xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ. หนุนยกเหล็กไทยต่อเนื่อง หวังสร้างชื่อเวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดบริหาร กฟผ. พร้อมสนับสนุนสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ต่อเนื่อง เพื่อให้กีฬายกน้ำหนักของไทย ประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก ต่อไป นำมาซึ่งชื่อเสียงของประเทศ โดยเตรียมนัดวันลงนามเอ็มโอยู (MOU) ร่วมกัน ในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ วางแผนสร้างสายเลือดใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 8 ปี เก็บตัวนักกีฬาล่วงหน้า 4-5 ปี เพื่อผลักดันไปยูธโอลิมปิกเกมส์ อย่างแข็งแกร่ง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้การบริหารของ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ พร้อมหนุนสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้จอมพลังทีมชาติไทย ก้าวไปประสบความสำเร็จในเวทีระดับนานาชาติ เหมือนเช่นที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ชั้น 20 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 

นายปรัชญา กีรตินันท์ นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการบริหารฯ ร่วมหารือกับ ผู้แทนจากกฟผ. ประกอบด้วย นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม, นายนิมิต สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม-2, น.ส.เกษณภา มหารัตนวงศ์ หัวหน้ากองกิจการเพื่อสังคม และ นางธัญชนก บัวทองสุข พนักงานวิชาชีพระดับ 8 ถึงแนวทางการทำงานของ 2 หน่วยงานภายใต้การบริหารของผู้ว่าการกฟผ.คนใหม่ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ซึ่งรับตำแหน่งไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา


นายชัยวุฒิ กล่าวว่า บอร์ดบริหารของกฟผ. ยังพร้อมสนับสนุนสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการร่างเอ็มโอยู ( MOU) หากเสร็จเรียบร้อยเมื่อใด จะได้มีการนัดวันเพื่อลงนามความร่วมมือกันต่อไป กฟผ. ต้องการที่จะเห็นกีฬายกน้ำหนักเป็นที่นิยม และมีกลุ่มแฟนกีฬาชาวไทยร่วมชมร่วมเชียร์ให้มากขึ้นกว่านี้ เนื่องจากยกน้ำหนัก เป็นกีฬาที่ประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กฟผ. และสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ จะได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน นายปรัชญา ยังได้เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ 8 ปี ในการเตรียมนักกีฬาระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะนักกีฬายุวชน เพื่อร่วมแข่งขันยูธโอลิมปิก ซึ่งจะต้องมีการเฟ้นหาเยาวชนมาเก็บตัวอย่างจริงจังล่วงหน้า 4-5 ปี เพราะ 2 ปีแรกนั้นจะเป็นการพัฒนาร่างกาย เทคนิคต่าง ๆ จากนั้นปีที่ 3 และ 4 จะเริ่มส่งแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนควอลิฟายและเมื่อถึงปีที่ 5 เด็กเหล่านั้นจะอายุ 17 ปี ก็จะพร้อมแข่งขันต่อไป

สำหรับ กฟผ. นับเป็นผู้สนับสนุนหลักของสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งในปีแรกนั้น สนับสนุนงบประมาณจำนวน 7,000,000 บาท โดยใน โอลิมปิก ครั้งที่ 28 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ จอมพลังไทย ทำผลงาน 2 เหรียญทอง 2 เหรียญทองแดง จากนั้นในโอลิมปิกครั้งต่อ ๆ มา จอมพลังไทยก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้อย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น