คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
เพราะเคยมีคนกล่าวไว้ว่า ตัวเลขสถิติ ไม่โกหกใคร การจะให้ความเชื่อถือในสิ่งใด และคัดเลือกนำมาใช้งาน เขาจึงใช้วิธีดูที่ตัวเลขสถิติของสิ่งนั้นเป็น 1 ในหลักเกณฑ์ในการพิจารณา แต่บางครั้ง การกล่าวอ้างตัวเลขสถิติก็ไร้หลักฐานที่แน่นอน ถูกต้อง ชัดเจน หรืออาจมีอะไรเคลือบแฝงอยู่ พูดให้ชัดๆก็คือ หยิบจับมาอ้างอิงทั้งๆที่มันมั่วนั่นเอง
บางครั้งสถิติจอมปลอมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันเกิดจากหลากหลายเหตุผลและมีที่มาที่ไปต่างกัน การแข่งขันเตะลูกพล้าสติคนับคะแนนรวมแต่ละท่าในกีฬาระดับเอเชียเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ยังมีบันทึกเป็นสถิติ อันนั้นเหรียญทองสำหรับผู้ชนะถูกกำหนดไว้แล้ว ทำให้ต้องมีทีมที่ไปแข่งชั้นบนให้ลับหูลับตาผู้คนจะได้ใส่คะแนนตามใจชอบ
ฟุตบอลไทยเมื่อ 2-3 ฤดูกาลก่อน นักเตะรายหนึ่งทำประตูเป็นสิบราวกับดาวซัลโวระดับแถวหน้าคนหนึ่งทีเดียว แต่หารู้ไม่ว่า ประตูที่ทำได้นั้น เกือบทั้งหมดมาจากการสังหารลูกโทษที่จุดโทษที่ทีมของหมอนี่เมื่อเล่นเป็นทีมเหย้าก็มักจะได้รับการตัดสินจากผู้ตัดสินให้ได้ลูกโทษที่จุดโทษอย่างมีข้อสงสัยว่ารับงานกำหนดผลการแข่งขันเอื้อต่อทีมเจ้าบ้านเสมอ
รายเด้อร์ คัพ (2018 Ryder Cup) การแข่งขันก๊อล์ฟทีมชายระหว่าง ทีมสหรัฐ อเมริกา กับ ทีมยุโรป ครั้งที่ 42 ที่ เลอ ก๊อล์ฟ นาซิโอนัล (Le Golf National) ชานกรุงปารี ประเทศฝรั่งเศส ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น บางคนบอกว่าเป็นรายการกีฬาที่มีผู้ติดตามชมนับเป็นอันดับ 3 ของโลกเชียว รองจาก โอลิมปิค เกมส์ และ ฟุตบอลโลก
ผมได้เห็นจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ว่า อัฒจันทร์สำหรับแฟนๆก๊อล์ฟที่ต้องการเข้าชมในสนามนั้นมีขนาดใหญ่โตเหลือเกิน และมีผู้ชมล้นหลามซะด้วย ตามคำกล่าวอ้างบอกว่า มีผู้ชมทั้งสิ้นประมาณ 150,000 คน ซึ่งผมสงสัยว่าคงไม่ได้หมายถึงวันละ 50,000 คนนะครับ เพราะความจริงนอกจากการแข่งขันในวันที่ 28-30 กันยายน เขามีการขายตั๋วให้แฟนก๊อล์ฟเข้าชมการฝึกซ้อมในระหว่างวันที่ 25-27 กันยายนด้วย โดย 2 วันแรก คนละ 45 เออโร วันสุดท้าย กดไปแพงหน่อย 80 เออโร และในวันแข่งขันจริงขายแพงกว่านั้นหลายเท่า ดังนั้น สถิติผู้ชมก็คงเก็บรวบรวมมาจากทั้ง 6 วันรวมกัน
ในขณะที่ผู้ชมทางโทรทัศน์นั้น ตัวเลขที่ถูกนำมากล่าวอ้างคือ 1,000 ล้านคน ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถเทียบได้กับรายการกีฬายอดนิยมที่ติด 2 อันดับแรกของโลกได้อย่างสม่ำเสมอคือ โอลิมปิค เกมส์ และ ฟุตบอลโลก แต่ตัวเลขจำนวน 1,000 ล้านคนของ รายเด้อร์ คัพ นั้นก็น่าจะเว่อร์และอาจถูกนำไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่าง อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการแข่งขัน รายเด้อร์ คัพ หนนี้ออกมายืนยันตัวเลขผู้ชมทางโทรทัศน์เพียง 350 ล้านคนเท่านั้น
ผมมีตัวเลขสถิติที่ไปขุดมาจากองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะล้วนเป็นตัวเลขที่ผู้จัดการแข่งขันเป็นผู้อ้างทั้งสิ้น เริ่มด้วยรายการกีฬาที่มีแฟนกีฬาติดตามการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มากเป็นอันดับ 1 คือ โอลิมปิค เกมส์ หนล่าสุดที่ ริโอ เดอ จาไนโร ประเทศบราซิว มีผู้ชม 3,500 ล้านคน อันดับ 2 คือ เลอ ตูร เดอ ฟร้องส์ 2017 การแข่งขันจักรยานทางไกล มีผู้ชม 3,500 ล้านคน ถึงตรงนี้ ผมจะบอกว่า เขาแข่งกัน 24 วัน เล่นนำตัวเลขที่ประเมินมาคูณด้วย 24 มันจึงออกมาเว่อร์ขนาดนั้น ถ้าหารกลับไปจริงๆจะได้วันละ 145 ล้านวิวครับ หมายถึงคนจำนวนนี้เท่านั้นที่ติดตาม ไม่ใช่คนครึ่งโลกกำลังติดตาม อันดับ 3 รัสเซีย 2018 การแข่งขันฟุตบอลโลก หนล่าสุด มีผู้ชม 3,400 ล้านคน
กีฬาคริคเก็ต ก็อ้างว่ามีแฟนๆให้ความสนใจอย่างมโหฬารเช่นกัน แม้ว่าแฟนกีฬาชาวไทยแทบจะไม่เหลือบตาดูกันเลย ผู้จัดการแข่งขัน คริคเก็ต ชิงแช้มพ์โลก 2015 (ICC Cricket World Cup 2015) ที่ อ๊อสตราเลีย กับ นิว ซีแลนด์ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพนั้นบอกว่ามีผู้ชมทางโทรทัศน์ถึง 2,200 ล้านคน ตามมาเป็นอันดับที่ 4 ของสถิติ อย่าทึ่งและอย่าตกใจครับ เขาแข่งกันตั้งเดือนกว่า 14 กุมภาพันธ์ ถึง 29 มีนาคม เอาจำนวนวันมาหารจะเหลือผู้ชมนิดเดียว
อันดับ 5 เป็นการแข่งขัน รักบี้ ชิงแช้มพ์โลก (2015 Rugby World Cup) ที่ ประเทศอังกฤษ มีผู้ชมทางโทรทัศน์ถึง 1,000 ล้านคนนั้น รายเด้อร์ คัพ หนล่าสุดเป็นอันดับ 6 ด้วยสถิติผู้ชมทางโทรทัศน์ 350 ล้านคน เหนือกว่า ซุพเพ่อร์โบว์ล (Super Bowl 2015) ที่ตามมาเป็นอันดับ 7 มีผู้ชมทางโทรทัศน์เพียง 115 ล้านคน แต่ค่าโฆษณาต่อนาทีแพงสุดโหดที่สุดในโลกเลย