ดร.ธนากร ศรีชาพันธุ์ เตรียมนำศาสตร์ความรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมผู้ฝึกสอนนานาชาติ ที่สหรัฐอเมริกากลับมาพัฒนาวงการเทนนิสไทย พร้อมแนะนำศาสตร์ด้านจิตวิทยาการกีฬาจัดอบรมติวเข้มผู้ฝึกสอนและผู้ปกครอง หวังร่วมกันเติมเต็มศักยภาพให้นักหวดไทยยกระดับการพัฒนามากขึ้น
หลังจากที่ ดร.ธนากร ศรีชาพันธุ์ หรือ โค้ชเบิ้ม ผู้ฝึกสอนเทนนิสและอดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย ซึ่งเป็นพี่ชายของ “บอล” นายภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิส มือ 9 ของโลก ได้ผ่านการคัดเลือกจากกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือโอลิมปิค โซลิดาริตี้ และ สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ไอทีเอฟ) เข้าร่วมโครงการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนนานาชาติ ตามที่สมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศฯ เสนอไปยังคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ นั้น ล่าสุด ดร.ธนากร ได้เข้ารับการอบรมเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2560 -26 เมษายน 2561
เกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งเป็นหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เข้มข้นสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬา จัดอบรม 4 ช่วงเวลา ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และที่สำนักงานใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิคสากล เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ดร.ธนากร เปิดเผยว่า การเข้าร่วมอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนนานาชาติครั้งนี้ 3 ช่วงแรกในระยะเวลา 5 สัปดาห์ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีที่แล้วนั้น เป็นการเรียนรู้หลักสูตรการเป็นโค้ชกีฬาทุกประเภทอย่างเข้มข้ม โดยเฉพาะช่วง 3 สัปดาห์แรก ซึ่งได้เรียนรู้หลักการด้านต่างๆ ของการทำหน้าที่เป็นโค้ชกีฬาร่วมกับผู้ฝึกสอนชาติอื่นที่ได้รับการคัดเลือก
จากนั้นสัปดาห์ที่ 4 มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ USTA สมาคมกีฬาเทนนิสของสหรัฐฯ ที่ออร์แลนด์โด้ ได้เห็นสนามเทนนิสกว่า 100 คอร์ต และอาคารสำนักงานมากมาย เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเทนนิสของสหรัฐฯ ทำให้ได้เห็นการฝึกซ้อม และการทำงานในส่วนต่างๆ พอเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 มีโอกาสได้ดูงานที่ USOC สถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาโอลิมปิคของสหรัฐฯ ที่อยู่บนเทือกเขาสูงในโคโลราโด้ ได้เห็นกระบวนการเตรียมฝึกซ้อมนักกีฬา
“ผมได้ไปดูงานในสถานที่เตรียมนักกีฬาโอลิมปิคและนักกีฬาเทนนิสของสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างมีความพร้อมอย่างมาก โดยในช่วงที่เข้ารับการอบรมนี้เขาก็ได้มอบหมายให้เราเตรียมจัดทำโครงการที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อเป็นการต่อยอดจากการอบรมครั้งนี้ไปสร้างประโยชน์ให้กับวงการกีฬาเทนนิสของไทยด้วย” โค้ชเบิ้ม กล่าว
ดร.ธนากร กล่าวเพิ่มว่า สำหรับโครงการที่ตนได้นำเสนอไปคือ เรื่องความสำคัญของจิตวิทยาการกีฬาสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬาเทนนิส ซึ่งมีการทำเวิร์คช็อปร่วมกับสมาคมกีฬาเทนนิสฯ และ ผศ.ดร.นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร นักจิตวิทยาด้านการกีฬาจากมหาวิทยาลัยบูรพา และได้อบรมกับผู้ฝึกสอนกีฬาเทนนิสไทย 2 วัน เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการ ที่สำนักงานใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิคสากลด้วย
“โครงการนี้ทางคณะกรรมการมีความเห็นในเชิงบวก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำสิ่งที่ผมได้เข้าร่วมอบรมผู้ฝึกสอนนานาชาติครั้งนี้กลับไปทำประโยชน์ให้วงการเทนนิสไทยต่อไป โดยส่วนตัวผมถนัดด้านจิตวิทยากีฬาอยู่แล้วก็อยากจะนำเรื่องนี้ไปต่อยอดพัฒนาวงการกีฬาเทนนิสไทย ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีการอบรมด้านจิตวิทยาการกีฬาให้กับผู้ฝึกสอนกีฬาเทนนิสอยู่บ้าง แต่อาจจะไม่ต่อเนื่อง หลังจากนี้ผมจะพยายามร่วมกันจัดการอบรมต่อเนื่องในทุกปี” ดร.ธนากร กล่าว
ดร.ธนากร กล่าวอีกว่า ตนจะร่วมมือกับสมาคมกีฬาเทนนิสฯ เพื่อจัดอบรมด้านจิตวิทยาการกีฬาให้ผู้ฝึกสอนกีฬาเทนนิสไทย และผู้ปกครองของนักกีฬาด้วยที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์มาก โดยอาจจะกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างความตื่นตัวให้เห็นความสำคัญของด้านจิตวิทยากีฬาเทนนิส เนื่องจากในเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน และมีความสำคัญในการพัฒนานักกีฬาเทนนิสไทยไม่น้อยไปกว่า เรื่องสภาพร่างกาย และเทคนิคการเล่นอีกด้วย
“โค้ชเบิ้ม” กล่าวในช่วงท้ายว่า โครงการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนนานาชาติ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาวงการกีฬาอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาโครงการได้จัดต่อเนื่องมา 10 ปี ตนนั้นนับเป็นรุ่นที่ 10 แล้ว โดยถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผู้ฝึกสอนที่เข้าร่วมโครงการที่จะได้นำความรู้ และประสบการณ์กลับไปพัฒนาตัวเอง รวมทั้งพัฒนาวงการกีฬาของประเทศตัวเอง จึงอยากฝากถึงผู้ฝึกสอนกีฬาชาวไทยทุกชนิดกีฬาลองเข้าร่วมการคัดเลือกเข้าโครงการนี้
สำหรับ ดร.ธนากร ศรีชาพันธุ์ หรือ เบิ้ม เคยเป็นอดีตนักเทนนิสชายทีมชาติไทย และเป็นพี่ชายคนโตของครอบครัวศรีชาพันธุ์ โดยมีน้องชายคนกลางคือ นราธร ศรีชาพันธุ์ หรือ บิ๊ก และน้องชายคนเล็กคือ ภราดร ศรีชาพันธุ์ หรือ บอล ซึ่งเป็นอดีตนักเทนนิสชาย มืออันดับ 9 ของโลกขวัญใจชาวไทย ซึ่งหลังจากเลิกเล่นเทนนิสแล้ว ดร.ธนากร ยังได้ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนทีมเทนนิสชายทีมชาติไทยอีกด้วย
ปัจจุบัน ดร.ธนากร ศรีชาพันธุ์ เป็นประธานสาขาวิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540