คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ช่วงนี้วงการกีฬาของ ญี่ปุ่น กำลังคึกคัก รักบี้ชิงแช้มพ์โลก 2019 ที่ตนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกำลังไปได้สวย ทีมนักปล้ำลูกหนำเลี้ยบเลือดซามูไรทะลุผ่านเข้ารอบน้อค-เอ๊าท์ได้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ผูกขาดตกรอบแรกมาตลอดและส่วนมากจะบ๊วยของกลุ่มด้วยซ้ำ ปีหน้ายังเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิค เกมส์ มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ครั้งที่ 32 แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น ญี่ปุ่น มีรายการกีฬาระดับโลกที่ใกล้จะมาถึงคือ โตเกียว มาราธอน 2020 (Tokyo Marathon 2020)
ในปัจจุบัน ปีๆหนึ่งมีรายการวิ่งมาราธอนถูกจัดขึ้นในทุกมุมโลกรวมแล้วไม่น้อยกว่า 800 รายการ แต่มีเพียง 6 รายการเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นระดับสุดยอดและถูกจัดเข้าเป็น เวิร์ลด์ มาราธอน เมเจ้อร์ (World Marathon Majors) ที่มีการเก็บสะสมคะแนนชิงเงินรางวัลก้อนใหญ่ ซึ่งนอกจาก บ๊อสเติ้น (Boston) ลอนเดิ้น (London) แบรลีน (Berlin) ชิคาโก (Chicago) และ นิวยอร์ค ซิตี้ (New York City) แล้ว โตเกียว (Tokyo) ก็ถูกรวมเข้าด้วยตั้งแต่ปี 2013
ตั้งแต่ปี 1981 โตเกียว เคยมีการแข่งขันวิ่งมาราธอน 2 รายการคือ โตเกียว อินเทอร์แน้ชเชินน่อล มาราธอน (Tokyo International Marathon) และ โตเกียว - นิวยอร์ค เฟรนด์ชิพ อินเทอร์แน้ชเชินน่อล มาราธอน (Tokyo - New York Friendship International Marathon) ซึ่งจัดห่างกันแค่เดือนเดียว ต่อมาจึงเปลี่ยนมาผลัดกันจัดขึ้นในปีเลขคี่เลขคู่แทน แล้วในที่สุดก็กลายเป็น โตเกียว มาราธอน ประจำทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2007
แต่ก่อน มาราธอน คงอยากจะเน้นที่การมีส่วนร่วม เพราะ บ๊อสเติ้น มาราธอน ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ในการจัดครั้งแรกเมื่อ 122 ปีมาแล้วในปี 1897 นั้นมีนักวิ่งเข้าร่วมการแข่งขันเพียง 15 คน เมื่อกาลเวลาผ่านไป รายการนี้เริ่มดึงดูดนักวิ่งจากทั่วโลก จนแต่ละปีมีนักวิ่งเข้าร่วมหลายหมื่นคน ในปี 1996 บ๊อสเติ้น มาราธอน ครบรอบ 1 ศตวรรษ มีนักวิ่งเข้าร่วมรายการถึง 38,708 คน ออกสต๊าร์ท 36,708 คน และวิ่งจนจบ 35,868 คน นับเป็นสถิติมาราธอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
มาถึงยุคนี้ มีนักวิ่งสมัครจนล้น ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศเชิญชวนอีกแล้ว แต่กลับต้องพยายามบริหารจัดการเพื่อควบคุมจำนวนให้เหมาะสมต่างหาก นักวิ่งจะต้องผ่านการคัดเลือกจากช่องทางต่างๆ นอกจากพวกนักวิ่งระดับโลกที่จะได้รับเชิญจากสป็อนเซ่อร์ นักวิ่งที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลประจำรายการด้วยการซื้อบัตร (Charity) ที่จะมีโควตาจำนวนหนึ่ง นักวิ่งระดับชั้นนำ (Elite runners) ผ่านเกณฑ์เวลาก็ไปลงทะเบียนประเภทชั้นนำ และเกือบทุกรายการยังมีการสุ่มเลิอกจากผู้สมัครทั่วโลก (Lotto) ที่มีจำนวนนับแสนคน ใครโชคดีก็ได้รับการสุ่มเลือกให้ไปร่วมวิ่งในรายการด้วย
โตเกียว มาราธอน 2020 จัดการแข่งขันในวันที่ 1 มีนาคม 2020 ในสนามมาราธอนระดับ Gold Label ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกจาก สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations - IAAF) มีการแข่งขัน 2 ประเภทคือ มาราธอน 42.195 Km. และ 10 Km. ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้พิการ (Wheelchair) สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ด้วย งานนี้เขาให้นักวิ่งทั่วไปสมัครระบบ Lotto ไปแล้วในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาจำกัดจำนวนนักวิ่งทั่วไป ประเภท มาราธอน 26,370 คน และประเภท 10 กิโลเมตร 400 คน รวมเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมสูงสุด 38,000 คน (มาราธอน 37,500 คน และ 10 km 500 คน)
ที่สำคัญ เพื่อความเหมาะสมในการบริหารจัดการการแข่งขัน จึงต้องมีเกณฑ์การตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน (Cut-off) หากใครยังไม่เข้าเส้นชัยเมื่อถึงกำหนดเวลาก็จะถูกตัดสิทธิ์ทันที โดยประเภท Marathon 7 ชั่วโมง Wheelchair Marathon 2 ชั่วโมง 10 นาที ประเภท 10 km 1 ชั่วโมง 40 นาที Wheelchair 10 km 35 นาที
ยังไม่จบครับ ระหว่างการวิ่งยังมีการ Cut-off ตามจุดเช็คพ้อยน์ทต่างๆอีก อันนี้ดูก็รู้ว่าเพื่อความสะดวกในการจัดเปิด-ปิดผิวจราจรนั่นเอง อย่างเช่น ประเภท Marathon ปล่อยตัวเวลา 09.10 น. นักวิ่งต้องไปถึงเช็คพ้อยน์ทแรกที่ 5.6 Km. ไม่เกินเวลา 10.30 น. ต่อมาก็จุด 9.9 Km. ไม่เกิน 11.00 น. จุด 14.6 Km. ไม่เกิน 11.40 น. จุด 19.7 Km. ไม่เกิน 12.30 น. จุด 25.7 Km. ไม่เกิน 13.20 น. จุด 30.1 Km. ไม่เกิน 13.55 น. จุด 34.2 Km. ไม่เกิน 14.35 น. จุด 39.8 Km. ไม่เกิน 15.45 น. และจุดสุดท้ายคือเส้นชัย 42.195 Km. ต้องถึงไม่เกินเวลา 16.10 น. ดังนั้น นักวิ่งต้องคุมเวลาให้ดี ถ้าช่วงไหนวิ่งเอื่อยๆเพลินไปหน่อยก็อาจไม่ผ่านเกณฑ์ถูกตัดสิทธิ์ได้อีกด้วยครับ