xs
xsm
sm
md
lg

"ทริพเพิ่ล คราวน์" มายังไง / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

คัดมา 3 รายการที่ถือว่าสำคัญที่สุด หินสุดๆ เลอเลิศกว่านี้ไม่มีแล้ว ต้องมีฝีมือจริงๆจึงได้มา และเป็นการแข่งขันที่มีเงินรางวัลสูงมากเป็นเดิมพันด้วย ใครคว้าชัยรายการดังกล่าวมาได้ก็ถือว่าได้ระดับ ทริพเพิ่ล คราวน์ (Triple Crown) ซึ่งเดิมนั้นมันถูกใช้เรียกในการแข่งม้าใน อังกฤษ มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ต่อมาจึงนิยมนำคำนี้มาใช้เรียกชัยชนะในการแข่งขันกีฬาหรือกิจกรรมอื่นๆที่ถือเป็นสุดยอดของสาขานั้นๆด้วย

ย้อนกลับไปในปี 1853 มีการแข่งม้าที่นับว่ายิ่งใหญ่อยู่ 3 รายการคือ การแข่งม้าเดิมพัน 2,000 กีนีส์ (2,000 Guineas Stakes) ที่สนามม้า นิวมาร์เข็ท (Newmarket Racecourse) ใน ซัพเฝิค (Suffolk) ด้วยม้าสายพันธุ์แท้ อายุ 3 ปี ระยะทาง 1 มายล์ (Mile) หรือ 1,609 เมตร (Mètre) ที่มักจัดขึ้นราวปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม

รายการดังกล่าวตั้งเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะไว้ 2,000 กีนี อันนี้เป็นชื่อสกุลเงินเก่าที่ใช้ใน เกร๊ท บริเทิ่น หรือที่เราเรียกว่า บริเทนใหญ่ ช่วงปี 1663-1814 ซึ่งถือเป็นการปั๊มเหรียญออกใช้เป็นเงินครั้งแรกเลย โดยผสมทองคำแท้เข้าไปด้วยประมาณ 1/4 อาวน์ส (Ounce) ทองคำดังกล่าวขุดได้จากแถบอัฟริกาตะวันตกที่ชื่อ กีนี เขาจึงเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อสกุลเงิน เหรียญหนึ่งมีค่าเทียบเท่า 1 พาวน์ด หรือ 20 ชิงลิ่ง (Shilling) ซึ่งต่อมาทองคำมีค่าสูงขึ้นจึงเทียบใหม่เป็น 21 ชิงลิ่ง

แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะเลิกผลิตเหรียญดังกล่าวแล้ว แต่คำว่า กีนี นี้ก็ยังถูกใช้เรียกอยู่ เช่น ค่าธรรมเนียมในวงการแพทย์หรือกฎหมาย ซึ่งจะถูกเรียกเก็บเงินเป็น กีนี รวมทั้ง ในวงการแข่งม้า แข่งหมา ดังนั้น การแข่งม้าเดิมพัน 2,000 กีนี ก็คือ การแข่งขันม้าชิงเงินรางวัล 2,100 พาวน์ดส ในยุคนั้นนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบัน เขาจะให้เป็นเงินรางวัลที่มีค่าเทียบเท่า โดยในปี 2019 รายการนี้จัดเงินรางวัลรวม 523,750 พาวน์ดส ใครเข้าวินก็จะได้รับ 297,019 พาวน์ดส

รายการนี้แหละครับที่ ร้อค อ๊อฟ จิ๊บร็อลต้าร์ (Rock of Gibraltar) ม้าที่ เซ่อร์ อเล็กซ์ เฟอร์เกิ๊สเซิ่น (Sir Alexander Chapman Ferguson) อดีตผู้จัดการทีม แมนเช้สเต้อร์ ยูนายถิด ซึ่งโปรดปรานกีฬาแข่งม้าเป็นชีวิตจิตใจเป็นเจ้าของร่วมกับ ซูเซิ่น แม็กเนียร์ (Susan Magnier) เคยส่งเข้าแข่งในปี 2002 และเข้าวินเป็นที่ 1 เสียด้วย จนเมื่อ ร้อค อ๊อฟ จิ๊บร็อลต้าร์ ปลดระวาง ทั้งสองฝ่ายดันมีเรื่องแย่งกรรมสิทธิ์ม้ากันจนต้องนำคดีไปถึงศาล

รายการที่ 2 คือ เดอะ ดาร์บี้ (The Derby) ที่สนามม้า เอ๊พซ็อม ดาวน์ส (Epsom Downs Racecourse) ใน เซอร์รี่ย์ (Surrey) ระยะ 1 มายล์ 4 เฟอร์ลอง กับอีก 6 หลา หรือ 2,423 เมตร ระยะทางที่เรียกว่า เฟอร์ลอง (Furlong) นั้น เป็นหน่วยวัดแบบเก่าของอังกฤษที่เรียกว่า หน่วยวัดอิมพีเรียล (Imperial units) กำหนดโดย พระราชบัญญัติน้ำหนักและมาตรวัด ปี 1824 เพื่อใช้แทน มาตรฐานการวัดแบบวินเช้สเตอร์ (Winchester Standards) ที่ใช้ระหว่างปี 1588-1825

ระยะ 1 เฟอร์ลอง คือความยาวเทียบเท่า 1/8 มายล์ หรือ 660 ฟี้ต (Feet) หรือ 220 หลานั่นเอง อันนี้ เทียบเท่ากับ 40 ไม้วัดโบราณที่เรียกว่า รอด (Rod) และถือว่าเท่ากันแบบเป๊ะๆกับ 10 โซ่ ที่มีความยาว 66 ฟี้ตหรือ 22 หลา หลายคนฟังแล้วอาจเครียดกับมาตรวัดแบบโบราณที่ใช้กันเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา เอาเป็นว่า 1 เฟอร์ลองก็คือระยะประมาณ 201 เมตรนั่นแหละครับ ในปี 2020 รายการนี้จัดเงินรางวัลมอบให้รวม 491,850 พาวน์ดส โดยผู้ชนะได้รับ 283,550 พาวน์ดส

อีกรายการคือ เซ้นท์ เล้เจ้อร์ สเต๊คส์ (St Leger Stakes) จัดขึ้นในเดือนกันยายนที่ ด็อนแค้สเต้อร์ (Doncaster Racecourse) ใน ย้อร์คเชอร์ (Yorkshire) ระยะ 1 มายล์ 6 เฟอร์ลอง กับอีก 115 หลา หรือ 2,921 เมตร ทางไกลกว่ารายการอื่นๆ รายการนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี 1776 นับเป็นรายการเก่าแก่ที่สุดในบรรดาการแข่งม้าดังๆของ อังกฤษ งานนี้เขาจัดเงินรางวัลเยอะมาก ในปี 2019 ยอดรวม 700,000 พาวน์ดส โดยผู้เข้าวินที่ 1 รับไปเนื้อๆ 396,970 พาวน์ดส

อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้น หลังจากนั้น ทริพเพิ่ล คราวน์ ก็ถูกนำไปใช้บ่งบอกความเป็นระดับสุดยอดของรายการกีฬา รวมทั้ง กิจกรรมอื่นๆด้วย เช่น ในวงการการแสดง หมายถึง ผู้ชนะรางวัลในวงการภาพยนตร์ (Academy Award) วงการโทรทัศน์ (Emmy Award) และวงการละครเวที (Tony Award) ในวงการกีฬาอื่นๆก็มีเยอะมากหลายชนิดกีฬา โดยเฉพาะ สนุ้กเก้อร์ ที่ผู้ที่คว้าชัยรายการระดับ ทริพเพิ่ล คราวน์ จะได้รับสิทธิ์ปักสัญลักษณ์อยู่ที่หน้าอกเสื้อ มาต่อสัปดาห์หน้านะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น