xs
xsm
sm
md
lg

ไซออน วิลเลียมสัน “นิว เลอบรอน” แห่งนิว ออร์ลีนส์ / MVP

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

สิ้นสุดการดราฟต์ของ บาสเก็ตบอล เอ็นบีเอ (NBA) ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ไฮไลท์สำคัญของชาวเอเชีย น่าจะอยู่ที่ รุย ฮาชิมูระ รุกกีจากมหาวิทยาลัยกอนซากา ซึ่งหลายๆ ท่านน่าจะทราบเรื่องราวหนุ่มคนนี้มาบ้างแล้ว หลังถูก วอชิงตัน วิซาร์ดส คัดเลือกอันดับ 9 สูงสุดของชาวญี่ปุ่น ที่เหลือก็ต้องรอดูว่า การประสานงาน 2 รุ่นพี่ดีกรี ออล-สตาร์ อย่าง จอห์น วอลล์ กับ แบรดลีย์ บีล

แน่นอนว่า เราจะลืมดาวรุ่งที่สื่อหลายสำนักจับตามองว่า จะกลายเป็น “เด็กทองคำ” คนใหม่ของวงการ นับตั้งแต่ เลอบรอน เจมส์ ถูกคัดเลือกคนแรก เมื่อปี 2003 คือ ไซออน วิลเลียมสัน นัมเบอร์ดราฟต์ของ นิว ออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ ซึ่งจะมาทดแทน แอนโธนี เดวิส ฟอร์เวิร์ดแม่ทัพ ที่มีข่าวกำลังจะย้ายซบ แอลเอ เลเกอร์ส ช่วงเดือนกรกฎาคม

ใครที่ติดตามเพจดังทั้งหลายเกี่ยวกับ NBA ตามโซเชียล มีเดีย เชื่อว่าคงได้ยินชื่อเสียงของ วิลเลียมสัน วัย 18 ปี มาตั้งแต่ยังไม่จบ เรกูลาร์ ซีซัน เสียด้วยซ้ำ ตามโผการดราฟต์ที่ปรากฏ ก็ไม่มีเหตุการณ์พลิกล็อกแต่อย่างใดว่า เด็กหนุ่มจากมหาวิทยาลัย ดุ๊ก จะเป็นผู้เล่นเกิดปี 2000 คนแรก ที่เข้าสู่ระดับอาชีพ

วิลเลียมสัน ซึ่งกำลังจะอายุครบ 19 ปีเต็ม วันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ฉายแววโดดเด่นกับ ดุ๊ก บลู เดวิลส์ ตั้งแต่ซีซันแรก ค่าเฉลี่ย 22.6 แต้ม 8.9 รีบาวน์ด กวาด 3 รางวัลของ แอตแลนติก โคสต์ คอนเฟอเรนซ์ (ACC) ได้แก่ ผู้เล่นแห่งปี , รุกกีแห่งปี และ ผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) รวมถึงทาบสถิติ เควิน ดูแรนท์ กับ เดวิส ปิดสกอร์อย่างน้อย 500 แต้ม 50 สตีล และ 50 บล็อก นับเฉพาะ 1 ซีซัน

ลอกนึกย้อนถึงเหตุการณ์ดราม่า วิลเลียมสัน บาดเจ็บหัวเข่า เนื่องจากรองเท้าแบรนด์ดัง ซิกเนเจอร์ของ พอล จอร์จ ฟอร์เวิร์ด โอกลาโฮมา ซิตี ธันเดอร์ เกิดพื้นระเบิด ส่งผลกระทบต่อหุ้นของผู้ผลิตตกฮวบถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ (20 ก.พ.) และมีเสียงเรียกร้องให้หยุดพักทั้งซีซัน เพื่อเตรียมเข้าสู่การดราฟต์ เนื่องจากนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้รับค่าจ้าง

ตามสรีระ 6 ฟุต 7 นิ้ว (201 เซนติเมตร) หนัก 285 ปอนด์ (129 กิโลกรัม) เสมือนรถไฟขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง จังหวะเล่น “ฟาสท์ เบรก (โต้กลับ)” ความหนักหน่วงของลูกดังก์ และการบล็อกที่เด็ดขาด ทำให้แฟนๆ มองว่า น่าจะมากลายเป็นสัญลักษณ์คนใหม่ของ NBA แทน “คิงเจมส์” ระยะยาว

ด้าน เลอบรอน ซึ่งเคยติดตามผลงานของ วิลเลียมสัน มาระยะหนึ่ง ยังเอ่ยปากชมฝีไม้ลายมือเช่นกัน ตามบทสัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ “เอชบีโอ สปอร์ตส (HBO Sports)” ของ สหรัฐอเมริกา “ผมนั่งดูเขาอยู่หลายครั้งตลอดซีซันที่แล้ว สิ่งหนี่งที่ผมเห็นชัดเจนที่สุดในปีแรกของเขากับ มหาวิทยาลัยดุ๊ก คือ พละกำลังของเขาน่ากลัวมาก ทุกๆ การครองบอล ดูเหมือนว่าเขาสามารถสร้างความแตกต่าง และตัดสินเกมได้เลย”

กระแสของชาว นิว ออร์ลีนส์ ตื่นตัวแค่ไหน ลองสังเกต ดรูว์ บรีส์ ควอเตอร์แบ็กจอมเก๋า นิว ออร์ลีนส์ เซ็นต์ส สร้างเซอร์ไพรส์แก่ วิลเลียมสัน ด้วยของขวัญชิ้นพิเศษ นำยูนิฟอร์มหมายเลข 9 พร้อมลายเซ็น ใส่กรอบตั้งไว้ในห้องพักของโรงแรม และข้อความยกตำแหน่ง ซูเปอร์สตาร์ประจำท้องถิ่น ให้ช่วยสืบทอด เนื่องจากทั้ง 2 แฟรนไชส์ มีเจ้าของคนเดียวกัน คือ เกย์ล เบนสัน ภรรยาของ ทอม ผู้ล่วงลับ

ตามประวัติศาสตร์ของลีก นัมเบอร์วันดราฟต์ ที่ล้มเหลวก็ไม่อยู่ไม่น้อย จริงอยู่ว่า วิลเลียมสัน มีลูกดังค์ทรงพลัง และเขมือบผู้เล่นรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างง่ายดาย แต่นั่นไม่ใช่การเผชิญหน้าผู้เล่นอาชีพ และมีประสบการณ์มากกว่า สุดท้ายก็ต้องคอยดูกันว่า ผลผลิตจากมหาวิทยาลัย ดุ๊ก จะสร้างสิ่งมหัศจรรย์เหมือน เลอบรอน หรือไม่ หากตรงกันข้าม การเปรียบเทียบ 2 ขุนพลต่างยุค อาจเป็นเสมือนการหยาม เจ้าของแหวนแชมป์ 3 สมัย มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น