xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีรองเท้าวิ่งล้ำยุค "ไนกี้" แก้เกมสหพันธ์กรีฑา ติดปีกให้มนุษย์เหนือมนุษย์ (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่หันมาวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและท้าทายขีดจำกัดกันมากขึ้น กลายเป็นห้วงเวลาอันยอดเยี่ยมที่เหล่าผู้ผลิตรองเท้ากีฬา จะเค้นสมองระดมไอเดีย นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาผลิตรองเท้ารุ่นใหม่เพื่อช่วยให้ผู้วิ่งมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น (แถมขายได้เงินด้วย) ทว่าก็เป็นประเด็นโต้เถียงกันในวงการนักวิ่งว่าสมควรหรือไม่ที่จะให้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย มากกว่าความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว อีลิอุด คิปโชเก้ ปอดเหล็กแห่งเคนย่า สร้างชื่อจารึกประวัติศาสตร์ด้วยการวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง แม้จะทำให้วงการวิ่งระดับโลกสั่นสะเทือน แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสถิติกระฉ่อนนั้นเกิดขึ้นเพราะมีอาวุธสำคัญนั่นคือรองเท้า ไนกี้ อัลฟ่าฟลาย เน็กซ์% (Nike Alphafly NEXT%) ที่แบรนด์ดังระดับโลกกับ คิปโชเก้ ร่วมมือทำคัสตอมเพื่อภารกิจนี้

คิปโชเก้ หมดสิทธิใช้รองเท้าวิ่งตัวทำลายสถิติโลก


รองเท้ารุ่นที่ คิปโชเก้ ใส่วาดลวดลายวันนั้นมีคุณสมบัติพิเศษคือการยัดแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ อันเป็นวัสดุที่ใช้ทำขาเทียมสำหรับนักวิ่งผู้พิการแทรกมาอยู่ระหว่างโฟมรับแรงกระแทกที่หนากว่าปกติ ซึ่งมีการทดสอบแล้วว่าตัวแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์นี้สามารถช่วยให้นักวิ่งออกตัวได้ดียิ่งกว่ารองเท้าปกติราวกับติดสปริง สำคัญยิ่งกว่าคือเมื่อมันช่วยในเรื่องการออกตัว ดังนั้นทุกก้าวที่ออกไป นักวิ่งเลยไม่จำเป็นต้องออกแรงขามากนัก แถมยังช่วยรักษาพลังงานในตัวช่วยลดความเหนื่อยล้าระหว่างวิ่งไปด้วย

ชำแหละชัดๆ เรื่องพื้นประเด็นที่ถกเถียง
เรื่องนี้ทำเอาสหพันธ์กรีฑาโลก (เวิลด์ แอธเลติกส์ หรือ ไอเอเอฟเอฟ ในชื่อเดิม) หยิบมาพูดคุยกันอย่างเคร่งเครียดเพราะกลายเป็นว่าแทนที่นักกีฬาจะใช้ฝีเท้าและพลังกำลังของตัวเองแบบ 100% ในการทำลายสถิติโลก กลับมีรองเท้าตัวนี้เป็นอุปกรณ์เร่งรัดสำคัญจนเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้วิ่ง ซึ่งที่สุดแล้วสหพันธ์ก็ตัดสินใจร่างกฎใหม่ขึ้นมาและออกแถลงการณ์เรียบร้อยเพื่อหยุดยั้งไม่ให้นักวิ่งคนไหนใช้รองเท้าคู่เดียวกับ คิปโชเก้ หรือมีนวัตกรรมที่ช่วยเอื้อแก่นักกีฬาได้อีกต่อไป โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนนี้

กฎที่เขียนไว้บอกว่ารองเท้าวิ่งทุกรุ่นที่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่ลงแข่งขันได้ ต้องวางขายมาแล้ว 4 เดือน และห้ามปรับแต่งใดๆเพื่อช่วยเหลือนักวิ่ง เว้นแต่ลวดลายหรือเหตุผลทางการแพทย์ ส่วนคุณสมบัติอื่นคือพื้นรองเท้าห้ามหนาเกิน 40 มม. // ไม่มีแผ่นคาร์บอนหรือวัสดุอื่นเกิน 1 ชิ้น // แผ่นคาร์บอนหรือวัสดุอื่นต้องอยู่ในระนาบเดียวกันห้ามทับซ้อน ส่วนรองเท้าที่มีตะปุ อนุญาตให้มีแผ่นคาร์บอนเพิ่มได้อีก 1 ชั้น และพื้นต้องไม่หนาเกิน 30 มม. นั่นจึงทำให้รองเท้าที่ได้รับความนิยมในหมู่นักวิ่งอย่าง ไนกี้ เวเปอร์ฟลาย หรือ อาดิดาส อัลตร้าบูสต์ ได้ไปต่อ

รองเท้าที่เหมือนติดปีกให้นักวิ่งทุกคน
ไม่เพียงเท่านั้น หากนักวิ่งจะใช้รองเท้าที่ผลิตร่วมกับเจ้าของแบรนด์เพื่อภารกิจสำคัญใดในรายการระดับชิงแชมป์โลก เอเชีย หรือโอลิมปิก รองเท้าคู่นั้นต้องวางขายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 เดือน และจากกฎที่เขียนมาไว้ทั้งหมดทำให้รองเท้าอัลฟ่าฟลาย ของ คิปโชเก้ ซึ่งมีคุณสมบัติผิดไปจากกฏที่ระบุไว้ แถมยังเป็นการผลิตแบบคัสตอมขึ้นมาใช้เองในเวลาไม่กี่เดือน (หรือเรียกว่ารองเท้ารุ่นต้นแบบก่อนขายจริง) หมดสิทธินำมาใช้ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการอีกต่อไป

แม้มีกฎเหล็กออกมาเพิ่มแต่ดูเหมือนจะหยุดยั้งการพัฒนาของผู้ผลิตไม่ได้เมื่อ ไนกี้ แก้เกมผลิตรองเท้าตัว อัลฟ่าฟลาย ต่อยอดจากตัวเดิมของ คิปโชเก้ นั่นคือ ไนกี้ แอร์ ซูม อัลฟ่าฟลาย เน็กซ์% (Nike Air Zoom Alphafly NEXT%) สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือตัว แอร์ ซูม พอดส์ เทคโนโลยีใหม่ช่วยรองรับแรงกระแทกและเพิ่มแรงส่งคืนกลับไป และแผ่นคาร์บอนใส่เข้ามาด้วย ส่วนอีกคู่ ไนกี้ แอร์ ซูม เท็มโป้ เน็กซ์% (Nike Air Zoom Tempo NEXT%) มีโฟม React ที่ส้นเท้าช่วยเพิ่มความทนทานกว่าปกติ นอกนั้นก็คล้ายคลึงกัน

ไนกี้ แก้เกมออกตัวใหม่มาขาย
ทั้งสองคู่นี้จะวางจำหน่ายปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนมหกรรมกีฬา โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นเริ่มขึ้นปลายเดือนกรกฏาคม ไม่ผิดกฎขายน้อยกว่า 4 เดือนแน่นอน ถือเป็นวิธีการที่ ไนกี้ รวมถึงผู้ผลิตรายอื่นๆนำมาใช้เพื่อไม่ให้การค้นคว้าและพัฒนาของตัวเองถูกหยุดยั้งไป และเชื่อว่าในอนาคตทีมงานผู้ผลิตน่าจะมีการนำนวัตกรรมใหม่มาออกแบบรองเท้าช่วยเอื้อความสะดวกแก่นักวิ่งได้อีกในอนาคต แม้เชื่อขนมกินได้ว่าสหพันธ์กรีฑาโลก จะออกกฎมาแบนเพิ่มอีกตามความเชื่อที่พวกเขาให้ความสำคัญกับศักยภาพของ “มนุษย์” มากกว่า เทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น