xs
xsm
sm
md
lg

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง...ระวังหัวใจวาย! / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

"วันนี้เลิกเร็วหน่อยนะเฮียขอไปเยี่ยมลุงสมานหน่อยแกหัวใจวายนอนโรงพยาบาลห้อง CCU" คุณชูสง่า บอกกล่าวก๊วนก่อนออกรอบ

"อ้าว! ลุงหมานเพื่อนเฮียดูแกยังแข็งแรงอยู่เลย แกเป็นแค่ลำไส้อักเสบไม่ใช่หรอครับ" เจ้าเก่งนึกสงสัย

"เออ...หมอ 2 โรคนี้มันเกี่ยวกันไหม?" เฮียก็สงสัยอยู่

"เกี่ยวอย่างแรงครับเฮีย"

- สำไส้อักเสบเรื้อรังเชื่อมโยงความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจวาย

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้รายงานผลวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เช่นโรคโครห์น ซึ่งเป็นโรคที่ลำไส้ใหญ่มีความผิดปกติเรื้อรังจนเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารและโรคลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล ซึ่งโรคเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือเรียกกันว่าหัวใจวาย เนื่องจากการอักเสบเรื้อรังในลำไส้อาจทำให้เลือดแข็งตัวและเส้นเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงมากขึ้น

จากการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยกว่า 24 ล้านรายทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลเกือบ 132,000 รายและอีก 159,000 รายเป็นโรคโครห์น ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังมีอัตราเกิดภาวะหัวใจวาย 3.3% ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลมีอัตราเกิดภาวะหัวใจวาย 6.7% และผู้ป่วยโรคโครห์นมีอัตราเกิดภาวะหัวใจวาย 8.8% นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้องรังที่มีอายุ 30-34 ปีเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจวายมากกว่า 12 เท่าของกลุ่มคนที่ไม่เป็นโรคดังกล่าว แต่ผู้ป่วยโรคนี้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายมากกว่า 2 เท่าของคนที่ไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบเรื้องรัง

นักวิจัยพบว่าโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาให้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอิสระที่พัฒนาไปสู่ภาวะเกิดโรคหัวใจ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรอบคอบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง เพราะหากควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้และรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอย่างต่อเนื่องก็อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น