xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมบริโภคน้ำตาลเกิน เค้าปรามด้วย “ภาษีความหวาน” / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“ของผม คาราเมล แม็ค...หวานน้อย... ของเฮีย อเมริกาโนไม่ใส่น้ำตาล ของพี่หมอเอาอะไรดีครับ” เสียงเจ้าเก่งสั่งกาแฟหลังมื้ออาหาร พี่หมอสั่งกาแฟและแอบพึงใจ เมื่อได้เห็นพฤติกรรมลดการบริโภคน้ำตาลของคนใกล้ตัวมิเสียแรงที่รณรงค์ลดการกินหวานกันใน 2-3 ปีที่ผ่านมา

- ภาษีความหวาน มาตรการเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการบริโภคน้ำตาลเกินขนาด คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึง 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ไม่เกิน 6 ช้อนชา จนเป็นที่มาของการที่คนไทยมากกว่า 3 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเบาหวานและต้องได้รับการรักษาไปตลอดชีวิต

ปรับที่พฤติกรรมการกิน

การขึ้นภาษีน้ำตาล อาจมีส่วนช่วยให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไปได้ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปรับความเคยชินในการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด เค็มจัดหรือมันจัด ให้อยู่ในระดับที่ไม่มีผลกระทบกับสุขภาพ รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า อาหารที่คนไทยนิยมบริโภคในปัจจุบัน มีผลทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมเร็วก่อนวัยอันควร จากรสจัดซึ่งต่างจากอาหารของคนไทยสมัยก่อนที่เน้นผักและผลไม้มากกว่านี้ อีกทั้งรสชาติไม่จัดจ้านเหมือนทุกวันนี้ จนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆตามที่เราได้เห็นในปัจจุบัน โรคเรื้อรังต่างๆอาจไม่แสดงผลในทันทีหลังจากที่บริโภคอาหารรสหวานมันเค็มแต่ในระยะยาว เมื่อมีอาการสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ก็จะทำให้โรคอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้

“การปรับเพิ่มภาษีเพื่อสุขภาพ โดยเริ่มจากน้ำตาลก่อนนั้น ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่สำคัญที่จะเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพของคนไทย” ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการให้ความเห็น “ครั้นจะให้เลิกรับประทานเลยในทันทีก็จะยากเกินไป แต่การค่อยๆปรับลดมาจะช่วยให้ควบคุมได้อย่างถาวร การปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียนและการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยได้มาก โดยให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน การใช้สารแทนความหวานมาช่วยนั้น อาจจะไม่มีผลกระทบอะไรต่อสุขภาพ แต่ถ้าร่างกายเรายังเคยชินกับการบริโภคอาหารรสหวานจัดอยู่ ก็จะไม่ได้ช่วยอะไรมาก ต่อการปรับพฤติกรรมการบริโภคของเรา”

“แต่ตอนนี้ เริ่มมีการปรับพฤติกรรมให้บริโภคน้อยลง เพราะเริ่มเห็นข่าวว่ามีผลเสียกับสุขภาพคิดว่าการชูประเด็น เรื่องผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ น่าจะมีประโยชน์มากกว่าการขึ้นภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มต่างๆตามร้านสะดวกซื้อนั้นหาได้ง่ายและเข้าถึงทุกพื้นที่ การรณรงค์ถึงอันตรายของมันเมื่อบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ น่าจะเห็นผลได้อย่างยั่งยืนมากกว่า” รศ.ดร.ประไพศรี กล่าวสรุป

*การปรับขึ้นภาษีน้ำตาล กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2562 นี้*
กำลังโหลดความคิดเห็น