ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงนักบาสเกตบอลญี่ปุ่นเราแทบจะนึกชื่อกันไม่ออก โดยชื่อแรกที่ผุดขึ้นมากลับกลายเป็นชื่อของตัวการ์ตูนสุดฮิตอย่าง ซากุรางิ ฮานามิจิ จากหนังสือเรื่อง สแลมดังก์ ซึ่งเรื่องการ์ตูนสร้างชาติของแดนปลาดิบนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกเพราะมีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการ์ตูนฟุตบอลเรื่อง ซึบาสะ
ซึ่งล่าสุดปรากฎการณ์การ์ตูนสร้างชาติกำลังจะกลับมาอีกครั้งเมื่อศึกบาสเก็ตบอล เอ็นบีเอ (NBA) ได้จารึกประวัติศาสตร์ด้วยการที่ รุย ฮาชิมูระ กลายเป็นผู้เล่นชาวญี่ปุ่นคนแรก ซึ่งถูกดราฟต์รอบ 1 ประจำปี 2019 ยังถือเป็นการปลุกความคึกคักแก่วงการยัดห่วงแดนซามูไร รวมถึงทวีปเอเชีย ที่กำลังความหาซูเปอร์สตาร์หน้าใหม่ เดินตามรอย เหยา หมิง อดีตขุนพล ฮูสตัน ร็อคเก็ตส์ ซึ่งเคยโด่งดังปี 2002-2011
นักบาสเก็ตบอลสายเลือดญี่ปุ่น ไม่ค่อยปรากฏตัวบ่อยนักบนสังเวียนอาชีพของ สหรัฐอเมริกา ทว่าเคยถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัย วัต หรือ วาตารุ มิซากะ การ์ดจ่ายลูกครึ่ง เจแปนีส-อเมริกัน คือ ผู้เล่นคนแรกที่ไม่ใช่คนผิวขาว สมัยร่วมทีม นิวยอร์ก นิกส์ เมื่อปี 1947 ลงเล่นเพียง 3 เกม ก่อนถูกตัดชื่อทิ้ง
เข้าสู่ปี 1981 ยาสุทากะ โอกายาม่า เซ็นเตอร์สรีระ 7 ฟุต 8 นิ้ว (234 เซนติเมตร) กลายเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกดราฟต์ โดย โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส แต่ไม่มีโอกาสสัมผัสเกมระดับอาชีพ ตามด้วย 2 ผู้เล่นที่ไม่ถูกคัดเลือกอย่าง ยูตะ ทาบุเสะ รับใช้ ฟีนิกซ์ ซันส์ เพียง 4 เกม ฤดูกาล 2004-05 และ ยูตะ วาตานาเบะ ฟอร์เวิร์ด อยู่กับ เมมฟิส กริซซ์ลีส์ ฤดูกาล 2018-19 ลงสนาม 15 เกม
ส่วนปัจจุบัน ฮาชิมูระ วัย 21 ปี คือ ความหวังของแฟนๆ บาสเก็ตบอลแดนซามูไรอย่างแท้จริง หลังถูก “พ่อมด” วอชิงตัน วิซาร์ดส คัดเลือกคนที่ 9 วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น สหรัฐฯ ในยุคซึ่งผู้เล่นต่างชาติเข้ามาสร้างชื่อระดับ NBA มากมาย อาทิ ยานนิส อันเตโตคุมโป ฟอร์เวิร์ดชาวกรีซของ มิลวอคกี บัคส์ และ ลูกา ดอนซิช ดาวรุ่ง ดัลลัส มาเวอริกส์ ที่น่าจะกวาด 2 รางวัลใหญ่ ทั้งผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) และ รุกกี ออฟ เดอะ เยียร์ ประจำปี 2019
เจ้าของส่วนสูง 6 ฟุต 8 นิ้ว (203 เซนติเมตร) เกิดที่เมือง โทยาม่า มีมารดาชาวญี่ปุ่นชื่อ มากิโกะ และบิดาชาวเบนิน ซาการี เคยเล่นเบสบอลช่วงวัยเยาว์ตำแหน่ง แคตเชอร์ กับ พิตเชอร์ ก่อนเริ่มฉายแววกีฬาบาสเก็ตบอล ปี 2013 พาทีม เมเซ คว้าแชมป์ประเทศ สมัยที่ 2 กระทั่งได้รับเชิญเข้าร่วม “จอร์แดน แบรนด์ คลาสสิค” ทัวร์นาเมนต์รวมดาราระดับ ไฮ สคูล ปี 2015 ทำไป 9 แต้ม 5 รีบาวน์ด
ต่อมา ฮาชิมูระ หอบข้าวของมาศึกษาต่อ ที่มหาวิทยาลัยกอนซากา ทว่าเกิดติดขัดเล็กน้อย เนื่องจากต้องเข้าโรงเรียน เตรียมความพร้อมด้านวัฒนธรรมชาวอเมริกัน กับ ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ตลอดจนฝ่าฟันการสอบ SAT กว่าจะกลายเป็นผู้เล่นชาวญี่ปุ่นคนที่ 5 ซึ่งลงเล่นระดับมหาวิทยาลัย ต่อจาก เคเจ หรือ เคอิจิโร มัตสึอิ , ไมเคิล ทากาฮาชิ , ทาอิชิ อิโตะ และ ยูตะ วาตานาเบะ เดือนพฤษภาคม 2016
ฮาชิมูระ โดดเด่นสุดขีดช่วงซีซันที่ 3 (2018-19) กับ กอนซากา บูลล์ด็อกส์ ค่าเฉลี่ย 19.7 แต้ม 6.5 รีบาวน์ด ยิงฟิลด์โกลเข้าเป้า 59.1 เปอร์เซ็นต์ และ 3 คะแนน 41.7 เปอร์เซ็นต์ คว้ารางวัล เพลเยอร์ ออฟ เดอะ เยียร์ ของ เวสต์ โคสต์ คอนเฟอเรนซ์ และเหมา 22 แต้ม 6 รีบาวน์ด เกมพ่ายแก่ เท็กซัส เทค 69-75 รอบ 8 ทีมสุดท้าย (อีลิต เอจท์) ของ เอ็นซีดับเบิลเอ (NCAA) ทัวร์นาเมนต์
“บี ลีก” ลีกบาสเก็ตบอลอาชีพของญี่ปุ่น เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2005 ทว่าความนิยมยังด้อยกว่า เบสบอล และฟุตบอล แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของ ฮาชิมูระ ระดับ NBA จะช่วยปลุกกระแสในบ้านเกิด และสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กลูกครี่ง
ฮาชิมูระ กล่าวว่า “มันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับ ญี่ปุ่น เพราะเราไม่เคยมีผู้เล่นแบบผม การลงเล่นระดับ NBA มีความหมายต่อผมมาก ทั้งครอบครัว , บาสเก็ตบอลของญี่ปุ่น และทั้งประเทศ มีคนลูกครึ่งญี่ปุ่นผิวสีมากมายที่เล่นกีฬา พวกเขาค่อนข้างเก่งเรื่องนี้ ดังนั้นผมคิดว่า มันวิเศษมากๆ ที่พวกเขาได้เห็นช่วงเวลาแบบนี้”
ฮาชิมูระ คือ ความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่น ความรู้สึกแบบเดียวกับแฟนๆ ชาวกรีซ แสดงต่อ อันเตโตคุมโป ตัวเต็ง MVP ซีซันนี้ ต้องรอดูกันต่อไปว่า จะสามารถสร้างชื่อทาบชั้น เหยา หมิง เซ็นเตอร์ระดับตำนานชาวจีน ซึ่งปิดฉากอาชีพแบบโชคร้าย เมื่อปี 2011 เนื่องจากอาการบาดเจ็บเรื้อรัง หรือไม่