ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 – เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาช้านานของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ NFL ที่ชื่อ ซูเปอร์ โบว์ล ซึ่งจะต้องมีการเชื้อเชิญศิลปินชื่อดังมาร่วมมอบความบันเทิงให้แก่ผู้ชมในสนามในช่วงพักครึ่งของการแข่งขันอันดุเดือด แน่นอนว่ามีศิลปินมากมายที่อยากใช้ช่วงเวลานาทีทองนี้สร้างชื่อให้แก่ตนเอง แลกกับผลลัพธ์ที่เป็นเม็ดเงินมหาศาลในอนาคต แต่ก็มีศิลปินอีกมากมายที่ปฏิเสธไม่อยากร่วมสังฆกรรมด้วย
ศึกชิงแชมป์ ซูเปอร์ โบว์ล ครั้งที่ 53 ซึ่งจะอุบัติขึ้นในคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ที่สังเวียน เมอร์เซเดส เบนซ์ สเตเดียม โดยช่วงพักครึ่งระหว่างการปะทะกันของ นิว อิงแลนด์ แพทริออตส์ กับ แอลเอ แรมส์ หนนี้ทาง เอ็นเอฟแอล เชิญวงป๊อปร็อคสุดฮิตระดับโลก มารูน ไฟฟ์ (Maroon 5) มาร่วมแสดงในช่วงที่เรียกว่า “ฮาล์ฟ ไทม์ โชว์” พร้อมด้วยแขกรับเชิญพิเศษทั้ง ทราวิส สกอตต์ กับ บิ๊ก บอย สองแร๊ปเปอร์ชื่อดัง มาร่วมสร้างสีสันคืนชิงแชมป์
เกริ่นก่อนว่าการแสดงช่วง ฮาล์ฟ ไทม์ โชว์ ที่ผุดไอเดียนำศิลปินมาเล่นคอนเสิร์ตตั้งแต่ปี 1993 คืออีเวนต์ที่ศิลปินน้อยใหญ่มากมายต่างเฝ้าฝันอยากเข้ามาแสดง เหตผลหลักเพราะมันคือช่วงเวลาที่ศิลปินจะได้ขนเพลงฮิตและสร้างโชว์ของตัวเองไปสู่สายตาผู้ชมทั้งในสนามและถ่ายทอดสดทางบ้าน ในอีเวนต์ระดับใหญ่ที่สุดแห่งวงการกีฬาสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน แถมยังเป็นการโปรโมตให้ผลงานของตัวเองกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่าเดิมเพราะเห็นกันไปทั่วโลก
การแสดง ฮาล์ฟ ไทม์ โชว์ มีหลายครั้งที่ถูกจดจำเป็นตำนานเช่น ไมเคิล แจ๊คสัน ราชาเพลงป๊อปตลอดกาล ที่เนรมิตสังเวียน โรส โบว์ล ในปี 1993 ให้กลายเป็นเวทีคอนเสิร์ตแห่งความทรงจำ ก่อนที่ศิลปินเบอร์ใหญ่จะตบเท้าเรียงกันมาทั้ง บรูซ สปริงสทีน, เซอร์ พอล แม็คคาร์ธนีย์, ยูทู (U2), โคลด์เพลย์ (Coldplay) รวมถึงซูเปอร์สตาร์เพลงป๊อปหน้าใหม่ทั้ง บรูโน่ มาร์ส, เคที เพอร์รี และตัวแม่อย่าง บียอนเซ่, เลดี้ กาก้า ที่ต่างประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน
แม้ศิลปินที่มาเล่นในช่วงพักครึ่ง จะไม่ได้รับค่าจ้างจากลีกเอ็นเอฟแอลแม้แต่แดงเดียว นั่นหมายถึงเล่นฟรีแบบไม่มีค่าตัว แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับกลับไปนั้นมหาศาลยิ่ง เพราะหากโชว์ของพวกเขาทำได้ยอดเยี่ยม จะทำให้ยอดขายอัลบั้มและตั๋วคอนเสิร์ตของตัวเองขายดียิ่งไปกว่าเดิม ยกตัวอย่าง บรูโน มาร์ส ที่สรรค์สร้างโชว์น่าตื่นตาใน เม็ตไลฟ์ สเตเดียม ปี 2014 ยอดผู้ชมทะลัก 115 ล้านวิว ส่วนเช้าวันต่อมายอดขายอัลบั้มและซิงเกิลก็พุ่งขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ในบัดดล โกยรายได้ไปกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 310 ล้านบาท)
กระนั้นเองก็ไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่อยากมาเล่นใน ฮาลฟ์ ไทม์ โชว์ ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตผลต่างกันไป ยกตัวอย่าง อะเดล ดีว่าหญิงเสียงทรงพลังจากอังกฤษ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวถูกเชิญมาขึ้นแสดงในปี 2017 แต่เธอปฏิเสธทีมผู้จัดไปเพราะคิดว่านั่นไม่ใช่เวทีของเธอ และเพลงป๊อปโชว์พลังเสียงของเธอก็ไม่เหมาะที่จะทำหน้าที่มอบความบันเทิงแก่ผู้ชม “มันไม่ใช่โชว์ที่เกี่ยวกับดนตรีเลย อีกอย่างฉันเต้นหรือเอนเตอร์เทนคนดูไม่ได้ด้วย พวกเขามาถามฉัน และฉันก็ตอบปฏิเสธไป”
ขณะที่ เจย์ซี, พิงค์ และ ริฮานน่า ก็คือกลุ่มศิลปินผู้ปฏิเสธขึ้นแสดงเช่นกัน โดยรายหลังบอกปัดเพราะไม่ต้องการพาตัวเองไปเกลือกกลั้วกับ เอ็นเอฟแอล ที่ให้การปฏิบัติต่อ โคลิน เคเปอร์นิค ควอเตอร์แบ็กผู้อื้อฉาวที่แสดงการประท้วงต่อลีกด้วยการคุกเข่าช่วงเคารพเพลงชาติสหรัฐฯ ในกรณีที่คนผิวสีถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติความรุนแรงใส่โดยไม่เป็นธรรม จนทำให้ เคเปอร์นิค ถูกแบนจากลีก และมีศิลปินมากมายที่ร่วมกันแบนเอ็นเอฟแอลกลับจากเรื่องไม่ยุติธรรมนี้
แม้แต่ศิลปินเมทัลรุ่นใหญ่อย่าง เมทัลลิก้า (Metallica) ที่แฟนเพลงเรียกร้องกันเข้ามามาก ก็ไม่ถูกเชิญเข้ามาร่วมเล่น ฮาล์ฟ ไทม์ โชว์ โดยถูกลีกเมินมาตลอดอาจเพราะเรื่องของเนื้อเพลงที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ชมที่หิ้วลูกเด็กเล็กแดงมาดูที่สนาม รวมถึง ฟู ไฟเตอร์ส (Foo Fighters) ที่นักร้องนำอย่าง เดฟ โกรห์ล ออกมาบอกว่าถูกเชิญชวนมาหลายครั้ง แต่เมื่อเห็นลีกเปลี่ยนใจเลือกศิลปินเพลงป๊อปมากกว่าในช่วงหลัง จึงเกิดอาการงอนและไม่ขอเล่นด้วยอีกแล้ว
ส่วน มารูน ไฟฟ์ เจ้าของเพลงฮิตมากมายทั้ง This Love, She Will Be loved, Sugar โดนแอนตี้จากแฟนบอลเอ็นเอฟแอล มากมายเพราะพวกเขาตอบรับคำเชิญจากลีกที่ให้การปฏิบัติกับ โคลิน เคเปอร์นิค แบบเลวร้าย เรียกว่าแทนที่จะต่อต้านแต่กลับเข้าร่วมเสียอย่างงั้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า อดัม เลอวีน และผองเพื่อนสมาชิกจะสามารถเปลี่ยนเสียงโห่ในโลกออนไลน์ให้กลายเป็นเสียงชื่นชมได้หรือไม่ในเกมนัดชิงที่แอตแลนต้า เพราะหากทำสำเร็จ ก็เตรียมรับทรัพย์กันแบบมหาศาลรอได้เลย