xs
xsm
sm
md
lg

สมาพันธ์หมากล้อมฯ จัดแข่งขัน “โกะจีนโลก” ระดมนักวางหมากกว่า 80 คนจากทั่วโลกประชันฝีมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

การแข่งขันหมากล้อมจีนโลกครั้งที่ 20 ประจำปี 2561 ชิงถ้วยเหยียนหวงเปย (The 20th Yan Huang Cup World Chinese Weiqi Invitational Tournament) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2561 ณ เมืองเกาสง ไชนีสไทเป (ไต้หวัน)
ซีพี ออลล์ เผยการแข่งขันหมากล้อมจีนโลกครั้งที่ 20 ระดมนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ชาวจีน จากทั่วทุกมุมโลกกว่า 80 คนเข้าร่วมการแข่งขัน หวังกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ส่วนไทยส่งนักแข่ง 7 รายเข้าร่วม ชิงถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะนายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยและประธานสมาพันธ์หมากล้อมจีนโลก เปิดเผยว่า การแข่งขันหมากล้อมจีนโลกครั้งที่ 20 ประจำปี 2561 ชิงถ้วยเหยียนหวงเปย (The 20th Yan Huang Cup World Chinese Weiqi Invitational Tournament) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2561 ณ เมืองเกาสง ไชนีสไทเป (ไต้หวัน) โดยในปีนี้มีนักกีฬาหมากล้อมทั้งนักธุรกิจ เจ้าของกิจการและผู้สนใจเรื่องหมากล้อมที่เป็นชาวจีน และจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 80 คนเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและกระชับความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างนักกีฬาหมากล้อมด้วยกัน



ทั้งนี้การแข่งขันหมากล้อมจีนโลกชิงถ้วยรางวัล เหยียนหวงเปย ได้เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 เป็นการแข่งขันที่มีนักกีฬาหมากล้อมชาวจีนจากทั่วโลกเข้าร่วม เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ “กิมย้ง” (นักเขียน นวนิยายกำลังภายในชื่อดัง, ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมนักประพันธ์แห่งประเทศจีน), คุณเสิ่นจวินซาน (ประธานกองทุนอู๋เจี้ยนสวงแห่งไต้หวัน, อธิการบดีมหาวิทยาลัยชิงหวา), คุณหลินไห่เฟิง (นักหมากล้อมอาชีพระดับ 9 ดั้ง, และอดีตแชมป์โลก) และคุณเนี่ยเว่ยผิง (อดีตกรรมาธิการผู้ให้คำปรึกษาด้านการเมืองแห่งประเทศจีน, ผู้เชี่ยวชาญด้านหมากล้อมของจีน) โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมกีฬาหมากล้อมทั่วโลกและได้รับความสนใจจากนักหมากล้อมมือต้นๆ ของโลกเข้าร่วมการแข่งขัน

การแข่งขันหมากล้อมจีนโลกจัดมาแล้ว 20 ครั้ง (จัดปีละ 1 ครั้ง) โดยจัดแข่งขันในประเทศต่างๆ ที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ อาทิ เมืองลี่เจียง มณฑลยูนนาน, เมืองหวงเคอซู มณฑลกุ้ยโจว, เมืองเทียนซาน มณฑลซินเจียง, เมืองซานเซีย มณฑลฉงชิ่ง, กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย, เมืองซีอาน มณฑลซานซี, เมืองเป่ยไต้เหอ มณฑลเหอเป่ย, เมืองอู่อี๋ซาน มณฑลฟู่เจี้ยน, เมืองซีนิง มณฑลชิงไห่, เมืองจี้หนาน มณฑลซานตง, เมืองเฟิ่งหวง มณฑลหูหนาน, เมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง, ไทเป ไต้หวัน, เมืองบอร์น ประเทศเยอรมนี และเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมกีฬาหมากล้อมทั่วโลก ทำให้ทุกครั้งที่จัดการแข่งขันประสบความสำเร็จ
ตัวแทนนักกีฬาหมากล้อมไทย ที่ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาหมากล้อมจีนโลกครั้งที่ 20 ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน
สำหรับการแข่งขันหมากล้อมจีนโลก เหยียนหวงเปย ครั้งที่ 20 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2561 ณ ที่ “วัดฝอกวงซาน” หรือ “มูลนิธิแสงพุทธธรรม” เมืองเกาสง ไต้หวัน สถานที่จัดงานเป็นวัดนิกายมหายานที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ซึ่งมีท่านซิงหวิน มหาเถระเป็นปฐมเจ้าอาวาส ได้มุ่งเน้นงานด้านการศึกษาและช่วยเหลือสังคม โดยมีอุดมคติอยู่ว่าให้การศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากร, เน้นวัฒนธรรมในงานเผยแพร่ธรรมะ, เน้นการสาธารณสุขในงานพัฒนาสังคม สำหรับการแข่งขันหมากล้อมครั้งนี้ มีนักกีฬาหมากล้อมชาวจีนโพ้นทะเลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันมากมาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน, แอฟริกาไต้, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และประเทศไทย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยมีตัวแทนนักกีฬาหมากล้อมเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ 7 คน ได้แก่ นายไพฑูรย์ ตระการศักดิกุล ระดับฝีมือ 3 ดั้ง, นายหยาง เผยเซิน ระดับฝีมือ 5 ดั้ง, นายสัจจา ชัยภิบาล ระดับฝีมือ 3 ดั้ง, นายวรัญญู รัตนะประเทศ ระดับฝีมือ 2 ดั้ง , นายกมล สันติพจนา ระดับฝีมือ 5 ดั้ง, นางสาวธัญญารัตน์ โรจน์มนัสชัย ระดับฝีมือ 3 ดั้ง, และมี มร.จินโป๋ สื่อ รับหน้าที่เป็นโค้ชผู้ควบคุมทีม การแข่งขันแบ่งเป็น 6 รอบ (6 กระดาน) แข่งขันแบบ Swiss System (จับคู่แบบสุ่มและเก็บสะสมคะแนนจาก 6 กระดาน) โดยผู้แข่งขันที่สามารถทำคะแนนสูงสุด 12 คนแรกจะได้รับถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร
นายก่อศักดิ์  ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะนายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยและประธานสมาพันธ์หมากล้อมจีนโลก
“หมากล้อมเป็นกีฬาที่สร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างผู้เล่น และผู้เล่นจะคิดเสมอว่าได้รับความรู้และการชี้แนะการเล่นหมากล้อมจากคู่แข่งขันไปพร้อมๆกัน หมากล้อมสอนให้เรายอมรับการพ่ายแพ้และการแพ้ก็สอนให้เรารู้จักพัฒนาตนเอง ช่วยฝึกฝนในด้านจิตใจได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันเยาวชนไทยหันมาเล่นหมากล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมีมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเปิดรับนักหมากล้อมเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีเพิ่มมากขึ้น” นายก่อศักดิ์ ประธานสมาพันธ์หมากล้อมจีนโลก เผย

“โกะ หรือหมากล้อม มีมาประมาณ 3,000 ปีแล้ว ถือเป็นวัฒนธรรมจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไป ไปทั่วโลก เพราะกลยุทธ์และแนวคิดในการเล่นสามารถนำมาปรับใช้ได้หลายศาสตร์ อย่างในแง่พุทธศาสนา ถูกมองว่าเป็นการฝึกจิต ทำให้ผู้เล่นมี EQ รู้จักการแบ่งปันให้กับผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เกมการฝึกเพื่อเอาชนะคนอื่นโดยสร้างความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้าม แต่หากแพ้ 1 กระเาน ก็ได้เรียนรู้เพิ่มอีก 1 กระเาน ไม่เหมือนการชนะที่ดีใจไม่นานก็หมดไป ซึ่งการแข่งขันครั้งล่าสุดนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลได้มาพบปะกัน” นายก่อศักดิ์กล่าว

ส่วนแผนการพัฒนาหมากล้อมในไทย นายก่อศักดิ์ ในฐานะนายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยและประธานสมาพันธ์หมากล้อมจีนโลก กล่าวว่า ขณะนี้เราต้องการพัฒนาครูผู้สอนมาล้อมอย่างจริงจังโดยที่ผ่านมามีการก่อตั้งชมรมครูขึ้นแล้วเป็นการสอนหมากล้อมเป็นอาชีพ

ด้านนางสาวธัญญารัตน์ โรจน์มนัสชัย หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันหมากล้อมจีนโลก ครั้งที่ 20 กล่าวว่า ในฐานะที่เธอเป็นนักธุรกิจและมีความสนใจในกีฬาหมากล้อมมานานกว่า 18 ปี ก็สามารถนำแนวคิดและกลยุทธ์ในการแข่งขันมาปรับใช้กับธุรกิจได้ เพราะตามหลักธุรกิจต้องมีเป้าหมาย มีความยืดหยุ่น ไม่จมปรักกับสิ่งเดิมๆ ซึ่งกีฬาหมากล้อมสามารถนำแนวคิดและกลยุทธ์ มาปรับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ไม่ให้หยุดนิ่งเพราะหากไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เลยจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น