ห้วง 2 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของนักฟุตบอลไทยรุ่นใหม่ที่ถูกดึงตัวไปเล่นในลีกต่างแดน และประสบความสำเร็จจนกลายเป็นตัวหลักของทีม ทั้งยังสามารถทำประตู และก้าวขึ้นไปติดทีมยอดเยี่ยมประจำสัปดาห์และประจำสัปดาห์ไม่ว่าจะเป็น "เจ" ชนาธิป สรงกระสิทธิ์ มิดฟิลด์ของทีมคอนซาโดเล ซัปโปโร, "อุ้ม" ธีราทร บุญมาทัน แบ็คซ้ายจากทีมโยโกฮาม่า เอฟ มารินอส แห่งเจลีก ไม่นับ "นิว" ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ที่กำลังเก็บประสบการณ์อยู่กับสโมสรโออิตะ ตรินิต้า ในเจลีกเช่นกัน และ "ตอง" กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูสังกัดสโมสรโอเอช ลูเวิน ในลีกเบลเยียม รวมถึงนักฟุตบอลรุ่นน้องๆ อีกจำนวนหนึ่ง ก่อให้เกิดความสงสัยในหมู่แฟนบอลชาวไทยว่า มีโอกาสไหมที่นักเตะไทยจะมีโอกาสไปโลกแล่นในลีกชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในลีกที่ได้รับความนิยมที่สุดจากแฟนบอลทั่วโลกอย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ?
สำหรับคำถามดังกล่าว อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ซีอีโอเครือคิง เพาเวอร์ และ ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ ผู้เคยพาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษได้ในฤดูกาล 2015-2016 ทั้งยังพยายามผลักดันเยาวชนไทยให้ได้ไปสัมผัสกับฟุตบอลอังกฤษแบบจริงๆ จังๆ ปีละหลายสิบคน ผ่านโครงการ Fox Hunt ซึ่งดำเนินมาในปีนี้เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว โดยนายใหญ่แห่งเลสเตอร์ ซิตี้ ได้ตอบคำถามเรื่องนี้กับ MGR Online และสื่อมวลชนไทยกลุ่มหนึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า
"จริง ๆ มีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือ วินัย หรือ discipline ข้อที่สองคือ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอล" นายอัยยวัฒน์กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า
"เด็กไทย ไม่รู้ว่าการประพฤติตัวในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพต้องทำตัวอย่างไร แบบไหนบ้าง อย่างน้องๆ (Fox Hunt) ไปที่อังกฤษ สิ่งที่ผมเห็นเลยคือ เขาต้องปรับตัวกับสิ่งที่เขาไม่เคยเจอ กินก็ต้องตรงเวลา นอนก็ต้องตรงเวลา ต้องไปเรียนหนังสือ และก็ต้องเล่นกีฬา ในเวลาหนึ่งวันเขาต้องจัดการตัวเองทั้งหมด ไม่มีพ่อแม่มานั่งดู ไม่มีใครมาบอกว่า เฮ้ย! เข้าห้องเรียนนะ เฮ้ย! กินนะ เฮ้ย! นอนนะ แต่ว่าด้วยสภาพแวดล้อม ถ้าเขามา เขานอนน้อย เขาเล่นไม่ดีก็หลุดจากทีม นั่นคือสิ่งที่เขาโดนบีบ ถ้าเขากินอะไรไม่ดีมา Fat (ไขมัน) มันโชว์อยู่ว่าสูงกว่าคนอื่น ยูไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น แม้ยูอาจจะมีสกิลดีกว่าคนอื่น แต่ร่างกายไม่ดี สิ่งเหล่านี้คือนักฟุตบอลโดนบังคับด้วยความเป็นมืออาชีพ
"นักบอลที่เมืองไทยอาจจะมีโค้ชมาคุมบอก มา 10 คน มาเข้ายิม ยกน้ำหนัก 20 ที ทำให้ถูกทำยังไง แต่สิ่งที่นักบอลฝรั่งเขาทำคือ เขาส่งกระดาษเอ 4 ให้หนึ่งใบ ยูไปอ่าน ไปยกน้ำหนักท่านี้ที่ถูกต้องมีรูปให้ เอาไปทำ ทำไมทำเรื่องของคุณ แต่สตาฟจะมาตรวจ ผ่านไปสัปดาห์นึงถ้าร่างกายไม่ดีขึ้น คุณก็หลุดจากทีม นั่นคือวินัยที่ต้องทำตลอดเวลา ซ้อมต้องทำยังไง ซึ่งบางทีคนไทย นักบอลไทยจะคิดว่าฉันเก่งแล้ว ฉันมีสกิล ซึ่งไม่เถียง เพราะสตาฟในเลสเตอร์เองบอกว่า ถ้ามีตรงนี้ก็มีโอกาสได้เซ็นเป็นอะคาเดมีไปหลายคนแล้ว ซึ่งเขาก็ไม่อวยผมด้วย เพราะเขาบอกกันเอง และผมไปแอบดูมา"
ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ กล่าวต่อว่า ข้อที่ 2 คือ การฝึกสอนนักฟุตบอลของไทยตั้งแต่เริ่มต้นขาดความเข้าใจในกีฬาฟุตบอล แต่เน้นเรื่องความสามารถส่วนบุคคลมากกว่า
"หมายความว่าถ้าคุณเล่นกองหลัง ตอนที่ลูกบอลไม่อยู่กับตัว คุณต้องทำอะไรบ้าง ตอนที่กองหน้าฝ่ายตรงข้ามวิ่งไปทางนี้คุณต้องทำอะไรบ้าง ตอนที่เขาทุ่มตรงโน้นต้องทำอะไรบ้าง ตอนที่ลูกบอลมาอย่างนี้ต้องทำอะไรบ้าง แต่ความรู้พวกนี้ในอังกฤษเขาสอนตั้งแต่ 9 ขวบ มันเป็นแทคติค เป็นยุทธศาสตร์ในการเล่นว่าเราจะเล่นฟุตบอลกันอย่างไร และเราไม่เคยมีแบบแผน (Pattern) ชัดเจนว่าจะเริ่มเล่นจากข้างหลัง หรือเตะไปข้างหน้า ต่อข้าง ๆ หรือต่อตรงกลาง หรือให้กองหน้ายังไง เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กไทยไปอยู่ตรงนั้น เจอเข้าไปแบบนี้ ช่วง 1-2 สัปดาห์แรกวิ่งไม่เป็นเลย แล้วเราจะเห็นว่ากองหลังกับกองกลางไม่รู้จะทำยังไง ก็จะโดนทีมคู่แข่งยิงใส่เละเทะ ... ถ้าทั้ง 11 คน ประสานกันหมด ว่าถ้าเขาวิ่งทางนี้เราต้องเขยิบไปอย่างนี้ ถ้าเช็กล้ำหน้าวิ่งแบบไหน ถ้าสกัดต้องยังไง ทุกอย่างมันเป็นแบบแผนในการเล่นฟุตบอล
"วันแรก ๆ ที่ผมถามสตาฟโค้ชที่อังกฤษ หรือผู้จัดการในสมัยแรก ๆ ที่เราทำ Fox Hunt เขาบอกเลยว่า สกิลดี เทคนิคดี ร่างกายไม่มีปัญหา ความสูงความใหญ่ไม่ใช่ปัจจัย แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับฟุตบอลไม่มีเลย เขาบอกเลยนะว่าไม่มีเลย (ยิ้ม)" นายอัยยวัฒน์ตอบตรงๆ