xs
xsm
sm
md
lg

มหาสงคราม ซุพเพ่อร์ ลีก กับ ยูเอ๊ฟฟ่า / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ต่อจากนี้ไป นักเตะคนไหนจะย้ายสโมสรก็ต้องบอกเอเจ้นท์ของตนให้ดูให้ดีว่า สโมสรเป้าหมายในทวีปยุโรปนั้นอยู่กับลีกไหน ยูเอ๊ฟฟ่า (UEFA) หรือ เอ๊สแอ็ล (European Super League - S.L.) เพราะขืนย้ายมั่วๆ พิจารณาแค่ค่าตัว รายได้ ผลประโยชน์ ก็อาจชวดเล่นให้ทีมชาติ หมดสิทธิ์ทั้งฟุตบอลโลกและฟุตบอลยุโรป อันเป็นโอกาสโชว์ฝีเท้าให้แฟนบอลทั่วโลกได้เห็น เพราะนั่นมันคือแผนการตอบโต้มหาสงครามระหว่าง องค์กรที่กำกับดูแลฟุตบอลแห่งทวีปยุโรป กับ กลุ่ม 12 สโมสรยักษ์ใหญ่ผู้มั่งคั่ง

การถือกำเนิดของ ซุพเพ่อร์ ลีก ก็เพราะสโมสรยักษ์ใหญ่อยากได้รายได้มากกว่าสโมสรเล็กๆ ทำให้ผมนึกถึง กำเนิดของ อิงก์ลิช เพรอมิเอ ลีก (English Premier League) ตั้งแต่ฤดูกาล 1992-93 อันนั้นก็เป็นเรื่องเงินส่วนแบ่งที่ได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันเป็นเหตุผลสำคัญ โดยบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ใน ดิวิเชิ่น 1 ลีกสูงสุดของอังกฤษตอนนั้นไม่พอใจที่เงินรายได้ดังกล่าวต้องถูกเฉลี่ยแบ่งปันให้กับทุกๆสโมสรทั้ง 4 ดิวิเชิ่น คิดว่าพวกตนต่างหากที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดแฟนบอล คนส่วนใหญ่ไม่อยากดูลีกระดับต่ำๆหรอก พวกเขาจึงไม่ยอมเทียบรุ่นเทียบชั้นกับลีกระดับรอง ไม่ยอมอยู่เป็นหัวแถวให้ แต่ต้องการแยกตัวออกมาให้ชัดเจน แล้วไปยืมคำว่า “เพรอมิเอ” จากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ที่ 1 (first) มาใช้ เหมือนกับอยู่ในอีกมิติหนึ่งของตนเอง ผลประโยชน์รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันก็แบ่งปันกันเองภายในลีกเดียวนี่แหละ ไม่ต้องแบ่งใครอีก ทีมตกชั้นก็หลุดมิติออกไป ทีมขึ้นชั้นก็ข้ามมิติเข้ามา

ความอยากมีอยากได้ของสโมสรยักษ์ใหญ่ผู้มั่งคั่งที่ต้องได้มากกว่าสโมสรเห่ยๆลุกลามไปถึงชาติอื่นๆในทวีปยุโรป เกิดการรวมตัวกันของบรรดาสโมสรชั้นนำจาก อังกฤษ สเปน อิตาลี เจอรมานี ฝรั่งเศส เนเธ่อร์แลนด์ส และ ปอรตูเกา ในชื่อ จี-14 (G-14) ในปี 1998 กลุ่มดังกล่าวนับว่าทรงพลังจน ยูเอ๊ฟฟ่า และ ฟีฟ่า ต้องหันไปเจรจาด้วย นอกจากที่เคยมีข่าวแพล็มๆออกมาว่าจะจัดลีกของตนเองมาแล้ว สโมสรดังๆเหล่านี้มักจะมีนักเตะระดับทีมชาติสังกัดอยู่ พวกเขาเรียกร้องเงินชดเชยจาก ฟีฟ่า และ ยูเอ๊ฟฟ่า ได้จนเป็นผลสำเร็จในกรณีที่นักเตะของตนต้องไปรับใช้ทีมชาติในฟุตบอลโลกและฟุตบอลยุโรป รวมทั้ง ในกรณีได้รับบาดเจ็บอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังการเจรจากับ ยูเอ๊ฟฟ่า และ ฟีฟ่า ในปี 2008 กลุ่ม G-14 ก็ประกาศสลายตัวและเกิดเป็น สมาคมสโมสรยุโรป (European Club Association - ECA) ขึ้นมาแทน ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิก 103 สโมสรจาก 53 ชาติยุโรป

มาวันนี้ กลุ่มซุพเพ่อร์ ลีก อวดอ้างว่า เตรียมจัดเงินจำนวน 3.5 พันล้าน ยูโร ที่จะได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันและสป็อนเซ่อร์เพื่อมอบให้แก่สโมสรสมาชิกเอาไว้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสโมสรและเป็นเงินชดเชยผลกระทบจาก Covid-19 ซึ่งนับว่าสูงกว่าที่ ยูเอ๊ฟฟ่า เคยจัดให้สำหรับการแข่งขันทั้ง แชมเปี้ยนส์ ลีก ยูโรป้า และ ซุพเพ่อร์ คัพ รวมกัน 3.2 พันล้าน ยูโร อันนี้เป็นตัวเลขที่ได้จากฤดูกาล 2018-19 ก่อนวิกฤต COVID-19 ครับ ยิ่งผมฟังจาก ฟร้องส์แอ็งโฟ (Franceinfo) สำนักข่าวของฝรั่งเศส ยิ่งคุยเว่อร์กว่านั้นอีก ข่าวบอกว่า ซุพเพ่อร์ ลีก เสนอเงินล่อใจให้แต่ละสโมสรๆละ 350 ล้าน เออโร ต่อปี ด้วยซ้ำ ในขณะที่ ยูเอ๊ฟฟ่า มีให้เพียง 90 ล้าน เออโร ต่อปี และเป็นไปตามผลงานที่ผ่านมาของสโมสรซะด้วย

ผมยังมีข้อที่น่าสงสัยว่า จากจำนวน 20 สโมสรในระบบลีกดังกล่าว 12 สโมสรผู้ก่อตั้งมีชื่อปรากฏให้ทราบทั่วไปแล้วนั้น แต่ทีมตัวยืนในลีกมี 15 ทีม แสดงว่า ยังคงมีอีก 3 ทีมที่ยังไม่ประสงค์จะออกนาม ขอรอดูความสำเร็จของ ซุพเพ่อร์ ลีก ก่อน แสดงว่ายังมีสโมสรระดับบิ๊กที่ไม่ค่อยมั่นใจในโพรเจ็คท์ดังกล่าว

ส่วนอีก 5 ทีมรับเชิญนั้น ซุพเพ่อร์ ลีก ต้องขอดูผลงานในฤดูกาลที่ผ่านมา แล้วใครจะกล้ามา ในเมื่อโปรแกรมมันซ้อนกับของ ยูเอ๊ฟฟ่า แถมความสม่ำเสมอก็ไม่แน่นอน ใช่ว่าจะได้เข้าร่วมทุกปี ไปๆมาๆ มันจะกลายเป็นสร้างความมั่งคั่งให้แค่ 15 สโมสรตัวยืนเท่านั้น ส่วนสโมสรอื่นๆก็จะกลายเป็นเพียงแค่ไม้ประดับ อย่างไรก็ตาม คำขู่ของ ยูเอ๊ฟฟ่า และ ฟีฟ่า เรื่องลงโทษสโมสรที่ร่วม ซุพเพ่อร์ ลีก รวมทั้ง นักเตะก็จะถูกตัดออกจากทีมชาตินั้นจะสามารถกระทำได้จริงหรือไม่ เพราะมันจะไปขัดกับกฎหมายของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวกับการแข่งขันกันอย่างยุติธรรมหรือห้ามการผูกขาดหรือไม่ ซึ่งกำลังเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดกันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น