xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง “Hair Love” ออสการ์ตัวที่ 2 ของ (อดีต) นักกีฬา / MVP

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

สัปดาห์นี้ก็จะดูเงียบเหงากันเล็กน้อย นับตั้งแต่ศึก ซูเปอร์โบว์ล 54 จบลงด้วยชัยชนะครั้งแรกรอบ 50 ปีของ แคนซัส ซิตี ชีฟส์ และ บาสเก็ตบอล เอ็นบีเอ (NBA) กำลังจะเข้าสู่เบรก ออล-สตาร์ จึงขอแอบเกาะกระแสผลประกาศรางวัล “อะคาเดมี อวอร์ดส” ที่เพิ่งจบลงเมื่อวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ สักหน่อย

จริงอยู่ตัวกระผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องบันเทิงเท่าไร แต่ก็พอทราบอยู่บ้างว่า แม็ตธิว เอ. เชอร์รี อดีตปีกนอกมืออาชีพ จารึกประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาคนที่ 2 ซึ่งคว้ารางวัล ออสการ์ ต่อจาก โคบี ไบรอันท์ ตำนาน แอลเอ เลเกอร์ส ผู้ล่วงลับ สาขาเดียวกัน คือ ภาพยนตร์สั้นอนิเมชัน ในฐานะผู้เขียนบท และกำกับ “Hair Love”

แม็ตธิว หรือ แม็ตต์ เชอร์รี เล่นอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยอักรอน จบการศึกษาในฐานะปีกนอกอันดับ 1 ของสถาบัน แต่เข้าสู่ระดับอาชีพแบบไม่ได้ถูกดราฟต์ ปี 2004 เคยอยู่กับ ซินซินเนติ เบงกอลส์ , แจ็คสันวิลล์ จากัวร์ส , แครอไลนา แพนเธอร์ส และ บัลติมอร์ เรฟเวนส์ พอไม่ประสบความสำเร็จ ก็อำลาสังเวียนคนชน ปี 2007 หันมาเอาจริงเอาจังด้านกำกับภาพยนตร์

สำหรับโปรเจคต์ “Hair Love” เริ่มขึ้นปี 2017 จากการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Kickstarter กระทั่งยอดทะลุเป้า 75,000 เหรียญสหรัฐ สูงกว่า 300,000 เหรียญสหรัฐ จึงลงมือสร้างสรรค์ร่วมกับ เอเวอเร็ตต์ ดาวนิง จูเนียร์ และ บรูซ ดับเบิลยู. สมิธ โดยมี แฟรงค์ แอ็บนีย์ แห่งค่าย “พิกซาร์” นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการผลิต และออกฉาย วันที่ 14 สิงหาคม 2019

แรงบันดาลใจของอนิเมชัน “Hair Love” ว่ากันว่าเกิดจากเด็กวัยรุ่นชาวรัฐเท็กซัสคนหนึ่ง เดออังเดร อาร์โนลด์ ซึ่งถูกสั่งห้ามร่วมพิธีจบการศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่ง หากไม่ยอมหั่นผมทรงเดรดล็อกทิ้ง กลายเป็นปมว่า เด็กผู้หญิงหลายคนที่โรงเรียน ยังสามารถไว้ผมยาวได้ แล้วทำไมตัวเองจะทำไม่ได้ และสาเหตุที่ไม่ยอมตัดผม คือ ผมทรงเดรดล็อค สะท้อนถึงวัฒนธรรมชาวตรินิแดด แอนด์ โตเบโก

ด้วยเหตุนี้ เชอร์รี จึงเชื้อเชิญ เจ้าหนูอาร์โนลด์ ในฐานะแขกพิเศษ ร่วมงานประกาศรางวัล ที่ดอลบี เธียเตอร์ มหานคร ลอส แองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับทีมงานผู้สร้าง และสุนทรพจน์ของ อดีตมือกาววัย 38 ปี ระบุว่า สาเหตุที่สร้างอนิเมชันเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการสะท้อนบางอย่าง และทำให้เห็นว่า การมีผมสีดำ คือ เรื่องธรรมดาๆ เสมือนการรณรงค์ต้านเหยียดผิว

การประกาศผลรางวัลปีนี้ ส่งสัญญาณถึงการทลายกำแพงด้านวัฒนธรรม, ภาษา, เพศ และเชื้อชาติ อย่างสิ้นเชิง ภาพยนตร์เกาหลี “Parasite” เหมา 4 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , ลำดับภาพยอดเยี่ยม , บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และ เทคนิกพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม ผิดกับครั้งก่อนๆ (ขออภัยที่จำไม่ได้ว่าปีไหน) ที่มีเสียงวิจารณ์ว่า ออสการ์ คือ รางวัลเฉพาะคนผิวขาว หรือ กีดกันผู้กำกับหญิงที่มีผลงานโดดเด่น

อย่างไรก็ตาม โลกของเรามีอยู่ 2 ด้านเสมอ นอกเสียจากการยินดีกับความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แดนโสม ก็อาจมีชนกลุ่มน้อยว่า เป็นการตลาดหรือตอบโต้คำครหามากกว่า แต่มองอีกมุมหนึ่ง หากคณะกรรมการมอบรางวัลแก่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ด้วยเหตุผลเพียงแค่นี้ ก็จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของ ออสการ์ มัวหมองไปด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น