สมาคมกีฬาจักรยานฯ วางโปรแกรมแข่งขันทั้งระดับในประเทศ และระดับนานาชาติ ในรูปแบบ New Normal พร้อมยึดมาตรการหลัก 5 ข้อ ของ ศบค. อย่างเคร่งครัด ด้าน “พลเอกเดชา” เผยการแข่งขันระดับที่มีความเสี่ยงน้อย เตรียมจัดจักรยานประเภทลู่-ถนน-เสือภูเขา แข่งขันเฉพาะประเภทบุคคล ไม่จัดประเภททีม มีระยะห่างของนักกีฬาชัดเจน และไม่มีการปะทะ ส่วนระดับที่มีความเสี่ยงปานกลาง จัดแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์” และจักรยานประเภทลู่นานาชาติ “UCI Track Asia Cup” พร้อมสั่งการให้นักกีฬาทุกประเภทฝึกซ้อมได้แล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ 5 ข้อ ของ ศบค.
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากการที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับเชิญจากคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปร่วมประชุมเรื่อง “แนวทางการจัดการแข่งขันกีฬา ในสถานการณ์โควิด-19” ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงาน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ จากกรมควบคุมโรค ในฐานะเลขาธิการคณะทำงาน รวมทั้ง “รองตูน” นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย
พลเอกเดชา กล่าวว่า ในที่ประชุม นายณัฐวุฒิ รองผู้ว่าการ กกท. ได้ชี้แจงว่า กกท. วางแผนการผ่อนปรนด้านกีฬาเอาไว้ 3 ประเภท คือ 1.การฝึกซ้อม, 2.การแข่งขันที่มีระบบควบคุมหรือระบบปิด, 3.การแข่งขันที่ใกล้เคียงกับความจริง โดยในด้านการจัดการแข่งขันก็แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1.กีฬาที่มีความเสี่ยงน้อย จะให้เริ่มแข่งขันได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้, 2.กีฬาที่มีความเสี่ยงปานกลาง จะเริ่มจัดแข่งขันได้ในเดือน ก.ค. และ 3.กีฬาที่มีความเสี่ยงสูง เริ่มจัดแข่งขันได้ในเดือน ส.ค. ส่วนการแข่งขันในระดับนานาชาติ ให้เริ่มจัดการแข่งขันในเดือน ต.ค. โดยให้แข่งขันแบบมีระบบควบคุม หรือแบบปิด ไม่มีคนดู แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ ณ เวลานั้นด้วย นอกจากนี้ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ประธานในที่ประชุม ได้กำชับมาว่า การจัดแข่งขันกีฬาต้องยึดมาตรการหลัก 5 ข้อ อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย 1.มีการตรวจวัดไข้ และทำความสะอาดสถานที่, 2.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า, 3.เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร, 4.จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์, 5.งดกิจกรรมรวมตัวหมู่มาก รวมทั้งให้สมาคมกีฬาจักรยานฯ ปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันบางประเภทให้เหมาะสม และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า ล่าสุด สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้พิจารณาแล้วว่าการแข่งขันจักรยานประเภทต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ต้องเน้นจัดแข่งขันเฉพาะประเภทบุคคล ไม่จัดประเภททีม ไม่มีการปะทะกัน สมาคมฯ จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันเป็นแบบ New Normal เรียบร้อยแล้ว จากนั้นได้ทำหนังสือพร้อมแนบเอกสารแผนการจัดการแข่งขันที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่แล้ว ส่งมอบให้ นายณัฐวุฒิ รองผู้ว่าการ กกท. และ นายแพทย์จักรรัฐ เลขาธิการคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายฯ เพื่อพิจารณาก่อนจะนำเสนอไปยังคณะทำงานชุดใหญ่ รวมทั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ต่อไป
สำหรับแผนการแข่งขันต่าง ๆ ที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ปรับปรุงใหม่ให้เป็นแบบ New Normal แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.การแข่งขันระดับภายในประเทศ ประกอบด้วย ประเภทลู่, ถนน และ เสือภูเขา ที่มีระดับความเสี่ยงน้อยที่สุด 2. การแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงระดับปานกลาง โดยมีรายละเอียดดังนี้ การแข่งขันระดับภายในประเทศ ที่มีความเสี่ยงน้อย ประกอบด้วย การแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ควีนส์สิรกิติ์” ประจำปี 2563 จะจัดแข่งขันเฉพาะประเภทบุคคลเท่านั้น มี 5 ประเภท ได้แก่ 1.ไทม์ไทรอัลบุคคล, 2.เปอร์ซูตบุคคล, 3.ไทม์ไทรอัล 200 เมตร บุคคล, 4. TCA สปรินท์ บุคคล, 5. One Lap สปรินท์ บุคคล ซึ่งการแข่งขันทั้ง 5 รายการที่จะจัดขึ้นนั้น จะมีการรักษาระยะห่างของนักกีฬา และไม่มีปะทะกัน ตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดการแข่งขันจำนวน 4 สนาม ดังนี้ สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย., สนามที่ 2 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ค., สนามที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค. และ สนามที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. ที่สนามเวลโลโดรม หัวหมาก ทั้ง 4 สนาม
การแข่งขันจักรประเภทถนนชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์ภูมิพล” และการแข่งขันจักรยานประเภทเสือภูเขาชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2563 สมาคมกีฬาจักรยานฯ กำหนดจัดการแข่งขันสนามที่ 3 ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. ซึ่งจัดในรูปแบบ New Normal เช่นเดียวกัน โดยจักรยานถนนจะจัดแข่งขันเฉพาะประเภทไทม์ไทรอัล (บุคคล) ปล่อยตัวนักกีฬาครั้งละ 1 คน เว้นระยะห่างกันคนละ 1 นาที ซึ่งนักกีฬาจะมีระยะทางห่างประมาณ 800 เมตร ส่วนจักรยานเสือภูเขา ประเภทดาวน์ฮิล (บุคคล) จะปล่อยตัวทีละคน เว้นระยะห่างกันคนละ 1 นาที นักกีฬาจะมีระยะทางห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร ประเภทครอสคันทรี่ (บุคคล) แข่งในรูปแบบไทม์ไทรอัล ปล่อยตัวทีละคน เว้นระยะห่างกันคนละ 1 นาที นักกีฬาจะมีระยะห่างกันประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป
“เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า การจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติ ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติชาย “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2020” และจักรยานทางไกลนานาชาติสตรี “วีเมนส์ ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2020” ภายใต้ชื่อรายการ “The Princess Maha Chakri Sirindhorn’s Cup Tour of Thailand 2020” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งการแข่งขันจักรยานประเภทลู่นานาชาติ รายการ “UCI Track Asia Cup” สำหรับการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ ทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ได้กำหนดวันเวลาการแข่งขันใหม่ดังนี้ ประเภทชาย “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2020” แข่งขันวันที่ 6-11 ต.ค. 63 เส้นทางจาก จ.สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานี รวมระยะทาง 1,045 กิโลเมตร ส่วนประเภทสตรี “วีเมนส์ ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2020” แข่งขันระหว่างวันที่ 14-16 ต.ค. 63 เส้นทางภายใน จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 261.90 กิโลเมตร ทั้งนี้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้จัดทำแผนการจัดการแข่งขันแบบ New Normal พร้อมร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข วางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด จากนั้นได้นำเสนอแผนดังกล่าวผ่านไปยัง ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอให้ ศบค. พิจารณาต่อไป
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า สำหรับการแข่งขันจักรยานประเภทลู่นานาชาติ รายการ “UCI Track Asia Cup” จากเดิมสมาคมกีฬาจักรยานฯ กำหนดจัดในช่วงต้นเดือน ต.ค.63 แต่เนื่องจากวันแข่งขันไปทับซ้อนกับการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์” ดังนั้นสมาคมฯ จึงยื่นเรื่องไปยัง ยูซีไอ ว่าจะขอจัดการแข่งขันในช่วงเดือน พ.ย.63 ซึ่งต้องรอคณะกรรมการฝ่ายจักรยานประเภทลู่ของ ยูซีไอ อนุมัติ คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร โดยสมาคมกีฬาจักรยานฯ ก็จะยังคงยึดแนวทางจัดแข่งขันในแบบ New Normal คือเน้นแข่งขันประเภทบุคคล และมีมาตรการป้องกันเข้มงวด 22 ข้อ หรือหากในช่วงเวลานั้นสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายจนเกือบเป็นปกติ ก็อาจจะจัดการแข่งขันเต็มรูปแบบ แต่ยังต้องมีมาตรการป้องกันเข้มงวดเหมือนเดิม
“เหตุผลที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะต้องจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่นานาชาติ UCI Track Asia Cup เนื่องจาก ยูซีไอ มีระเบียบออกมาว่า หากนักกีฬาจากประเทศใดที่มีคะแนนสะสมสูงจนได้สิทธิ์เป็นตัวจริงไปแข่งขันรายการ เวิลด์ คัพ และรายการ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ประเทศของนักกีฬาคนที่ได้สิทธิ์นั้น จะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันประเภทลู่ระดับนานาชาติ อย่างน้อยปีละ 1 รายการ ถ้าไม่มีการจัดแข่ง นักกีฬาคนนั้นจะถูกลดระดับให้เป็นตัวสำรองทันที ซึ่งที่ผ่านมา นักกีฬาที่เป็นความหวังอย่าง จาย อังค์สุธาสาวิทย์ ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ถ้าเราหวังจะผลักดันให้ จาย ผ่านการควอลิฟายได้โควต้าไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็จะต้องจัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่นานาชาติ UCI Track Asia Cup เพราะคะแนนที่ได้จากแข่งขันรายการ เวิลด์ คัพ และรายการ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ แต่ละสนามมีสูงมาก มีผลต่อเส้นทางการคัดเลือกไปโอลิมปิกเกมส์ 2024 เป็นอย่างมาก” พลเอกเดชา กล่าว
นอกจากนี้ พลเอกเดชา กล่าวเสริมอีกว่า ตอนนี้ตนเองได้สั่งการให้นักกีฬาทีมชาติไทยทุกประเภท ทั้งประเภทลู่ ถนน เสือภูเขา และบีเอ็มเอ็กซ์ ทำการฝึกซ้อมในสนามจริงได้ โดยยึดหลัก 5 ข้อของ (ศบค.) อย่างเคร่งครัด ในระหว่างการฝึกซ้อม ประกอบด้วย 1.มีการตรวจวัดไข้ และทำความสะอาดสถานที่, 2.สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า (ยกเว้นขณะฝึกซ้อม), 3.เว้นระยะห่างกัน (Social Distancing) อย่างน้อย 2 เมตรขึ้นไป 4.ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 5.งดการรวมตัวของคนหมู่มาก ป้องการรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้นักกีฬาจักรยานทุกประเภทได้ลงมือฝึกซ้อมกันแล้ว เพื่อเตรียมตัวเข้าแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม เป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 21 พ.ย.-2 ธ.ค.2564
“จากการที่เราได้เสาะหาข้อมูล ทราบว่านักกีฬาของเวียดนามได้ฝึกซ้อมและมีการแข่งขันภายในประเทศ ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหวังเป็นอันดับหนึ่งในกีฬาจักรยาน และกีฬาชนิดอื่น ๆ รวมทั้งการเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ด้วย สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จึงนิ่งนอนใจไม่ได้ จะต้องขับเคลื่อนให้นักกีฬามีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ยังไม่มีแผนดำเนินการเก็บตัวและฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาจักรยานก็ตาม เราจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อการเป็นเจ้าเหรียญทองจักรยานในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม เฉกเช่นเดียวกับที่เราเคยทำได้ 6 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง ได้เป็นเจ้าเหรียญทองจักรยานในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ให้จงได้” พลเอกเดชา กล่าวในตอนท้าย.