ้ว (ในช่วงวัยเติบโต) และอีกสารพัดประโยชน์ เช่น ช่วยให้ระบบหายใจดีขึ้น กระดูกแข็งแรงขึ้น ฝึกสมาธิไปในตัว สำหรับมือใหม่นั้น ก่อนกระโดดแนะนำให้อบอุ่นร่างกายยืดกล้ามเนื้อ (Warm Up) ร่างกายด้วยการกระโดดเชือก 8-10 ครั้ง ก่อนพักซัก 1 นาที สักประมาณ 3-4 เซ็ต เพื่อบอกร่างกายว่ากำลังจะกระโดดเชือกแล้ว จากนั้นก็กระโดดยาว ๆ ได้เลย โดยวิธีที่ถูกต้อง คือให้ใช้ปลายเท้าลงพื้น ไม่ใช่ส้นเท้า เพราะการลงในจังหวะที่ถูกต้องจะช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณขาส่วนล่างได้ แถมยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ขาส่วนล่างได้อีกด้วย โดยเฉพาะเอ็นร้อยหวาย และควรกระโดดเชือกให้ต่ำที่สุด ระยะที่เหมาะสมคือ กระโดดสูงจากพื้นไม่เกิน 2 นิ้ว ส่วนท่าทางก็มีหลากหลาย ตั้งแต่กระโดดเฉย ๆ กระโดดแยก-หุบขา รวมถึงกระโดดยกขาสูง เพื่อเพิ่มความเหนื่อยและความสนุกให้กับการกระโดดอีกด้วย ปัจจุบันประเภทของเชือกที่ใช้กันแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เชือกสปีด (Speed Rope) หรือเชือกกระโดดแบบเบา ที่เหมาะกับผู้ใช้ระดับเริ่มต้น กับเชือกนักมวย (Weight Rope) หรือเชือกกระโดดแบบมีน้ำหนัก เหมาะกับผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญระดับหนึ่งแล้ว และต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อเป็นหลัก แต่เชือกกระโดดที่ใช้แข่งขันในระดับนานาชาติจะมีหลายรูปแบบแบ่งตามรายการแข่งขันต่าง ๆ และใช้ไม่เหมือนกับเชือกทั่วไป ส่วนขั้นตอนต่อมาก็คือการทำความรู้จักการใช้งานเชือก ก็ต้องทำให้ถูกวิธีด้วย เช่น ไม่ยืดเชือกอยู่ตลอดเวลา เพราะเสี่ยงที่จะทำให้บริเวณข้อต่อนั้นหลุดออกจากกันได้ นอกจากนี้ถ้าอยากได้เชือกกระโดดที่ Advance กว่านั้น ปัจจุบันก็มีเชือกกระโดดที่สามารถเชื่อมต่อกับ Smartphone และวัดรอบของการกระโดดให้ผู้ใช้ได้เช่นกัน ในปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่น (Application) ให้เลือกโหลดเลือกใช้มากมายทั้งแบบฟรีและเสียเงิน สามารถติดตามหรือหาข้อมูลการกระโดดที่ถูกต้องได้ทางเพจสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย (https://www.facebook.com/JumpropeTH/)
อย่างที่บอกไปแล้วว่ากระโดดเชือกสามารถออกกำลังกายได้ทุกที่ ถ้าจะให้ปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ขอชวนมากระโดดเชือกกันดีกว่า และสามารถถ่ายคลิปวีดีโอการกระโดดแบบเท่ ๆ มาอวดกันทางโซเซียลมีเดียได้อีกด้วย เป็นกิจกรรมออกกำลังกายได้ทุกที่ทุกเวลาและไม่เปลืองเงินด้วยล่ะ
สัปดาห์หน้า จะเป็นการนำเสนอรายการแข่งขันกระโดดเชือกในรูปแบบดับเบิลดัตช์ (Double Dutch) ที่หลายคนในประเทศไทยยังอาจไม่รู้จัก ว่ามันคืออะไรหนอ แต่ในต่างประเทศมีการกระโดดที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมมาก หลายคนคงผ่านตาหรืออาจเคยเห็นโฆษณาของค่าย Apple ที่มีคนแกว่งเชือก 2 เส้น และมีคนกระโดดตรงกลาง นั่นแหละเป็นการกระโดดแบบ Double Dutch คูลมั้ยล่ะ!!!! ในประเทศไทยเราก็มิได้น้อยหน้าประเทศอื่นเลยนะ เรามีการพัฒนาการกระโดดรายการนี้แล้วเหมือนกัน ติดตามรายละเอียดสัปดาห์หน้า