คอลัมน์ “สกอร์บอร์ด” โดย “แมวดำ”
กำลังจะหมดปี ค.ศ. 2019 หรือหากนับแบบไทย พ.ศ.2562 วงการฟุตบอลบ้านเรามีเรื่องให้พูดถึงเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจากไปของ มิโลวาน ราเยวัช ในนามเฮดโค้ชทีมชาติ ก่อนได้ "โค้ชโต่ย" ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย มือขวามารับงานต่อ แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในคิงส์คัพ ที่บุรีรัมย์ ก็ต้องเปลี่ยนมือมาให้ อากิระ นิชิโนะ อดีตกุนซือดีกรีทีมชาติญี่ปุ่น แต่เหมือนว่ามีเวลาเรียนรู้กับฟุตบอลไทยน้อยไปหน่อย ความสำเร็จเลยยังไม่ก่อเกิด เลยเถิดไปถึงขนาดตกรอบแบ่งกลุ่ม ซีเกมส์ ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งก็ยังมีโอกาสแก้มือกู้ชื่อกันในฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย 2020 ชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ มกราคมปีหน้า
ภาพรวมผลงานของทีมชาติไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ลองหันมาดูสโมสรในไทยลีกกันบ้าง เรื่องดีๆ คือการแข่งขันสนุกสนานเข้มข้นขึ้น ผิดจากแต่ก่อนที่มีแค่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เบียดแย่งแชมป์กัน พิสูจน์จากฟุตบอลไทย 3 ถ้วย 3 รายการ แชมป์ไม่ซ้ำหน้ากัน โตโยต้า ไทยลีก - สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด, ช้าง เอฟเอ คัพ - การท่าเรือ เอฟซี และ โตโยต้า ลีกคัพ - พีที ประจวบ เอฟซี
แม้จะวืดทุกแชมป์ในวาระฉลองครบรอบ 10 ปี ของ "ปราสาทสายฟ้า" ในมือของ เนวิน ชิดชอบ นับแต่เปลี่ยนชื่อ-โลโก้ และย้ายถิ่นจากเดิมคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทีมรัฐวิสาหกิจดัง แต่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยังคงรอคอยกลับมาทวงแชมป์คืนอยู่ ส่วน "กิเลนผยอง" ดูแปลกไปจากเดิมเยอะ เนื่องจากการผ่องถ่ายของนักเตะแกนหลักออกจากทีม ไม่ว่าจะเป็นเพื่ออนาคตผู้เล่น หรือลดค่าใช้จ่ายของทีมก็ตาม แต่ดูทรงแล้วไม่ใช่ทีมเดิมที่จะกลับมาเบียดแย่งแชมป์ลีกเหมือนก่อน
อีกเรื่องที่ต้องยอมรับคือ ฟุตบอลนั้นเป็นเรื่องของเงินทอง เมื่อไม่มีเงิน ก็ไม่มีกำลังใจไปบริหารงานทีมฟุตบอล ปีนี้เป็นปีที่มีสโมสรฟุตบอลหลายทีมตัดใจบอกลาวงการไป เริ่มจากสโมสรในตำนานอย่าง อาร์มี่ ยูไนเต็ด ทีมนี้ก่อตั้งกันมาตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2459 นับย้อนไปได้ 103 ปี มีเกียรติประวัติการเป็นแชมป์ถ้วยพระราชทาน ก เมื่อปี 2526, รองชนะเลิศ ฟุตบอลควีนส์คัพ ในปี 2540, รองชนะเลิศ ไทยคม เอฟเอคัพ 2555 เหตุผลที่ไม่ได้ไปต่อเพราะ "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และประธานสโมสร มองว่าผลงานทีมไม่คุ้มต่อการบากหน้าไปขอเงินผู้สนับสนุน
ต่อมาทีม พีทีที ระยอง เอฟซี แม้ผลงานใช้ได้ มีซูเปอร์สตาร์หลายฝีเท้าดีในทีมหลายราย แต่สุดท้ายบอร์ดบริหาร ปตท. มองว่าการทำทีมฟุตบอลสโมสรในพื้นที่จังหวัดเดียวไม่ตอบโจทย์เท่าการพัฒนาเยาวชนระดับประเทศ จึงผันเงินไปทำงานด้านลูกหนังเยาวชนอย่างจริงจังดีกว่า เช่นเดียวกับ ไทยฮอนด้า ที่ฐานแฟนคลับแม้จะเหนียวแน่น แต่ก็มีไม่เพียงพอให้ไปต่อ ขออำลาฟุตบอลลีกไปอีกเช่นกัน
ส่วนทีมล่ามาแรงคงหนีไม่พ้น แอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด ที่รอดจากการตกชั้นไทยลีก 2 อย่างหวุดหวิด หลังบอร์ดบริหารกับ กองทัพอากาศ ไม่สามารถร่วมมือต่อกันได้ พร้อมขีดเส้นให้ใช้ธูปะเตมีย์ ถึงแค่สิ้นสุดฤดูกาล 2019 สโมสรที่ใช้สิทธิเดิมของทีมฟุตบอลทหารอากาศ ตัดสินใจหาบ้านใหม่ สุดท้ายตอบรับคำเชิญของ ส.ส.ชาดา ไทยเศรษฐ์ คนโตแห่งจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งก่อนหน้านี้มีการระบุว่า อาจเปลี่ยนชื่อทีมมาเป็น แอร์ฟอร์ซ อุทัยธานี เอฟซี แต่ว่าเมื่อโดนตัดขาดจาก "ทัพฟ้า" แล้วจะติดชื่อ "แอร์ฟอร์ซ" ไปด้วยคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เลยตัดทิ้งเหลือเพียง อุทัยธานี เอฟซี ปิดฉากทีมฟุตบอลทหารอากาศ ด้วยเวลา 73 ปี
แต่แฟนๆ ทัพฟ้า ก็ยังคงมีทีมเชียร์ต่อไป เนื่องจากกองทัพอากาศ เขาระดมสรรพกำลังของเขาไปสร้างทีมขึ้นใหม่ 3 สโมสร 1.ทหารอากาศ เอฟซี 2.สวัสดิการ ทอ. และ 3.ร.ร.นนก.ไปเริ่มต้นกันใหม่ที่อเมเจอร์ลีก ล่าสุด ทหารอากาศ เอฟซี ได้เลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 4 เรียบร้อยแล้ว
หากมองในแง่ดีอย่างน้อยการสิ้นสุดของสโมสรหนึ่ง ก็นำไปสู่การเริ่มต้นใหม่ของอีก 3 สโมสร...