เตรียมเปิดงานบางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018 งานวิ่งมาตรฐานระดับโลก IAAF Bronze Label งานแรกและงานเดียวของไทย นักวิ่งระดับโลกตบเท้าร่วมทำลายสถิติคับคั่ง
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ร่วมกับ เทศบาลเมืองแสนสุข เดินหน้าจัดงานวิ่งมาตรฐานระดับโลก “บางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018” สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการวิ่งไทย ในฐานะงานแรกและงานเดียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก IAAF Bronze Label Road Race โดยในปีนี้มีนักวิ่งเข้าร่วมงานกว่า 15,000 คน พร้อมนักวิ่งชั้นนำ(Elite Runners) ระดับโลกร่วมแข่งขันสร้างสถิติใหม่คับคั่ง โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานโลก มีการรับรองระยะทางที่แม่นยำ ความปลอดภัยของนักวิ่งเต็มร้อย ปิดถนน 100% ทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน และการสุ่มตรวจการใช้สารกระตุ้น
นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และในฐานะผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน (Race Director) เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จของงานวิ่ง "บางแสน 21-2018" ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Bronze Label ซึ่งเป็นผลจากความตั้งใจและความพยายามของคณะผู้จัดทุกฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้งานวิ่งของไทยก้าวไกลไปสู่มาตรฐานโลก ได้สำเร็จเป็นงานแรกและงานเดียวของไทยจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations ) หรือ IAAF ที่มีการรับรองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยเป็นสนามที่ 2 ของอาเซียน และทั่วโลกมีเพียง 114 แห่งเท่านั้น
งานวิ่ง "บางแสน 21" ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการวิ่งไทย ที่มีการจัดงานตามมาตรฐานระดับสากลตามข้อกำหนดของ IAAF ไม่ว่าจะเป็น การได้รับการรับรองมาตรฐานระยะวิ่งจาก IAAF และสมาคมมาราธอนและการแข่งขันระยะไกลนานาชาติ (AIMS) เรียบร้อยแล้ว ได้รับการรับรองการจัดการแข่งขันจากสหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย (AAA) และสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (AAT)
การปิดการจราจร 100% ตลอดการแข่งขัน มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน มีจุดบริการน้ำ เครื่องดื่มเกลือแร่ ขนม ผลไม้ ทุกๆ 2 กิโลเมตร และมีระบบการตัดตัวนักวิ่ง (Cut-off) นอกจากนี้ยังมีการทำประกันอุบัติเหตุ วงเงินรักษาพยาบาล 100,000 บาทให้กับนักวิ่งทุกคน รวมถึงมีการสุ่มตรวจการใช้สารกระตุ้น (Anti-Doping) เป็นต้น นอกจากนี้เรามีนักวิ่งระดับโลก (Elite Runners) จาก 6 ประเทศ คือ เคนย่า มองโกเลีย โรมาเนีย ยูเครน ยูกันดา และจีน ที่มีสถิติการวิ่งระดับ Silver และ Gold มาร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมากอาทิเช่น Robert Wambua MBITHI (ชาย) จากเคนย่า (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:01:00 ชม.) Ben SIWA (ชาย) จากยูกันดา (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:01:56 ชม.) และ Chemtai RIONOTUKEI (หญิง) จาก เคนย่า (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:12:47 ชม.)
นอกจากนี้ยังมีดาวรุ่งทีมชาติไทยอาทิ เช่น โทนี่ เพนย์ (ชาย) (เจ้าของสถิติมาราธอนประเทศไทย 2:16:56 ชม.) สัญชัย นามเขต (ชาย) (สถิติฮาล์ฟมาราธอน 1:07:50 ชม.) และ เจน วงศ์วรโชติ (หญิง) (เจ้าของสถิติฮาล์ฟมาราธอนหญิงประเทศไทย 1:15:24 ชม.) เป็นต้น ที่ตั้งเป้ามาร่วมทำลายสถิติประเทศไทยในครั้งนี้ด้วย โดยบริษัท ไทยดอทรัน Innovation Partner ของงานวิ่ง บางแสน21 ได้ตั้งรางวัลโบนัส สำหรับนักวิ่งไทยที่สามารถทำลายสถิติฮาล์ฟมาราธอนประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ด้วยเงินรางวัล สูงถึง 100,000 บาท” นายรัฐ กล่าว
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม (นายกตุ้ย) นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าวว่า "การได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Bronze Label จะทำให้สนามนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และเป็นใบเบิกทางที่ดี ให้กับประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็นเมือง Sport Tourism ให้นักวิ่งทั่วโลกรู้จักและอยากมาวิ่งที่เมืองไทยให้เป็นสนามที่สำคัญของการแข่งขันมาราธอนเเหมือนสนามระดับเมเจอร์
เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะเรามีข้อได้เปรียบทั้งเรื่องอากาศที่สามารถแข่งขันได้ตลอดทั้งปี เชื่อว่าจะเป็นอีกแนวทางสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะงานวิ่งใหญ่ๆระดับโลกแต่ละงานมีเงินหมุนเวียนหลายพันล้านบาท ที่สำคัญมากว่านั้น เราหวังให้งานวิ่งที่เราจัดเป็นการส่งความสุขและสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้กับคนที่เข้าร่วมกิจกรรมรวมถึงผู้ติดตาม เพื่อที่จะนำสปิริตมาราธอนที่ต้องมีความพากเพียรพยายามและอดทนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไปได้" นายณรงค์ชัย กล่าว
ดร.นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ในฐานะผู้อำนวยการด้านการแพทย์ (Medical Director) งานวิ่งบางแสน21 ฮาล์ฟมาราธอน 2018 กล่าวว่า ทางทีมแพทย์มีการเตรียมพร้อมสำหรับงานนี้อย่างเต็มที่ โดยได้จัดเตรียมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน อาสาสมัครทีมนักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย รวมกว่า 300 คน ซึ่งมากกว่ามาตรฐานที่ทาง IAAF ระบุไว้
นอกจากนี้ยังมีจุดบริการทางการแพทย์หลักทุก 4 กิโลเมตร และจุดปฐมพยาบาลทุก 2 กิโลเมตร รถพยาบาลและรถกู้ภัยฉุกเฉินจำนวน 10 คัน จากโรงพยาบาลชั้นนำ และทีมกู้ภัยหลายแห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด นั่นคือ หุ่นยนต์ปั๊มหัวใจอัตโนมัติ หรือ LUCAS เพื่อสแตนบายในงานบางแสน21
ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถปั๊มหัวใจได้ทุกที่ทุกเวลา และพิเศษสำหรับงานนี้ทางทีมแพทย์ได้มีบริการตรวจคลื่นหัวใจสำหรับกลุ่มเสี่ยงฟรี และได้จัดเตรียม โรงพยาบาลเคลื่อนที่ (Medical Center) สามารถให้บริการทางการแพทย์เช่นเดียวกับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่รอไม่ได้ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในลำดับต่อไป ซึ่งนับเป็นการจัดเตรียมบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก