xs
xsm
sm
md
lg

วันที่ "เหล้า" ทำลายเสียง แต่ทำลาย "หมู-นพนันท์" ไม่ได้ ขอต่อชีวิตนักพากย์กีฬา (คลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอล หลายคนต้องเคยได้ยิน และรู้จักผู้บรรยายที่ชื่อ นพนันท์ ศรีศร หรือ "พี่หมู" ที่อยู่คู่กับวงการกีฬาของไทยมาอย่างยาวนาน ยิ่งถ้าได้ยินเสียงของเขา ทุกคนคงต้องร้อง "อ๋อ คนนี้นี่เอง"

นพนันท์ ศรีศร ในวัย 60 ปี ปัจจุบันรับหน้าที่บรรยายกีฬาให้แก่ "ทรูวิชั่นส์" เป็นหลัก ซึ่งไม่ได้แค่บรรยายกีฬาฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น บางครั้งเราจะได้ยินเสียงของเขาในกีฬาชนิดอื่นๆ เช่น แบดมินตัน หรือเทนนิส รวมไปถึงตามมหกรรมกีฬา เช่น ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ หรือโอลิมปิก เราก็จะได้ยินเสียงของเขาเช่นกัน

เราได้รับเกียรติจาก "พี่หมู" ได้มาเปิดใจถึงเส้นทางการเป็นผู้บรรยาย หรือนักพากย์กีฬา ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อย่างหนัก เรียกได้ว่าดื่มแทบทุกคืนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนเกือบจะไม่ได้กลับมาพากย์กีฬาอีก แต่แล้ว "พี่หมู" ไม่อยากต้องสูญเสียในสิ่งที่เขารักไป เขาจึงต้องดูแลร่างกายตัวเองเสียใหม่ ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลับมาบรรยากีฬาได้อีกครั้ง


นพนันท์ ศรีศร ผู้บรรยายกีฬาชื่อดัง
- จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นผู้บรรยายกีฬา

ชีวิตของผมเริ่มต้นด้วยการเป็นนักข่าวมาก่อน เป็นนักข่าวกีฬาต่างประเทศ แปลข่าวต่างๆ ไม่ใช่แค่ฟุตบอลนะ แต่รวมถึงกีฬาอื่นๆด้วย มันเป็นความใฝ่ฝันของหลายๆคนที่ชอบเล่นกีฬา เมื่อก่อนเราเคยเห็นรุ่นพี่ที่เคยเป็นนักข่าวกีฬามาก่อนเวลาเขาทำงาเขามีความสุขมาก ไปนั่งดูบอล คุยกัน เฮฮากัน เราก็อยากเป็นแบบเขาบ้าง พอเข้ามาเป็นนักข่าวกีฬาแล้ว พอถึงจุดๆหนึ่งแล้วผมก็อยากจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาบ้าง

จริงๆเมื่อก่อนคนดูกีฬาเยอะ แต่คนพากย์กีฬานั้นน้อยมาก คือเมื่อก่อนจะมีการเอานักพากย์ประเภทอื่นๆ มาพากย์กีฬา ซึ่งหลายๆคนก็ไม่มีความรู้เรื่องกีฬาเท่าไหร่ ซึ่งเราเองเป็นคนที่เล่นกีฬา แต่มาฟังคนอื่นพากย์แบบถูกๆผิดๆ พากย์แบบเอนเอียงมากเกินไป ผมรู้สึกทนไม่ค่อยชอบ คนอื่นอาจจะชอบก็ได้ แต่ผมไม่ค่อยชอบ เพราะว่ากีฬาคือกีฬา เราต้องมีความเป็นกลาง ผมก็เลยคิดว่าสักวันต้องมีโอกาสพากย์กีฬาให้ได้

จนกระทั่ง "พี่โย่ง" หรือ ย.โย่ง (เอกชัย นพจินดา) มาดึงตัวไป ตอนนั้นพี่โย่งเข้ามาบอกว่า "ไอ้หมู เอ็งมาพากย์กีฬาหน่อย" ตอนแรกเราก็ยังไม่กล้า แต่พี่โย่งตอนนั้นที่กำลังทำงานอยู่ที่ ช่อง 7 ก็เรียกให้เราไปนั่งดูบรรยากาศที่ช่อง 7 เหมือนกับว่าให้ไปรับรู้เบื้องต้นว่ามีวิธีการอย่างไร พอนานๆเข้า แกก็พาผมไปพากย์ที่ทรูฯ เมื่อก่อนนี่เป็น IBC ก่อนจะพัฒนามาเป็น UBC และทรูวิชั่นส์ แรกๆก็พากย์บอลอังกฤษ พอหลังๆเขาก็ให้ผมเริ่มพากย์บอลอิตาลี คือเขาเป็นว่าผมเป็นคนที่ชื่นชอบฟุตบอลอิตาลีอยู่แล้ว ก็เลยได้โอกาสพากย์บอลอิตาลีมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่บอลอิตาลีเข้ามาในไทยยุคแรกๆ และเราทำงานมาเรื่อยๆเราก็รู้สึกมีความสุขมากๆ ซึ่งช่วงหลังๆผมก็พอจะรู้จักคนนั้นคนนี้ เขาก็ชวนไปพากย์ที่อื่นด้วย ก็เคยไปพากย์ช่อง 3 ร่วมกับ สาธิต กรีกุล รวมถึงช่องอื่นๆในทีวีพูล
สมัยทำงานสยามกีฬา ร่วมเฟรมกับ บิ๊กจ๊ะ และย.โย่ง
- เทคนิคการพากย์ที่เป็นเอกลักษณ์

เรื่องของเอกลักษณ์จริงๆมันแล้วแต่บุคคลนะ จริงๆแล้วบางครั้งคนพากย์มันไม่รู้ตัวหรอก แต่คนที่มาฟังเนี่ยจะรู้ว่ามันเป็นเอกลักษณ์ของเรา บางทีมันก็ออกมาจากการพูดในสิ่งที่เราไม่รู้ตัว ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของเราไปเลย ซึ่งมันอาจจะออกมาจากการที่ช่วงหนึ่งเราไม่สามารถหาคำพูดที่จะมาพูด ณ เวลานั้นได้ เราจึงต้องสรรหาคำบางคำมาพูด จนสุดท้ายมันติดตัวเราเป็นเอกลักษณ์ของเราไปเลย พอเรามีประสบการณ์มากขึ้นเราก็เริ่มที่จะรู้ว่าตรงไหนผิดพลาด และควรแก้ไขตรงไหน คนที่พากย์กีฬามาราวๆ 10 ปี ขึ้นไป ก็คงจะรู้ว่าจุดไหนที่ควรแก้ไขบ้าง

- ติดแอลกอฮอลล์อย่างหนัก / ไม่ค่อยดูแลร่างกายตัวเอง / ปรับเปลี่ยนตัวเองอีกครั้ง

เมื่อก่อนนี่เป็นคนที่นอนดึกมาก ถึงไม่ได้ทำงาน ไม่ได้บรรยาย ก็จะชอบนอนดึก แต่คนที่ทำงานอย่างเรามันก็ต้องนอนดึกอยู่แล้ว พอเรามาใช้ชีวิตในการเป็นนักพากย์เราก็มารู้ตัวว่าเราจะใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆไม่ได้ ผลเสียอย่างแรกเลยคือป่วยง่าย สองคือ เสียงเราจะไม่เหมือนเดิม ยิ่งการดื่มแอลกอฮอลล์เนี่ยตัวร้ายเลย ทำให้เสียงเราเพี้ยนไปหมดเลย กล่องเสียงเสีย บางทีพูดแทบไม่ได้เลย มันพังหมดเลยนะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลสุขภาพตัวเอง เล่นกีฬา ออกกำลังกายมากขึ้น นอนเร็วขึ้นถ้าไม่มีงาน บางที 2-3 ทุ่มก็นอนแล้ว แต่ถ้าวันไหนมีงาน เราต้องนอนเผื่อเอาไว้ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ดื่มแอลกอฮอลล์หนักมาก เราสุขภาพแย่มากๆ มันส่งผลเสียต่ออวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะเส้นเสียง กล่องเสียง การหายใจ ที่สำคัญคือการตัดสินใจเวลาที่จะพูดอะไรออกไปตอนบรรยายกีฬา เพราะแอลกอฮอลล์มันจะไปกดประสาทต่างๆของเรา ทำให้เราคิดเราพูดไม่ได้เหมือนอย่างที่เราต้องการ บางทีเราคิดจะพูดแบบนี้ แต่กลับพูดอีกอย่างออกไป เราเลยต้องตัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ตอนตัดนี่ยากเหมือนกันนะ อย่างว่าคนมันเคยติดมา จะให้ตัดออกเลยมันก็ยาก แต่เราก็เอาเวลาที่เคยกิน ไปทำอย่างอื่น ไปออกกำลังกาย มันก็ช่วยให้เราตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปได้เร็วกว่าเดิม
ชอบเตะฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ
- รู้สึกเบื่อกับการบรรยายกีฬาบ้างไหม ?

มันก็มีบ้างนะ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เรารัก เป็นสิ่งที่เราชอบ เราคิดเสมอว่าการที่เราเข้ามาในวงการนี้ เราต้องการให้คนที่ดูกีฬา มีความสุขมากขึ้นจากการฟังเราบรรยาย เหมือนมันเป็นแพสชั่นของเรา บางทีไม่ได้พากย์ไปนานๆ เราก็คิดถึง อยากกลับมาพากย์เร็วๆ การพากย์กีฬามันทำให้เราต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาวิธีการเล่นต่างๆของกีฬาแต่ละชนิด การจะพากย์กีฬาได้ เราต้องเข้าถึงกีฬาประเภทนั้นให้ได้ เราต้องค้นคว้าหาความรู้หาข้อมูลกีฬานั้นๆ บางครั้งเราต้องเข้าไปคลุกคลีกับบุคคลในวงการกีฬานั้นๆ หรือบางทีเราต้องเข้าไปเล่นเองเลย อย่างเช่นกีฬา ฮ็อกกี้น้ำแข็ง เมื่อก่อนนี่เราไม่รู้เรื่องเลยว่ามันเล่นอย่างไร ก็มีโอกาสได้บรรยายกีฬานี้จนเรารู้วิธีการเล่น จริงๆพากย์เกมก็เคย พวกเกมฟุตบอล เขาก็เคยให้เราไปลองพากย์ มันก็สนุกไปอีกแบบ
ไม่ได้พากย์แค่ฟุตบอล แต่เทนนิสก็พากย์
- ฝากถึงคนที่มีความฝันอยากจะเป็นผู้บรรยายกีฬาแบบ "นพนันท์ ศรีศร"

คนที่เป็นนักพากย์สิ่งที่สำคัญที่สุดเคยคือ Passion คุณต้องมีความหลงใหลในการทำ ณ จุดนี้ ถ้าคุณไม่มีความรักในสิ่งที่คุณทำ ไม่มี Passion คุณก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จเลย อย่าคิดว่าเข้ามาในวงการนี้แล้วจะมีชื่อเสียงง่ายๆ หรือเข้ามาในวงการนี้แล้วคุณจะดีกว่าคนอื่น จริงๆมันไม่ใช่เลย มันเป็นเรื่องที่คุณจะต้องทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่ คุณต้องเก็บข้อมูลทุกอย่าง พยายามเรียนรู้ กีฬาไหนที่คุณไม่รู้ ต้องไปเก็บข้อมูล ตัวผมเองก่อนจะพากย์แต่ละคู่ ผมใช้เวลา 1 วันเต็มๆในการเก็บข้อมูล อย่างฟุตบอล 1 คู่ ผมเปิดดูข้อมูลทุกอย่าง ทั้งเว็บไซต์ของสโมสร คำสัมภาษณ์ของโค้ชมาเก็บมาจดเอาไว้ จดด้วยมือนะ อย่าไปปรินต์ ถ้าเราจดด้วยมือเราจะจำง่ายกว่าการปรินต์ พอเราจำได้บางทีเราไปนั่งพากย์แล้วมันจะไหลไปตามธรรมชาติ หยิบตรงนั้นมาพูดได้แบบไม่เคอะเขิน จริงๆเรื่องพวกนี้ไม่มีใครสอนนะ รุ่นพี่เขาก็ไม่มีใครสอนว่าเราจะต้องทำยังไงเวลาเราพากย์ เราเตรียมตัวของเราเอง

"การเป็นนักพากย์กีฬาไม่ใช่เรื่องยากหรอก เพียงแต่ว่าคุณต้องรู้ข้อมูล รู้จักกีฬานั้นๆ รู้กฎกติกา และที่สำคัญคือรู้จังหวะจะโคนที่จะพูดออกไป บางทีการบรรยายกีฬาไม่จำเป็นต้องพูดมาก คือให้ภาพมันเล่าเรื่องของมันออกมา แล้วเราค่อยคอมเมนต์ออกไม่จำเป็นต้องพูดทุกอย่าง เราแค่ต้องรู้ และจับจังหวะให้มันถูกต้องให้คนดูนั้นเข้าใจ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด" นพนันท์ ศรีศร กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น