คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“พี่หมอครับ ขอยาคลายกล้ามเนื้อหน่อย เก่งปวดไปหมดทั้งตัวเลย” เจ้าเด็กอ้วนในสภาพเหงื่อท่วมตัวโผล่จากประตูห้องฟิตเนสเมื่อมองเห็นพี่หมอเดินผ่านมา
“โอ้โห!เหงื่อชุ่มเลย...แต่พุงไม่เห็นยุบเลย” “นั่นซิครับ...ผมออกกำลังเต็มที่ทุกวันกับเครื่องหนักๆจนปวดเมื่อยไปหมด...ชักท้อแล้วนะครับ” “ก็มึงทำผิดวิธี” “จริงดิ!(ผิดอีกแล้วกู)”
เรื่องการออกกำลังกาย ยังมีความเชื่อผิดๆที่ฝังหัวมาจนทุกวันนี้ แล้วก็นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเพื่อวางแผนทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแทนความเชื่อที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงต่อไป
1.ความเชื่อผิดๆ เรื่องแรกที่บอกเล่ากันไว้คือ...”ถ้าไม่รู้สึกปวดเมื่อย แปลว่าคุณไม่ได้รับผลดีจากการออกกำลัง” ซึ่งที่จริงแล้วความปวดเมื่อยกับการออกกำลังกายอย่างหนัก อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกันในบางครั้ง หากแต่ความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อที่คุณรู้สึกไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าคุณเสียเหงื่อไปมากเพียงใด ส่วนความปวดเมื่อยก็ไม่ได้แปลว่าคุณออกกำลังกายได้ดี โยมันแค่หมายถึงว่ามีแรงตึงเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อแล้ว ซึ่งนักสรีรวิทยาการออกกำลังกาย ระบุว่า “คุณสามารถได้ผลลัพธ์ที่ดีจากการออกกำลังกายโดยไม่เกิดอาการปวดเมื่อยในวันถัดไปก็ได้” หากกล้ามเนื้อได้พักอย่างเพียงพอก็จะช่วยลดการปวดเมื่อยได้ ที่ควรทำคือ เติมพลังงานในช่วง 30-45 นาทีแรกหลังออกกำลังกาย อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ และควรนอนหลับให้พอ ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และความปวดเมื่อยจะทุเลาลงเอง
2.มาถึงความเชื่อที่ว่า “ควรจัดเต็ม100%ทุกครั้งที่ออกกำลังกาย” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่เรื่องที่ดีที่จะออกกำลังกายให้เต็มเหนี่ยวเกินไปให้บ่อยนัก และถ้าเกิดปวดเมื่อยขึ้นมาทุกวันที่ออกกำลังกาย นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณหักโหมเกินไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวที่ถูกต้อง คือออกกำลังกายหนักเป็นพิเศษแค่สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็พอ
3.ที่กล่าวกันว่า “การสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย หมายถึงการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์หนักๆ” นั้น ที่จริงแล้วความแข็งแกร่งของร่างกายหมายถึงการออกกำลังแบบมีแรงต้านกล้ามเนื้อ และแรงต้านเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมาจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์หนักๆ เพราะนอกจากการออกกำลังกายโยใช้น้ำหนักร่างกายของตัวเองแล้ว ยังสามารถใช้อุปกรณ์อย่างเช่น Kettle bells ลูกบอลยาง หรือยางยืดออกกำลังกายเพื่อเพิ่มแรงต้านก็ได้
4.สำหรับถ้อยคำที่บอกว่า “เหงื่อออกมากแปลว่าออกกำลังกายหนัก” นั้น Tracy Hafen นักสรีรวิทยาการออกกำลังกายผู้ก่อตั้ง Affirmative Fitness กล่าวว่า “ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกันเลย การที่เหงื่อออกก็เพราะอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น” โดยอธิบายว่า กล้ามเนื้อจะสร้างความร้อนเมื่อออกกำลังกาย ดังนั้นการออกกำลังกายหนักๆจึงเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายแน่นอน แต่ถึงอย่างไรการออกกำลังกายในบริเวณที่อากาศเย็นกับในที่ที่มีอากาศร้อน ก็จะทำให้เหงื่อออกไม่เท่ากันอยู่ดี อีกอย่างคือ การที่เหงื่อออกไม่ได้ทำให้ร่างกายเย็นลง แต่เป็นเพราะการระเหยของเหงื่อต่างหาก และถ้าออกกำลังกายในที่มีอากาศชื้นจะทำให้เหงื่อระเหยช้าลง ทำให้เราคิดว่าเหงื่อออกมาก
5.เชื่อกันมานานและมักพูดกันว่า “ควรออกกำลังกายทุกวัน” ซึ่งขอบอกเลยว่าไม่จริงอย่างสิ้นเชิง คำอธิบายที่น่าสนใจคือ เวลาเราออกกำลังกายจะเท่ากับว่าเรากำลังทำลายเส้นใยกล้ามเนื้อ เพื่อให้มันผลิตขึ้นมาใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราต้องให้เวลาร่างกายได้ฟื้นฟูจากกการออกกำลัง โดยมีเป้าหมายว่า ต้องปฏิบัติอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้เป็นวันผ่อนคลายที่ขาดไม่ได้ ในวันอื่นๆอาจมีการยืดเส้นยืดสายเบาๆเช่นการเดินเล่นก็ได้
“เข้าใจไหมไอ้เก่ง! อย่าเอาแต่ปริมาณ เอาคุณภาพด้วยซิวะ” พี่หมอเตือนเด็กอ้วนที่หักโหมออกกำลังจนกล้ามเนื้อล้า.