xs
xsm
sm
md
lg

หน้ากากทั้ง 7 ของ "นาโอมิ โอซากะ" วีรสตรีคนใหม่ผู้นำต่อต้านเหยียดผิว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หน้ากากที่ โอซากะ ใส่ทั้ง 7 รอบใน ยูเอส โอเพ่น
กลับมาผงาดอย่างเต็มภาคภูมิสำหรับ นาโอมิ โอซากะ ที่คว้าแชมป์เทนนิสแกรนด์สแลม "ยูเอส โอเพ่น" จากการชนะอดีตมือ 1 ของโลกอย่าง วิคตอเรีย อซาเรนก้า จากเบลารุส 2-1 เซต 1–6, 6–3, 6–3 โดยถือเป็นแชมป์รายการนี้สมัยที่ 2 ต่อจากปี 2018 และเป็นถ้วยสแลมใบที่ 3 ในชีวิตอีกใบคือ "ออสเตรเลียน โอเพ่น" เมื่อปี 2019

เรียกได้ว่าวงการเทนนิสหญิงที่อยู่ในช่วงขาลงเช่นนี้ โอซากะ คือความหวังเดียวก็ว่าได้ เพราะบรรดาซูเปอร์สตาร์ก่อนหน้านี้ก็ค่อยๆ หมดไฟโรยราไปทีละคน โดยเธอเพิ่งจะอายุ 22 ปีเท่านั้น หากยืนระยะกอบโกยความสำเร็จรับรองว่าจะต้องสร้างตำนานได้แน่นอน เนื่องจากมองดูแล้วแทบไม่มีใครขวางทางทั้งคลื่นลูกใหม่รวมถึงคลื่นลูกเก่า อย่าง เซเรนา วิลเลียมส์ วัย 38 ปีก็เหลือแค่รอทำสถิติคว้าสแลมสูงสุดก็น่าจะแขวนแร็กเก็ตแล้ว

โอซากะ คว้าแชมป์ ยูเอส โอเพ่น 2020
ทว่าไม่ใช่แค่บนคอร์ตเท่านั้นที่กำลังเป็นที่จับตามอง แต่ล่าสุด โอซากะ ได้ผุดบทบาทใหม่ให้กับตนเอง โดยได้แสดงจุดยืนชัดเจนผ่านศึก "ยูเอส โอเพน" ที่สนาม ฟลัชชิ่ง เมโดว์ส ทั้ง 7 รอบที่เพิ่งผ่านสายตาทุกคนไป โดยแต่ละรอบสาวน้อยคนนี้ได้สวมหน้ากากที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการธรรมดาที่ใครๆ ก็ต้องทำกัน แต่หน้ากากแต่ละอันได้ถูกสกรีนชื่อคนผิวสีที่เสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรมทั้ง 7 คนเรียงกันไปในแต่ละรอบที่ลงสนามจนคว้าแชมป์ได้ในที่สุด

โอซากะ คือหนึ่งในคนที่เข้าร่วมขับเคลื่อน Black Lives Matter (BLM) หลังจากไม่พอใจที่ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีรายหนึ่ง เสียชีวิตจากการที่ถูกตำรวจใช้เข่ากดคอจนขาดอากาศหายใจทั้งที่มีการร้องขอชีวิตแล้วด้วยประโยคที่ว่า "i can t breathe" จากนั้นก็มีกรณีเช่นนี้คล้ายๆ กันเกิดขึ้นอีกหลายครั้งจนสหรัฐอเมริกาเกิดม็อบประท้วงไปทุกหย่อมหญ้า

โอซากะ กับครอบครัวที่พ่อเป็นเฮติแม่เป็นญี่ปุ่น
ตอนนี้ทุกคนต่างยกย่องให้ โอซากะ ขึ้นแท่น "วีรสตรีที่ต่อต้านความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ" ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแรงกระเพื่อมนี้ไม่ใช่แค่ในประะเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังส่งต่อไปยังเอเชียที่เธอเกิดขึ้นมาก็คือเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เดิมทีนั้นทวีปเอเชียไม่ค่อยสนใจเรื่องการเหยียดผิวโดยเฉพาะคนผิวสี ส่วนหนึ่งก็เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว

คาซูโยชิ โฮโซยะ ที่ต้องการได้ภาพ โอซากะ ตอนคว้าแชมป์ "ยูเอส โอเพ่น 2020" จึงได้ออกไปหาซื้อหนังสือพิมพ์เพื่อเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ตอน โอซากะ ชนะฉันกระโดดด้วยความดีใจ เพราะได้ยินว่าเธอกำลังพยายามผลักดันเรื่องการเหยียดผิว โดยแสดงออกด้วยการใช้หน้ากากทั้ง 7 แบบ สิ่งนี้มันน่าอัศจรรย์มากที่เธอสามารถใช้ได้ครบทุกอัน เพราะถ้าตกรอบก่อนก็ไม่เกิดขึ้น"

ภาคภูมิใจในความผิวสีของตัวเธอเอง
นอกจากนี้ โอซากะ ได้กลายเป็นไอคอนของคนญี่ปุ่นไปแล้ว โดยสาวน้อยวัย 16 ปีอย่าง มาริ มาเอดะ เผยว่า "ฉันมีความสุขอย่างมาก เพราะ โอซากะ กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในด้านนี้ไปแล้ว ข้อความของเธอไม่ได้ถูกส่งแค่สหรัฐอเมริกา แต่ตอนนี้ไปทั่วโลกรวมถึงญี่ปุ่นด้วย"

"ฉันคิดว่ามีหลายคนไม่สนใจเรื่องการเหยียดผิว รวมถึงตัวเองด้วยก่อนหน้านี้ แต่ โอซากะ ได้เป็นคนจุดมันขึ้นมา แม้จะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ตาม ทว่าจริงๆ แล้วมันคือประเด็นที่ควรนำมาถกกัน" มาซาเตรุ ทานิโมโตะ พนักงานรายหนึ่ง กล่าวทิ้งท้าย

หลายคนแสดงความเป็นห่วงพร้อมมองว่า โอซากะ ควรที่จะมีสมาธิกันการเล่นเทนนิส แต่เหตุที่เธอไม่อยู่เฉยกับเรื่องเหยียดผิวก็เพราะเข้าใจและรู้ซึ้งจากการที่เธอเป็นคนญี่ปุ่นผิวสี โดยมาจากการที่มีพ่อเป็นคนเฮติชื่อว่า เลโอนาร์ด ซาน ฟรองซัวส์ พบรักกับสาวแดนปลาดิบ ที่ชื่อ ทามากิ จนมีลูกด้วยกัน 2 คน อีกคนคือพี่สาวชื่อว่า มาริ

โอซากะ เปิดที่ญี่ปุ่นอายุได้เพียง 3 ขวบ ก็ได้ย้ายตามครอบครัวไปที่ ฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนเริ่มต้นเรียนเทนนิสที่ ฮารอลด์ โซโลมอน อินสทิทิว แม้ว่าจะเลือกได้ 2 สัญชาติ แต่พ่อของเธอตัดสินใจให้ลงทะเบียนกับสมาคมเทนนิสของญี่ปุ่น พร้อมเทิร์นโปรเมื่อปี 2013 ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานบทใหม่มาจนทุกวันนี้และรับรองว่าเรื่องเล่าของเธอจะไม่จบแค่นี้อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น