แฟนฟุตบอลน่าจะทราบกันดีว่า "ไชนีส ซูเปอร์ลีก" หรือลีกลูกหนังสูงสุดของประเทศจีน แต่ละสโมสรอัดเม็ดเงินการทำทีมเอาไว้สูงลิ่ว คว้าตัวนักเตะซูเปอร์สตาร์เข้ามาร่วมทีมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในโลกของตลาดนักเตะ
แต่ไฉนสโมสรในไชนีส ซูเปอร์ลีก เกือบทุกทีมกล้าที่จะยอมทุ่มเงินมหาศาลทั้งค่าตัวและค่าจ้าง เพื่อดึงเหล่ายอดแข้งเข้ามาร่วมทัพ เรื่องดังกล่าวมีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร มีด้านดีและด้านเสียอย่างไร ใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ พวกเขาทำไปเพื่ออะไร และอนาคตของฟุตบอลจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป เรามีโอกาสได้พูดคุยกับกูรูที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการฟุตบอลจีนมานาน อย่าง "อ.เอี่ยม" ศรัณยู ยงพานิช เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก "เล่าเรื่องบอลจีน" ที่จะมาบอกเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปในเรื่องนี้ให้ได้ทราบ
- จุดเริ่มต้นของการเริ่มทุ่มซื้อนักเตะราคาแพงใน "ไชนีส ซูเปอร์ลีก" ?
อ.เอี่ยม : "เหตุผลในการที่จีนทุ่มเงินซื้อนักเตะต่างชาติราคาแพงเข้ามา ถ้าจะมองในแง่บวกแน่นอนว่าเขาเป็นลีกที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ในช่วงราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ฟุตบอลจีนเป็นมหาอำนาจลูกหนังภายในปีค.ศ.2050 ในความคิดของพวกเขาก็คือการดึงนักเตะดังๆเข้ามา เป็นวิธีการที่จะทำให้ถึงเป้าหมายได้เร็วที่สุด แข้งเหล่านี้จะเข้ามาช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยพัฒนาฝีเท้าให้กับนักฟุตบอลจีน และนักเตะเยาวชนของพวกเขา"
"ส่วนอีกด้านหนึ่งมันจะมีเรื่องของคำว่า ธุรกิจฟุตบอล เข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งสโมสรดึงนักเตะที่มีค่าตัวแพงเข้ามามากเท่าไหร่ ค่าคอมมิชชั่นหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันก็เยอะตามไปด้วย มันก็จะมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่เขาไม่ได้สนใจเรื่องฟุตบอล แต่เขาสนใจในเรื่อของตัวเงินที่จะได้จากนักกีฬาพวกนี้เป็นสำคัญ ซึ่งคำถามนี้ถ้าถามแฟนบอล 10 คน 100 คน ก็คงตอบไม่เหมือนกัน เพราะมันตอบได้หลายด้าน"
- การทุ่มเงินแบบนี้สำหรับฟุตบอลจีนถือว่าบรรลุจุดประสงค์แค่ไหน ?
อ.เอี่ยม : "ผมมองว่าถ้าดูตามนโยบายของสมาคมฟุตบอลจีน ปีที่แล้วเขาตั้งเป้าว่าจะต้องเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายเอเชียน คัพ 2019 ให้ได้ ซึ่งเขาก็ไปถึงได้ เพราะฉะนั้นถ้ามองถึงวันนี้ ณ ตอนนี้พวกเขาก็ยังอยู่ในเส้นทาง แต่ในอนาคตมันจะประสบความสำเร็จจริงๆไหม ก็ต้องมองกันต่อไป เพราะทุกวันนี้ฟุตบอลจีนก็ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน เราจะเห็นว่าหลายครั้งฟุตบอลลีกของพวกเขามักจะเปลี่ยนกฎระหว่างทางอยู่เสมอ มันก็เป็นปัจจัยที่ต้องมาตอบกันในอนาคต ถ้าสิ่งที่เขาเปลี่ยนมันถูกต้องก็อาจจะสำเร็จได้ไวขึ้น"
"พวกเขาตั้งเป้าเป็นลำดับไปเรื่อยๆ เช่น ทีมชาติจีน ต้องผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายเอเชียน คัพ 2019 ให้ได้เป็นอย่างน้อย พวกเขาก็ทำสำเร็จนะ หรืออย่างสโมสรเมื่อไปแข่งเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ต้องผ่านเข้ารอบลึกๆ ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราวัดจากตรงนี้ในมุมมองผมเขาก็ยังอยู่ในเส้นทางอยู่ แต่ระหว่างทางเขาจะใช้กระบวนการหรือวิธีไหนมันก็อีกเรื่อง"
- ปัจจุบันเห็นหลายทีมทุ่มงบน้อยลง เกิดการ "ถังแตก" หรือเปล่า ?
อ.เอี่ยม : "หลักๆเลยเนี่ยคือสมาคมฟุตบอลจีนเขาออกกฎเรื่องของ Salary Cap หรือเพดานค่าจ้างขึ้นมา มันก็จะคล้ายๆกับกฎใน NBA หรือ NFL ซึ่งแน่นอนมันมีผลต่อการตัดสินใจของนักเตะดังๆที่ย้ายเข้ามาเหมือนสมัยก่อน กฎข้อนี้ออกมาเพื่อไม่ให้มีการทุ่มเงินมากจนเกินเหตุของเหล่ามหาเศรษฐีเจ้าของทีม อย่างในฤดูกาล 2020 จะเห็นว่าแข้งนอกที่มาเล่นในจีนจะกลายเป็นพวกเกรด B หรือ B+ ซะส่วนใหญ่ เพราะมันมีเรื่องของเพดานค่าจ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง
"ถามว่าถังแตกหรือเปล่า ผมมองว่าถ้าพูดถึงสโมสรในระดับไชนีส ซูเปอร์ลีก ยังไม่เข้าใกล้กับคำว่าถังแตกเลยนะ พวกเขายังใช้จ่ายได้สบาย แต่ในระดับลีกวัน ลีกทู ลงมา ก็อาจจะมีบ้าง อย่างปีล่าสุดในลีกล่างก็มีล้มหายตายจากไปราวๆ 6-7 ทีม จากทั้งหมด 3 ลีก ตรงนี้มันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน สมัยที่ฟุตบอลจีนปรับปรุงโครงสร้างใหม่ มันก็มีนักธุรกิจที่กระโดดเข้ามาใช้ฟุตบอลในการพัฒนาธุรกิจของเขาเอง เข้ามาเพื่อจะได้ผลประโยชน์ทางอ้อม ในวันหนึ่งพอมันไปไม่ไหวมันก็ยุบออกไป สมาคมฟุตบอลจีนจะมีการตรวจสุขภาพทางการเงิน ทุกๆปีจะมีทีมที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะถูกตัดสิทธิ์ออกไป ซึ่งจะย้ำอีกครั้งว่าฟุตบอลจีนยังไม่เฉียดกับคำว่าถังแตกเลย"
- รัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุ่มซื้อนักเตะราคาแพงหรือไม่ ?
อ.เอี่ยม : "ถ้าถามว่ารัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนในเรื่องนี้ไหม ก็ต้องตอบว่ามี เพราะว่าหลายสโมสรโดยเฉพาะในลีกสูงสุดถือว่าเป็นทีมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เมื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การตรวจสอบมันก็ต้องมี บางทีมเจ้าของครึ่งหนึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล แน่นอนพวกนี้ก็ต้องเอาเงินมาสนับสนุน เช่น ซานตง หลู่เหนิง ก็เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ในเมื่อสโมสรมีถิ่นฐานอยู่ที่ซานตง เขาก็มีเม็ดเงินจากภาครัฐมาสนับสนุน เราจะเห็นได้ว่าทีมใหญ่ๆ มีเม็ดเงินมหาศาล เพราะว่าเขามีหน่วยงานของรัฐบาลเข้ามาหนุน แต่มันก็มีการตรวจสอบอยู่เหมือนกัน ง่ายๆคือเกือบทุกทีมจะมีหน่วยงานของรัฐ หรือกึ่งรัฐกึ่งเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมด้วยแน่นอน"
"ยกตัวอย่าง กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ เจ้าของเขาเป็นเอกชนเต็มตัว ธุรกิจหลักๆคืออสังหาริมทรัพย์ และยังทำเกี่ยวกับประกันสุขภาพ น้ำดื่ม รถยนต์ ฯลฯ อย่างที่บอกไปในคำถามก่อน มันจะมีกลุ่มคนบางกลุ่มเข้ามาลงทุนในฟุตบอลเพื่อหวังผลประโยชน์ทางอ้อม ซึ่งตามแนวทางแล้วรัฐบาลหนุนฟุตบอลให้เป็นนโยบายหลักของชาติ ดังนั้นนักธุรกิจเวลาเขาทำธุรกิจ เขาก็ต้องมีทางสะดวกจากรัฐบาล การที่เขามาลงทุนในสิ่งที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนอยู่ มันก็เป็นการเอาในภาครัฐส่วนหนึ่ง เพื่อทำให้การทำธุรกิจของพวกเขาไปได้คล่องขึ้น เช่น สมมติว่าจะไปก่อสร้างตึกบริเวณนี้ มันก็จะได้สิทธิก่อนเพื่อน หรือทำได้ง่ายขึ้น การทำทีมฟุตบอลเป็นสิ่งที่ได้กำไรน้อยมาก ลงทุน 100 บาท อาจได้กำไรแค่ 10 บาท แต่ความเป็นจริงหลายๆทีมทำฟุตบอลเพื่อเอาไว้ตกแต่งบัญชี และเพื่อความสะดวกสบายในการทำธุรกิจอื่นๆของพวกเขาด้วย"
"แต่อีกด้านซึ่งเป็นด้านที่ดีที่รัฐบาลเข้ามาให้เงินสนับสนุน เป็นเพราะว่าพวกเขาคิดกันว่าการที่จะทำให้ฟุตบอลในจีนกลายเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ยอดฮิตในจีนเฉกเช่น บาสเกตบอล, แบดมินตัน, เทเบิลเทนนิส ก็คือการเข้าให้ถึงรากหญ้า รัฐบาลจึงมอบเงินก้อนใหญ่ไว้ให้กับทางสโมสร โรงเรียน หรืออะคาเดมี ก็เพื่อให้เด็กๆรุ่นใหม่หันมาสนใจฟุตบอล อย่างที่ผมบอกว่ามันมีทั้งสองด้าน ทั้งด้านขาวและด้านเทา"
- เคสของ "เทียนจิน ฉวนเจี้ยน" ที่ประกาศยุบทีมไป เกี่ยวกับพิษเศรษฐกิจไหม ?
อ.เอี่ยม : "ในเคสของทีมเทียนจิน จริงๆมันมีประวัติมาก่อนหน้านั้น ต้องเกริ่มก่อนว่าเมื่อปี 2018 ประธานสโมสรของฉวนเจี้ยนถูกดำเนินคดีเรื่องการโฆษณายาเกินจริง คือบริษัทฉวนเจี้ยน เป็นบริษัทขายยาเวชภัณฑ์ และเคยมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 4 ขวบ อยู่ที่มองโกเลีย เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งกระดูก พ่อแม่ฐานะยากจน จึงขอออกโทรทัศน์เพื่อหาทางรักษาลูกเขาโดยที่ไม่อยากไปรักษาที่โรงพยาบาลเพราะค่าใช้จ่ายสูง บริษัทฉวนเจี้ยน จึงติดต่อเข้ามาโดยให้ใช้ตัวยาของฉวนเจี้ยน เด็กคนนี้ใช้ยาตัวนี้อยู่ประมาณ 2 เดือนเศษ ปรากฎว่าอาการหนักกว่าเดิม และก็เสียชีวิต แต่ขณะที่รักษาตัวอยู่นั้นทางฉวนเจี้ยนดันเอาภาพของเด็กคนนี้ไปโฆษณาว่าเขาใช้ยาของฉวนเจี้ยนและรักษาจนหาย ซึ่งมันขัดกับความเป็นจริง จึงถูกครอบครัวของเด็กฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2015 คดีก็ยื้อกันเรื่อยมา จนมาตัดสินกันเมื่อปลายปี 2018 ถูกจับเข้าคุก ทำให้สโมสรต้องเปลี่ยนเจ้าของและถูกอายัดเงิน กลายเป็นว่าสมาคมฟุตบอลเทียนจินเข้ามาดูแลแทน สุดท้ายค้างเงินเดือนนักเตะและสต๊าฟฟ์ 4 เดือนเต็มในฤดูกาล 2019 จริงๆมีทีมที่สนใจจะเข้ามาขอเทคโอเวอร์แต่ดำเนินการเรื่องเอกสารไม่ทัน จนต้องยุบสโมสรไป จะเห็นได้ว่าเรื่องยุบทีมของ เทียนจิน ฉวนเจี้ยน ก็ไม่เกี่ยวกับการถังแตกแบบตรงๆเท่าไหร่"
- ในอนาคตสโมสรในจีนจะยังทุ่มเงินซื้อนักเตะดังอีกไหม ?
อ.เอี่ยม : "ผมมองว่าพวกเขายังคงเดินหน้าทุ่มแบบนี้ต่อไปในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ ทุ่มในกฎตามที่สมาคมฟุตบอลจีนจะกำหนดให้ นักฟุตบอลเยาวชนของจีนที่จะสร้างตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งต่างชาติแพงๆ ยังต้องอาศัยเวลา เอาจริงๆอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีเลยด้วยซ้ำที่ลีกจีนจะทำแบบนี้ วันนี้เขายังอยู่ในเส้นทางที่เขาวางแผนเอาไว้ แต่กระบวนการที่เขากำลังทำอยู่มันก็อาจมองได้ว่าพวกเขาพึ่งพานักเตะต่างชาติเยอะเกินไป ดังนั้นมองว่าถ้าวันหนึ่งเขาสำเร็จแล้ว ก็คงค่อยๆลดการทุ่มซื้อนักเตะลง ลดการแปลงสัญชาตินักเตะลง และเอาคนจีนล้วนหรือลูกครึ่งจีนมารับหน้าที่ตรงนี้แทน"
- ทำไม "ทีมชาติจีน" ต้องแปลงสัญชาตินักฟุตบอลในปัจจุบัน ?
อ.เอี่ยม : "สำหรับเรื่องของนักเตะแปลงสัญชาติของจีนที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในปัจจุบัน แน่นอนว่าเป้าหมายหลักคือการไปลุยฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งลีกจีนเป็นลีกที่กำลังเกิดใหม่ ทำอย่างไรถึงให้ฟุตบอลบูม เพราะฉะนั้นผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ จะไปด้วยวิธีไหนก็ตามแต่จีนมองว่ายังไงก็ต้องไปให้ได้ เพราะถ้าได้ไปแล้วมันจะช่วยปลุกกระแสกีฬาฟุตบอลในประเทศของเขาเอง ซึ่งถ้าทำได้ตามเป้าหมาย นักเตะแปลงสัญชาติก็คงจะลดลง สมาคมฟุตบอลจีนออกกฎมาแล้วว่าแปลงสัญชาติได้ แต่ก็มีโควต้าในการลงสนามสำหรับฟุตบอลลีกในประเทศเหมือนกัน ตอนนี้แข้งแปลงสัญชาติจะได้โควต้าลงสนาม 2 คน ไม่รวมแข้งต่างชาติ จีนมองว่าชาติอื่นในเอเชียบางชาติเคยทำมาก่อน และพวกเขาก็ทำสำเร็จ จึงอยากจะทำวิธีนี้ดูบ้าง
- ถ้า "จีน" พลาดไปลุยฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จะเกิดอะไรขึ้น ?
อ.เอี่ยม : "ผมเชื่อว่าก็คงเกิดการเปลี่ยนแปลงอีก แต่ว่าจะเปลี่ยนในเชิงของโครงสร้างนโยบายอย่างไร ต้องรอดูว่านักเตะแปลงสัญชาติที่แปลงกันมาเขาสามารถช่วยทีมได้เยอะขนาดไหน คือจริงๆพวกเขาอาจจะช่วยทีมได้เยอะ แต่ความสามารถของนักเตะจีนแท้ๆอาจจะยังไม่ถึง ทีมชาติจีนในยุคปัจจุบันอายุเฉลี่ยค่อนข้างจะสูงมากๆ ถ้าแนวโน้มว่านักเตะแปลงสัญชาติช่วยทีมชาติได้เยอะ แนวทางนี้ก็อาจดำเนินต่อไปแม้จะพลาดไปเล่นฟุตบอลโลก 2022 ก็ตาม"
- แฟนบอลจีนรู้สึกอย่างไรกับโค้ชระดับโลก กับโค้ชชาวจีนแท้ๆ
อ.เอี่ยม : "แรกๆแฟนบอลก็ดีใจนะเมื่อโค้ชระดับโลกมา แต่มันก็มีการประเมินกันออกมาว่าฟุตบอลในแต่ละประเทศมันจะมีบริบทของตัวเอง ง่ายๆก็คือ คนยุโรป จะมาเข้าใจบริบทหรือวัฒนธรรมของคนเอเชียร้อยเปอร์เซนต์ไหม ก็คงไม่ ดังนั้นเองแฟนบอลจีนหลายคนมีความต้องการอยากได้โค้ชชาวจีนแท้ๆมากกว่า เพราะโค้ชชาวจีนสามารถเข้าใจในตัวนักเตะได้มากกว่า ที่สำคัญคือ ล่าม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ บางคนไม่สามารถถ่ายทอดคำพูดของกุนซือที่จะถ่ายทอดให้กับนักเตะได้ร้อยเปอร์เซนต์ พอถ่ายทอดได้ไม่ร้อยเปอร์เซนต์นานๆเข้าแทนที่จะได้รับร้อย ก็ได้รับแค่เจ็ดสิบ แปดสิบ ซึ่งปัจจุบันจีนใช้งาน หลี่ เถีย อดีตแข้งเอฟเวอร์ตันขึ้นมาคุมทีมชาติ ก็ต้องรอดูกันต่อไป"
จากที่พูดคุยกับ อ.เอี่ยม มาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า "จีน" ต้องการความสำเร็จเป็นอย่างมากในกีฬาฟุตบอล พวกเขามีการวางแผนระยะยาวเอาไว้ถึงปี 2050 ที่อยากจะกลายเป็นมหาอำนาจลูกหนังของโลกให้ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะดำเนินการด้วยวิธีไหน ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าสิ่งที่พวกเขาทำมาทั้งหมดนั้น จะประสบความสำเร็จได้จริงๆหรือไม่
นอกจากนี้ยังเป็นการกลบข่าวลือที่ว่า "ลีกจีน" เริ่มจะถังแตก เพราะความเป็นจริงไม่ได้มีความใกล้เคียงกับคำว่า "ถังแตก" เลยด้วยซ้ำ เหล่ามหาเศรษฐีเจ้าของทีมบางสโมสรไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินแต่อย่างใด พวกเขายังพร้อมที่จะ "ทุ่มเงิน" กันต่อ เพื่อเป็นการปูทางในการทำธุรกิจอื่นๆของพวกเขาเอง...