xs
xsm
sm
md
lg

มาอีกแล้ววายร้ายหน้าร้อน "โรคลมแดด" / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

เสียงเหวอรถพยาบาลดังสนั่นจนต้องสะดุ้ง ครั้นเสียงจางลงคลับเฮาส์ก็เงียบสงบ

เจ้าเก่ง ผู้สื่อข่าวประจำก๊วน ก้าวเข้ามาพลางรายงานเหตุการณ์อย่างรู้ใจคนคอยฟัง "ใช่แล้วครับโรคลมแดดนี่เป็นรายที่ 2 แล้วนะครับเดือนนี้"

"น่ากลัวนะอากาศร้อนระอุอย่างนี้จะป้องกันยังไงล่ะหมอสรุปให้ฟังหน่อยซิ" เฮียชูสง่า สีหน้าเครียดพลางยกน้ำเย็นขึ้นดื่มจนหมดแก้ว

- อาการของโรคลมแดด อาการสำคัญได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิ 41 องศา มีเหงื่อ หรือในกลุ่มผู้สูงอายุหรือเด็กอาจไม่มีเหงื่อออก สัมพันธ์กับอากาศร้อน ขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย มีอาการเพ้อ ความดันเลือดลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย มึนงง สับสน ชักเกร็ง หมดสติ

โดยกลไลการทำงานของร่างกายหลังจากได้รับความร้อนจะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญภายในเช่น สมอง ตับ และ กล้ามเนื้อ จึงทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้

- การช่วยเหลือเบื้องต้น นำผู้ที่มีอาการเข้าในที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเงินประคบบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน ใช้น้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุดแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

- การรักษา โรคลมแดดเป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ที่ต้องรีบให้การรักษาทันทีดังนี้

1.ลดอุณหภูมิร่างกายลง โดยลดลงมาที่ 39 องศาอย่าให้ลดเร็วเกินไป พ่นละอองน้ำใช้น้ำอุ่น ร่วมกับการเปิดพัดลมเป่าจะช่วยระบายความร้อนค่อยๆ ลดลงถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าการใช้น้ำผสมน้ำแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหนาวสั่นและเส้นเลือดหดตัว ทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้น

2.การลดความร้อนวิธีอื่นๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน แต่ยังสามารถทำได้ เช่น การใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหาร ช่องท้อง และทวารหนัก แล้วทำการล้างด้วยน้ำเย็น การใช้ออกซิเจนเย็น

3.ให้สารน้ำทางหลอดเลือด การให้สารน้ำอย่างพอดี ถ้าพบว่ามีการสลายกล้ามเนื้อ มีเลือดออกในปัสสาวะ อาจต้องให้สารน้ำมากขึ้น และบันทึกการขับถ่ายปัสสาวะ

4.แก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือด หากพบว่าภาวะน้ำตาลต่ำ

5.เฝ้าระวังการผิดปกติของระบบต่างๆ และรีบแก้ไขทันที

- การป้องกัน

1.ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มให้ได้ 2 ลิตรต่อวัน

2.หลีกเลี่ยงที่อากาศร้อน ถ่ายเทไม่สะดวก ลดความร้อน อาบน้ำ เปิดพัดลม

3.ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม ถ้ารู้สึกเหนื่อยมากควรรีบพัก

4.สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี

5.หากต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมหมวกป้องกันหรือเปิดพัดลมระบายอากาศ

6.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือยาที่เพิ่มความร้อนในร่างกาย
กำลังโหลดความคิดเห็น